จากข้อมูลโภชนาการที่ระบุว่า “ฟักข้าว” เป็นพืชที่มีศักยภาพสูงสำหรับการเป็นพืชเพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางสารอาหารและมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง โดยมีรายงานของต่างประเทศว่า ในเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าว มีปริมาณเบตาแคโรทีนมากกว่าแครอต 10 เท่า และมีสารไลโคพีนมากกว่ามะเขือเทศ 70 เท่า นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สารไลโคพีนจากเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งต่อลูกหมาก
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาฟักข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย กลับพบว่ามีปริมาณสารไลโคพีนมากกว่ามะเขือเทศเพียง 12 เท่า ด้วยเหตุนี้ ดร.พัชริน ส่งศรี อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ฟักข้าวให้มีปริมาณสารไลโคพีน และเบต้าแคโรทีนในเยื่อหุ้มเมล็ดสูง และมีผลผลิตของเยื่อหุ้มเมล็ดสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้วัตถุดิบที่จะนำมาแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพมีคุณภาพสูง เนื่องจากฟักข้าวมีคุณค่าทางสารอาหารและมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูงดังกล่าว
โดยโครงการนี้อยู่ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการ เกษตรที่ยั่งยืน มข. และโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยศาสตราจารย์ดีเด่น ศ.ดร.อารันต์ พัฒโนทัย รวมถึงการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ดร.พัชริน เปิดเผยว่า ดำเนินงานวิจัยนี้มาแล้วกว่า 3 ปี เบื้องต้นได้คัดเลือกต้นพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีความแตกต่างกันของแหล่งที่มาสาย พันธุ์ฟักข้าวทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 100 สายพันธุ์ เพื่อสร้างลูกผสม เพื่อดูความแตกต่างทั้งทางสายพันธุ์และพื้นที่ปลูกว่าสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์แล้วจะมีปริมาณสารไลโคพีนและเบตาแคโรทีน รวมทั้งมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้คาดว่าภายในอีก 2 ปี จะได้สายพันธุ์ฟักข้าวใหม่ตามที่ตั้งเป้าไว้
“เมื่อเสร็จงานวิจัยนี้แล้วจะได้พันธุ์ฟักข้าวที่มีผลผลิตและสารไลโคพีนและ เบตาแคโรทีนสูง รวมทั้งจะทำให้ทราบข้อมูลด้านการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่ต่างกันต่อปริมาณ สารไลโคพีนและเบตาแคโรทีน รวมทั้งข้อมูลด้านพันธุกรรมการถ่ายทอด อันจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาฟักข้าวพันธุ์ดีสำหรับแนะ นำเกษตรกรต่อไป” ดร.พัชรินกล่าว
ดร.พัชรินกล่าวว่า การพัฒนาพันธุ์ฟักข้าวครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการผลิตวัตถุดิบคุณภาพสูงให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปฟักข้าว เนื่องจากความคงที่ของปริมาณสารสำคัญที่ควบคุมด้วยพันธุกรรมพืชนั้น จะทำให้การผลิตในปริมาณมากระดับอุตสาหกรรมมีความสม่ำเสมอในการผลิต และแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้ด้วย นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังได้ดำเนินการวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับนักวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ เทคโนโลยีอาหารและวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ในฟักข้าวอีกด้วย โดยเบื้องต้นนำไปแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างง่าย อาทิ วุ้น น้ำผลไม้รวม ฯลฯ
ทั้งนี้ ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟักข้าว สอบถามรายละเอียดได้ที่ ดร.พัชริน ส่งศรี อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.0-4320-3055, 0-4336-4637, 08-1544-1325 หรืออี-เมล์ : patcharinso@kku.ac.th
ที่มา: ข่าวสด วันที่ 31 ตุลาคม 2554 http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObFpIVXdOVE14TVRBMU5BPT0=
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”