ขึ้นต้นชื่อเรื่องว่ามะกรูดหลังบ้านทำอะไรได้มากกว่าที่คิด ใครที่อ่านผ่านแค่นี้คงเถียงว่าบ้านฉันปลูกหน้าบ้าน หรือไม่ก็ปลูกข้างบ้าน เอาเป็นว่าจะปลูกบริเวณไหนของบ้าน ทุกท่านก็สามารถอ่านแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนกันทั้งนั้นนะคะ
มะกรูดนั้นจัดเป็นไม้มงคลในตำราปลูกไม้ตามทิศ ให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ) เพื่อเสริมมงคลให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านมีความสุข ทุกวันนี้เรารู้จักการใช้ประโยชน์จากมะกรูดน้อยมาก และมักใช้แต่ใบในเครื่องต้มยำ ทำเครื่องแกง หรือรู้ว่ามีประโยชน์ขจัดรังแค แต่เป็นรูปแบบแชมพูที่บรรจุขวดขายตามท้องตลาด แต่จะรู้จักประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริงที่มากกว่านี้น้อยมาก?
มะกรูดเป็นยาที่เด่นในเรื่องการฟอกเลือดสตรี และในเรื่องการขับลมและบำรุงหัวใจ หลายคนคงรู้จักและเคยใช้ยาดองน้ำมะกรูดที่ช่วงหนึ่งกระแสดังมาก แต่พักหลังๆ ก็ซบเซาไปเยอะ มะกรูดมีรสเปรี้ยว สรรพคุณของรสเปรี้ยวนั้นช่วยกัดฟอก ยาดองน้ำมะกรูดมีสรรพคุณกัดฟอกโลหิตและเสมหะได้ดี วิธีทำยาดองน้ำมะกรูด ทำง่ายๆ โดยเอามะกรูดลูกสดๆ ผ่าครึ่ง ดองกับเกลือนานสักเดือน แล้วรินเอาแต่น้ำยารับประทาน บ้างก็ดองกับน้ำผึ้ง
หมอบางท่านก็จัดเป็นตำรับดองกับยาหลายตัวเพื่อเสริมรสยาและแต่งกลิ่น ช่วยฟอกเลือดและบำรุงเลือด หรือใช้ขับประจำเดือนสำหรับผู้หญิงที่มากะปริดกะปรอย เอาผลมะกรูดผ่าครึ่งต้มกับน้ำใช้ดื่มสัก 5-6 วัน ช่วยขับประจำเดือนเลือดเน่าเสียที่ค้างได้เป็นอย่างดี และบำรุงร่างกายด้วย
ใช้ขับลม ให้เอามะกรูดสดฝานเอาแต่เปลือกไปบดให้ละเอียด หรือไม่ก็ปั่นให้ละเอียด ชงกับน้ำร้อนคนให้ตัวยาละลาย เหมาะกับผู้สูงอายุที่มักลมจับบ่อยๆ ขับลมและแก๊สได้ดี หรือชงแล้วเติมการบูรเล็กน้อยช่วยแก้ลมวิงเวียน
โบราณเขาเอาผลสดมาคว้านไส้ออกแล้วเอามหาหิงคุ์ใส่ลงไป นำไปเผาไฟแล้วบดเป็นผงละเอียด ใช้ชงกับน้ำผึ้งรับประทาน ช่วยขับลม แก้ปวดท้อง หรือเอาป้ายลิ้นเด็กเกิดใหม่จะช่วยขับขี้เทาได้ดีขึ้น และมีความเชื่อว่าจะช่วยให้เด็กไม่เจ็บไม่ป่วย มีความต้านทานโรคได้ดี อาจเรียกได้ว่าเป็นยาเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับเด็ก
นอกจากนี้ ยังนิยมนำมาทำยาดมแก้ลมวิงเวียน เข้ายากับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อเสริมการขับลมและบำรุงหัวใจ อย่างเช่นยาดมส้มมือ เอาผิวมะกรูดตากแห้งบดละเอียดผสมกับเปลือกส้มโอมือ นึ่งแล้วนำไปตากแห้งบดละเอียด และยาหอมที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปที่เราชอบ ยาหอมบำรุงหัวใจ เอาผ้าห่อเป็นลูกเล็กใหญ่ตามชอบ ชุบพิมเสนน้ำ เก็บใส่ตลับยาหรือขวดแก้วเล็กๆ ไว้ใช้ ถ้าจะเป็นลมทนไม่ไหวแล้วหายาดมก็ไม่เจอ คว้าเอาลูกมะกรูดสดๆ นี่แหละขูดผิวเปลือกเบาๆ ให้น้ำมันหอมระเหยออก ใช้ดมแก้ลมวิงเวียนได้ทันใจ
ประโยชน์ของมะกรูดที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การนำมาใช้สระผม เพราะใช้กันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว โดยเอาลูกมะกรูดสดเผาไฟให้นิ่ม คั้นเอาแต่น้ำใช้สระผม สรรพคุณขจัดรังแค รักษาชันตุ ช่วยทำให้ผมนุ่มลื่น หวีง่าย สำหรับใครที่ผ่านการดัด ย้อม โกรกผมจนผมเสีย สามารถใช้น้ำมะกรูดล้างสารเคมีที่สะสมในเส้นผมให้สะอาดขึ้น ค่อยๆ ช่วยฟื้นฟูสภาพเส้นผมได้ ปัจจุบันร้านสปาบางแห่งเขาเรียกลูกค้าด้วยการใช้สมุนไพรสดๆ ทำให้เห็นกรรมวิธีการเตรียมสมุนไพรที่นำมาใช้ เช่น ใช้มะกรูดเผาไฟสระผม น้ำวุ้นว่านหางจระเข้บำรุงเส้นผม ขมิ้นและมะขามเปียกคั้นพอกขัดผิว ระหว่างนั้นก็ได้กลิ่นสมุนไพรหอมๆ ไปด้วย ก็นับเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของการให้บริการ หรือนำใบและลูกมะกรูดไปต้มอาบจะช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น แต่ถ้าจะใช้แก้ปัญหาผมร่วง ทำให้ผมขึ้นไวและดกดำ ให้ใช้น้ำคั้นจากมะกรูด (จะใช้สดหรือเผาไฟให้นิ่มก่อนก็ได้) ผสมกับหัวกะทิ คนให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้นาน 15 นาที อาทิตย์ละครั้ง สัก 2-3 ครั้งจะเริ่มเห็นผล
ในตำรายาไทยยังใช้ส่วนอื่นของมะกรูดมาปรุงยารักษาโรคด้วย อาทิ? ผิวลูกมะกรูด มีรสหอมร้อน ขับลมในลำไส้ ขับระดู ขับผายลม น้ำมะกรูดรสเปรี้ยว แก้ศอเสมหะ ฟอกโลหิตระดู ราก รสเย็นจืด ใช้แก้พิษภายใน แก้เสมหะเป็นโทษ แก้ลมจุกเสียด กระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษสำแดง ใบ มีรสหอมปร่า แก้ไอ ขับลม แก้ช้ำใน และดับกลิ่นคาว สำหรับน้ำมันหอมระเหยมะกรูดก็มีการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งวงการยา เครื่องสำอาง? นอกจากนี้งานวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มศว พบว่าน้ำมันหอมระเหยของใบและผลมะกรูดช่วยขับไล่แมลงและหนอนศัตรูพืชได้อย่างดี ในอนาคตจะมีการพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในวงการเกษตรเพื่อส่งเสริมเกษตรปลอดสารเคมีให้ขยายตัวมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ด้านภูมิปัญญา ใช้ใบมะกรูดใส่ในถังข้าวสารช่วยป้องกันข้าวสารเป็นมอด และทำให้ข้าวสารมีกลิ่นหอมด้วย และยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้านในสมัยก่อนที่ต้องเดินทางเทียมเกวียน เส้นทางมักเป็นป่า สัตว์ที่เทียมเกวียนก็เป็นวัวหรือควาย เมื่อได้กลิ่นสาบเสือจะหยุดไม่ยอมเดินต่อ เจ้าของจึงต้องใช้มะกรูดหรือมะนาวขูดเอาน้ำมันหอมระเหยให้ดมกลบกลิ่นสาบเสือก่อน วัวหรือควายจึงจะเดินต่อได้
มะกรูดไม่ได้มีประโยชน์หรือใช้ประโยชน์แค่ใบเท่านั้น มีความรู้เกี่ยวกับมะกรูดแล้วลองดูสิว่า คุณจะใช้มะกรูดทั้งต้นให้ได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
ที่มา : แทบลอยด์ ไทยโพสต์ สาระน่ารู้ 26 เมษายน 2552