ยาแก้น้ำกัดเท้าบัวบกผลชะงัด

“วิทยา” แนะประชาชนใช้สมุนไพรช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้านอธิบดีแพทย์แผนไทยระบุผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลน้ำกัดเท้าให้ดื่มน้ำใบบัวบกคั้นแทนน้ำวันละ 4-5 แก้วควบคู่ด้วย จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ น้ำเริ่มเน่าเหม็นมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่มาของโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 1 ในทุกจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งจะเกิดแผลเปื่อยได้ง่าย ทราบว่ามีสมุนไพรหลายชนิดในครัวเรือนที่อาจนำมาใช้ในการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นได้ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรช่วงน้ำท่วม เพื่อดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นได้ตามแบบวิถีชีวิตไทย

ทางด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า โรคน้ำกัดเท้าในระยะแรกนั้นยังไม่มีการติดเชื้อรา ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคือง คัน และแสบบริเวณง่ามนิ้ว จึงควรใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ เช่น ขมิ้นชัน ไพล ใบพญายอ หรือใบว่านมหากาฬ นำมาล้างให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียด นำมาพอกบริเวณที่เป็นแผลเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว สมุนไพรที่นิยมใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้ามักเป็นสมุนไพรที่มีรสฝาด เนื่องจากมีสารแทนนินมาก มีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลน้ำกัดเท้าได้ เช่น เปลือกมังคุดแห้ง นำมาฝนกับน้ำหรือน้ำปูนใสให้ข้นพอควร นำมาทาแผลน้ำกัดเท้าวันละ 2-3 ครั้ง หรือง่ายๆ ใช้สารส้มสะตุที่ได้จากการนำสารส้มไปตั้งไฟให้ร้อนจนกลายเป็นผงขาวฟู แล้วทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง โดยอาจใช้เดี่ยวๆ หรือผสมกับดินสอพองสะตุครึ่งต่อครึ่งก่อนทา

นายแพทย์สุพรรณกล่าวว่า กรณีที่เกิดการติดเชื้อราที่ง่ามเท้า แนะนำให้ใช้สมุนไพรในท้องถิ่นที่มีสรรพคุณต้านเชื้อรา เช่น ใบต้นเทียนบ้าน ใบชุมเห็ดเทศ ใบทองพันชั่ง ข่า ใช้ประมาณ 1 กำมือ นำมาตำแล้วพอกหรือทาบริเวณที่เป็นวันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน หรืออาจใช้กระเทียม ซึ่งมีฤทธิ์ดีมากในการฆ่าเชื้อรา แต่มีข้อเสียคือมีกลิ่นแรง ในการรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรานั้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยสมุนไพรหรือยาแผนปัจจุบันก็ตาม แม้ว่าอาการจะดีขึ้นจนเหมือนหายดีแล้ว แต่แผลจะยังมีเชื้อราอยู่ จึงต้องทาหรือพอกยาจากสมุนไพรนั้นต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อประสิทธิผลที่ดีขึ้นในการกำจัดเชื้อราให้หมดไป ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก และต้องระวังอย่าให้เท้าอับชื้น หรือโดนน้ำสกปรกอีกในระหว่างการรักษา

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระวังไม่ให้เป็นแผลที่เท้า เพราะรักษาให้หายได้ยาก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้สมุนไพรข้างต้นรักษาโรคน้ำกัดเท้า หรืออาจใช้ขมิ้นชันผง หรือขมิ้นชันแคปซูลโรยที่แผลก็ได้ เพื่อเร่งการหายของแผล และขอแนะนำให้ดื่มน้ำใบบัวบกคั้นร่วมด้วย ดื่มต่างน้ำวันละ 4-5 แก้ว จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยงานวิจัยของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า เมื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้ารับประทานสารสกัดบัวบกจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น เพราะสารสำคัญในใบบัวบกถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด สะดวกในการใช้มากกว่าการตำพอก และลดความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคเข้าแผลหากล้างไม่สะอาด แต่ถ้ามีครีมบัวบกที่เป็นยาใช้ภายนอกตามบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งเตรียมอย่างสะอาดมาแล้ว จะใช้ครีมบัวบกทาแผลร่วมด้วยก็ได้

ที่มา: ไทยโพสต์ วันที่ 21 ตุลาคม 2554 http://www.thaipost.net/node/46894

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post