วันนี้ไม่มีใครบ่นเรื่องยักษ์ค้าปลีกทำลายโชห่วยให้ได้ยินแล้ว
แต่ละฝ่ายปรับกลยุทธ์ ลดแรงต้านกันหมด เซเว่นอีเลฟเว่นก็เปิดอบรมโชห่วยเพื่อปั้นให้เป็นเถ้าแก่มืออาชีพสัญจรไปทั่วประเทศ
ขณะที่ฮีโร่ที่เคยประกาศจะร่วมต่อสู้กับโชห่วยอย่างแข็งขันก็เปลี่ยนไป ปลุกระดมเรื่องอื่น ๆ เฉไฉไปเรื่อย เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครเป็นที่พึ่งของใครได้
หากจะเอาตัวรอดก็ต้องต่อสู้ด้วยตนเองเท่านั้นจึงอยู่รอด การไปหวังลม ๆ แล้ง ๆ จากพวกฮีโร่ขี่ม้าแกลบ ดูจะเป็นแค่นิทาน
เซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) แฟรนไชส์ของร้านสะดวกซื้อ ที่จำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ซึ่งเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2532 วันนี้มีสาขามากกว่า 5,300 แห่งทั่วประเทศ กล่าวกันว่า ประเทศไทยมีจำนวนสาขา 7-Eleven ติดอันดับโลก เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น
แต่ผมเคยไปเดินตลาดใน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เมื่อปีที่แล้วยังไม่มีเซเว่นอีเลฟเว่น ก็แปลกไปอีกแบบ อาจเป็นเพราะระบบขนส่ง ต้นทุนสูงเกินไป
ไม่นับซีพี เฟรชมาร์ท ร้านค้าปลีก จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสด อาหารปรุงสุก และอาหารพร้อมรับประทานภายใต้เครื่องหมายการค้า CP ที่เปิดร้านแทบทุกหน้าซอยในอีกไม่นาน
วันไหนอยากกินหัวปลาแซลมอนต้มซีอิ๊วสูตรกุ๊กญี่ปุ่น ก็แวะซื้อที่หน้าซอย ไม่ต้องเข้าร้านอาหารญี่ปุ่น
แต่ปรากฏการณ์ที่ผมสนใจและเฝ้าดูมาหลายเดือนแล้ว ได้แก่ รถตู้กับข้าว ที่วิ่งเข้ามาในซอยหมู่บ้าน ในช่วงสาย บ่าย เที่ยง และเย็น ครบทุกมื้อ
ผมสังเกตรถปิกอัพ ทั้งวีโก้และดีแมคซ์ ที่ถูกดัดแปลงกระบะเป็นตลาดสด ไม่น่าเชื่อว่ารถกระบะบางคัน มีสินค้าให้เลือกนับร้อยรายการ ไม่แพ้เฟรชมาร์ท อาหารแห้ง อาหารสด กะปิ น้ำปลา กระเทียม เครื่องปรุงรสทั้งไทย จีน ลาว และฝรั่ง บางคันผมทึ่งมาก เพราะมีสินค้ากว่าพันรายการ
ส่วนใหญ่สามีจะเป็นคนขับรถ (ถอยหลังเข้าซอย) พร้อมใช้โทรโข่ง เรียกคนในบ้านให้ออกมาเลือกซื้อสินค้าที่นำมาขายถึงหน้าบ้าน
ส่วนเมียที่อยู่ท้ายรถก็คือ แม่ค้าที่คล่องแคล่ว ที่คอยชั่งน้ำหนัก คอยรับเงินและทอนเงิน
เสน่ห์อย่างหนึ่งของรถตู้กับข้าว คือ ความเป็นกันเอง ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เรียกว่าแม่ค้ารู้พฤติกรรมของคุณนายแต่ละบ้านเป็นอย่างดี
แม่บ้านแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็เลือกมาก ชอบคุยโอ่ บางคนต้องการสินค้าคุณภาพดี ไม่เกี่ยงราคาแพง แต่บางคนก็จะเอาของดีแถมราคาถูก
แม่ค้าของรถตู้กับข้าว ชวนสนทนาในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบ้านการเมือง ละครเมื่อคืนนี้ หรือดินฟ้าอากาศ หรือเรื่องลูก ๆ ของเธอ
วงสนทนามีตั้งแต่เรื่องฟิล์มกับแอนนี่ จนถึงเรื่องวนิดา หรือนักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว หรือจะเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ก็มีให้ได้ยิน
แม่ค้าแทบจะจำรายการและออร์เดอร์ของแต่ละบ้านได้แม่นยำ ถ้าเที่ยวนี้ไม่มี พรุ่งนี้เธอจะหามาตอบสนองลูกค้า นี่คือ เซอร์วิสไมนด์ที่ดีเยี่ยม
หรือถ้าผลไม้ที่แม่ค้าโฆษณาว่าหวาน อร่อย รสชาติดี แต่เมื่อแม่บ้านฟ้องว่าผลไม้มีคุณภาพห่วย ไม่เหมือนที่โฆษณา แม่ค้าที่ผมเห็นใจถึงขนาดเอาของใหม่ไปแก้ตัว
เมื่อรถตู้กับข้าวจอด แม่บ้านจะออกมาชุมนุม ระหว่างเลือกซื้อสินค้า วงสนทนาย่อย ๆ ก็เกิดขึ้น เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่มาจากทั้งแดงและเหลือง
แต่ผมสังเกตว่า รถตู้กับข้าวส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นรถทะเบียนอีสาน ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ยโสธร
ถ้ารถตู้กับข้าวคันไหนไม่ถูกจริตคุณนายบ้านใหญ่ คุณนายก็มักจะรอรถตู้กับข้าวคันถัดไปเข้ามา เรียกว่า เลือกซื้อให้ถูกจริต ไม่พอใจก็ไม่ต้องซื้อ
รถตู้กับข้าวเป็นสิ่งที่คุณนายชอบ เพราะไม่ต้องออกไปจ่ายในห้างใหญ่ ไม่ต้องแต่งตัว จูงหมาออกมาซื้อก็ได้ รถตู้กับข้าวทำให้ไม่ต้องตุนอาหารไว้ในตู้เย็น
รถตู้กับข้าว คือ กลยุทธ์การแข่งขันของนักสู้พันธุ์ข้าวเหนียวอย่างแท้จริง
ที่มา: ขุนสำราญภักดี คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ ประชาชาติธุรกิจ 30-09-53