มหา’ลัยสโลว์ฟูด

นักศึกษาจากทั่วโลกกำลังแห่ไปเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่อุทิศตัวให้กับการสอนเกี่ยวกับอาหารแบบ “สโลว์ฟูด” ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน

เพื่อส่งเสริมอาหาร “ที่ดี สะอาด และราคายุติธรรม” ทั้งยังมุ่งต้านทานกระแสฟาสต์ฟูดและฟาสต์ไลฟ์ หรืออาหารจานด่วนและชีวิตแบบเร่งด่วน รวมถึงการขาดหายไปของอาหารดั้งเดิมในท้องถิ่น และการที่ผู้คนมีความสนใจน้อยลงกับอาหารที่ตัวเองรับประทาน รวมถึงความตระหนักว่าอาหารมาจากไหน รสชาติเป็นอย่างไร และการเลือกรับประทานอาหารนั้นมีผลกระทบต่อส่วนอื่นของโลกอย่างไร

มหาวิทยาลัย “ศาสตร์แห่งการรับประทานที่ดี” หรือ  ยูเอ็นไอเอสซี (The Gastronomic Science University) ตั้งอยู่ใจกลางแคว้น Langhe ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไวน์ ทั้งยังอยู่ใกล้เมืองอัลบา ซึ่งเป็นนครหลวงแห่งเห็ดขาว มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 หรือ 6 ปีที่แล้ว อาคารสำหรับการเรียนการสอนมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และเคยเป็นปราสาทของเฮาส์ออฟซาวอย หรือชุมชนที่เติบโตขึ้นพร้อมคอมมูนอิสระอื่นๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งได้ปกครองอาณาจักรอิตาลีสมัยโบราณ

ผู้มาเยือนสถาบันการศึกษาแห่งนี้อาจประหลาดใจที่ไม่เห็นหม้อไหหรือกระทะในห้องเรียน

“มหาวิทยาลัยแห่งนี้ถือกำเนิดจากแนวคิดของคาร์โล เปตรินี (ผู้ให้กำเนิดสโลว์ฟูด) ที่มองว่าการรับประทานอาหารที่ดีเป็นเหมือนศาสตร์ และมีส่วนผสมของวัฒนธรรม รวมถึงความเป็นมนุษย์ โดยมีความเข้าใจคุณค่าของอาหารในทุกๆ ขั้นตอน” วอลเตอร์ คันติโน ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย เผยความเป็นมา

นักศึกษาที่เข้าเรียนสถาบันแห่งนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายที่การจบออกไปเป็นเชฟ แต่มุ่งเป็นผู้ที่พิถีพิถันกับการรับประทาน ซึ่งนับเป็นอาชีพใหม่ที่สามารถทำงานได้ในหลากหลายสาขา ในทุกขั้นตอนของการแปรรูปคุณภาพอาหาร ตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย การส่งเสริมการขาย และการสื่อสาร

หลักสูตรการเรียนการสอนเน้นหนักที่ต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์ และการสนับสนุนให้ทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น อย่างวิชาปฐพีศาสตร์ การปลูกไวน์ ชีววิทยา การวิเคราะห์อาหารด้วยประสาทสัมผัส ประวัติของการประกอบอาหารและการทำไวน์ มานุษยวิทยา และการตลาด

นักศึกษาจะมีโอกาสได้ไปทำฟิลด์ทริปหรือการออกนอกสถานที่เพื่อสัมผัสบรรยากาศจริง ปีละ 5 ครั้ง โดยอาจเป็นฟิลด์ทริปในอิตาลีหรือต่างประเทศก็ได้

เลน สตีลแมน จากรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นหนึ่งในนักศึกษาของมหาวิทยาลัย สตีลแมนเรียนรู้คุณค่าของสโลว์ฟูดตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น ในช่วงที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเชฟคนดัง อลิซ วอเตอร์ส ซึ่งหลังจากนั้น สตีลแมนก็กลายเป็นหนึ่งในผู้ชื่นชอบสโลว์ฟูด พร้อมๆ กับที่สมาชิกสโลว์ฟูดเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100,000 คนใน 132 ประเทศนับจากเปตรินีริเริ่มกระแสนี้เมื่อปี 2529

“วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ทุกคนทราบว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหารและให้ความสำคัญมากขึ้นกับเศรษฐกิจในท้องถิ่น แทนที่จะมุ่งแต่นำเข้าสินค้าจากทั่วโลก” สตีลแมน ในวัย 26 ปี ให้ความเห็น

หลังสำเร็จการศึกษา สตีลแมนต้องการจะตั้งองค์กรไม่หวังผลกำไรเพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกแบบออร์แกนิกในรัฐเคนตั๊กกี้ อันเป็นรัฐที่ยังไม่ค่อยตอบสนองแนวคิดสโลว์ฟูดเหมือนรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของสตีลแมน

ทุนเรียนฟรี ก็มี(มาก)

ค่าเล่าเรียนในสถาบันศาตร์แห่งการรับประทานที่ดีอยู่ที่ 13,500 ยูโรต่อปี หรือประมาณ 520,000 บาท สำหรับปริญญาตรีที่ใช้เวลาศึกษา 3 ปี และ 21,000 ยูโร หรือประมาณ 810,000 บาทสำหรับปริญญาโทที่ใช้เวลาเรียน 1 ปี นอกจากนั้นยังมีทุนการศึกษาให้ด้วย โดยประมาณ 1 ใน 3 ของนักศึกษาในสถาบันแห่งนี้ เรียนด้วยการขอทุนการศึกษา

นักศึกษาที่เข้าเรียนที่นี่ชอบแนวทางของสถาบันศาสตร์แห่งการรับประทานที่ดี อย่างรายของกิลล์เมตเต บาร์โธวี วัย 21 ที่เล่าว่าเรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์จากฝรั่งเศสและสนใจศึกษาต่อด้านฟิสิกส์ กับเคมี แต่เธอมองว่าระบบการศึกษาทั่วไปไม่เหมาะกับเธอ ซึ่งต้องการทำความเข้าใจกับอาหาร มากกว่าเรียนทำอาหาร

บาร์โธวี ซึ่งบิดามารดาทำตับห่านและแซลมอนรมควันทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสและ เป็นสมาชิกสโลว์ฟูดด้วย กล่าวว่าเธอมีแผนศึกษาต่อหลังสำเร็จการศึกษาจากยูเอ็นไอเอสซี และไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการเข้ารับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว

นอกจากการศึกษาภาคปกติแล้ว สถาบันแห่งนี้ยังเปิดคอร์สออนไลน์ภาคฤดูร้อน เน้นการเรียนการสอนด้านความยั่งยืนและนโยบายด้านอาหาร รวมถึงมีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาให้ความรู้แก่นักศึกษาในวิชาต่างๆ เช่น ระบบสังคมและการเปลี่ยนแปลง พลังงานและการผลิตอย่างเป็นระบบ ความหลากหลายทางชีววิทยาและระบบนิเวศน์วิทยา สินค้า-ทรัพยากรร่วมกันและการแลกเปลี่ยน กฎหมาย-สิทธิและนโยบาย การศึกษาอย่างยั่งยืน ความรู้ดั้งเดิม-เพศและคุณค่าที่ไม่ใช่วัตถุ ความรื่นเริงและความเป็นอยู่ที่ดี

ในเวบไซต์ของสโลว์ฟูดได้มีการยกตัวอย่างตลาดสำหรับเกษตรกรในกรุงริกาของลัตเวีย พร้อมระบุว่าในไม่ช้าตลาดแห่งนี้จะกลายเป็นตลาดของโลก แบบเดียวกับเครือข่ายตลาดอื่นที่ดำเนินการตามปรัชญาของสโลว์ฟูด ซึ่งมีหลักการที่รับประกันถึงอาหารที่ดี สะอาด และราคายุติธรรม ทั้งยังสนับสนุนสายการผลิตที่สั้น

ตลาดเบอร์กาตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีผู้ไปตั้งร้านกว่า 50 ราย สินค้าที่ผู้ผลิตรายย่อยรวมถึงชุมชนผลิตอาหารเทอร์รามาเดร นำมาขายนั้น ล้วนมีคุณภาพและขายโดยตรงให้ชาวเมืองในราคายุติธรรม พร้อมรับรองว่าใช้วิธีการผลิตที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

(หมายเหตุ : เรียบเรียงจากสำนักข่าวเอเอฟพีและเวบไซต์ slowfood.com)

ที่มา: สุดา มั่งมีดี Life Style : Life กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 มิถุนายน 2553

Relate Post