เครื่องดื่มจากดอกดาหลาหรือน้ำดอกดาหลา ที่ทำจากดอกไม้ท้องถิ่นในอ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมการเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) ร่วมมือกับเทศบาลตำบลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ทำการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมา ตั้งแต่ปี 2550
อย่างไรก็ตาม มบส.ได้นำเครื่องดื่มดาหลามาวิจัยต่อยอดในปี 2552 เนื่องจากพบปัญหาของการขยายตลาดเครื่องดื่มน้ำดอกดาหลาสำหรับผู้ประกอบการซึ่งเป็นรายเล็ก เนื่องจากผู้บริโภคและผู้ที่สนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายให้ความสนใจในเรื่องของมาตรฐานคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยในการบริโภค ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กส่วนใหญ่ไม่มีศักยภาพและทุนเพียงพอต่อการพัฒนาธุรกิจ
ด้วยเหตุนี้ น.ส.กัญญา อินสอน นักศึกษาปริญญาโท สาขาการจัดการอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และน.ส.อาภา วรรณฉวี อาจารย์สาขาวิชาบริหารธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มบส. ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย ได้ทำงานวิจัยเรื่องการพัฒนาคุณภาพเครื่องดื่มน้ำดอกดาหลา สำหรับผู้ประกอบการตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ร่วมกับนางสำเนียง ดีสวาสดิ์ ผู้ประกอบการเครื่องดื่มน้ำดอกไม้อัมพวาตราสำเนียง ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ร.ท.พัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม และนายพีรวงศ์ จาตุรงคกุล ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม
โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยในโครงการ ABC-PUS/MAG จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพเครื่องดื่มน้ำดอกดาหลาสำหรับ ผู้ประกอบการรายเล็กในตลาดน้ำอัมพวา และเป็นการพัฒนาวิธีการประเมินการผลิตและสถานที่ผลิตเครื่องดื่มสำหรับผู้ ประกอบการรายเล็ก
น.ส.กัญญา เปิดเผยว่า การวิจัยครั้งนี้เน้นการประเมินและปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาคุณภาพ เครื่องดื่มน้ำดอกดาหลาและการพัฒนาสถานที่ผลิตของผู้ประกอบการให้มีการจัดการผลิตเป็นไปตามระบบสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร (GHP) และหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) เพื่อรองรับการขอ อย. ในอนาคต ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า ปัญหาจากกระบวนการผลิตแบบเดิมของผู้ประกอบการคือ รสชาติเครื่องดื่มไม่คงที่ มีโอกาสเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในระหว่างการผลิต ดังนั้น คณะผู้วิจัยได้ร่วม “พัฒนากระบวนการผลิตเครื่องดื่ม” จากดอกดาหลาขึ้นมาใหม่ โดยให้มีการชั่ง/ตวงและตรวจสอบวัตถุดิบก่อนใช้ ควบคุมอุณหภูมิการผลิต และปรับการจัดวางอุปกรณ์ให้ถูกต้อง และให้ผู้ประกอบการทดลองใช้กระบวนการใหม่ ผลที่ได้คือผลิตภัณฑ์น้ำดอกดาหลาที่ผลิตจากการใช้กระบวนการผลิตใหม่ มีผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพด้านจุลินทรีย์ที่ปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์
นอกจากนั้น เมื่อใช้ “แบบบันทึกการประเมินสถานที่ผลิต” เครื่องดื่มบรรจุขวดปิดสนิท (ขนาดเล็ก) ซึ่งคณะผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถประเมินสถานที่ผลิตได้ด้วยตนเองตามหลัก เกณฑ์ GMP พบว่า ผู้ประกอบการมีความสามารถในการประเมินสถานที่ผลิตเครื่องดื่มได้ด้วยตนเอง และกำลังดำเนินการพัฒนาสถานที่ผลิตของตนให้มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร
ซึ่งคณะผู้วิจัยจะได้เผยแพร่การใช้แบบบันทึกการประเมินสถานที่ผลิต และรูปแบบการพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องดื่มบรรจุขวดปิดสนิท (ขนาดเล็ก) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่ทำธุรกิจเครื่องดื่มทั่วไปให้สามารถนำนวัตกรรมและองค์ความรู้จากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ต่อไป
ที่มา: ข่าวสด 22 ก.ค. 2553