ระบบอาหารที่ดีต้องสร้างเอง (ภาคคนปลูก)

เมื่อเร็วๆ นี้มีการตีพิมพ์บทความในประชาไทออนไลน์ ในหัวข้อ “เกษตรอินทรีย์ กับระบบอาหารโลก”  โดยเนตรดาว เถาถวิล

บทความตั้งคำถามถึงแนวคิด แนวทางและกระบวนวิธีทำงานของเครือข่ายที่ทำงานเกษตรยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหาร ว่าคิดวิเคราะห์กันใหญ่ๆ โตๆ แต่พอลงมือทำก็ทำจุ๊กๆ จิ๊กๆ ระดับปัจเจก จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาใหญ่ระดับทุนนิยมข้ามชาติครอบระบบอาหารได้หรือ ซึ่งก็ต้องขอบคุณเนตรดาวที่เปิดประเด็นให้มีการถกเถียงพูดคุยกัน

เราเรียกและนิยามตัวเองอย่างไร

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า พวกเราส่วนหนึ่งที่ทำงานร่วมกันภายใต้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และปัจจุบันมีการขยับเครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารไม่ได้ใช้ประเด็นหรือวาทกรรมเกษตรอินทรีย์ในการขับเคลื่อนงาน ด้วยเหตุที่การใช้คำว่าเกษตรอินทรีย์มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความไปในกรอบแคบเหลือแค่เพียงการผลิตอาหารปลอดภัยดังที่บทความของเนตรดาวกล่าวถึง

เครือข่ายเกษตรทางเลือกจึงเลือกใช้คำว่า “เกษตรกรรมยั่งยืน” ซึ่งมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนได้นิยามไว้ว่า “เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นวิถีเกษตรกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและดำรงรักษา ไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและเพียงพอตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิต ที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค พึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นอิสระ ทั้งนี้เพื่อความผาสุกและความอยู่รอดของมวลมนุษย์ชาติโดยรวม”

อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านปรับปรุงระบบการผลิตตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนไปจนถึงระดับที่เลิกใช้สารเคมีการเกษตรได้ก็มักจะเรียกผลิตผล ผลิตภัณฑ์ของตนว่าผลผลิตอินทรีย์แบบรับรองตัวเองหรือรับรองกันเอง มีจำนวนน้อยที่เข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีองค์กรตรวจสอบรับรองให้การรับรอง

เมื่อไม่นานมานี้ ในการประชุมสากลองค์กรชาวนาโลกเรื่องเกษตรนิเวศและเมล็ดพันธุ์ (The La Via Campesina First Global Encounter on Agroecology and Seeds) จัดขึ้นที่ จ.สุรินทร์ มีการทบทวนชื่อและนิยามความหมายของระบบเกษตรที่พึงปรารถนาร่วมกัน ที่ประชุมถกเถียงกันอย่างหนักว่าจะเรียกชื่อร่วมหรือไม่อย่างไร สายละตินอเมริกาพยายามจะผลักดันให้เรียกชื่อระบบเกษตรว่า เกษตรนิเวศ เหล่าเครือข่ายที่เป็นสมาชิกในประเทศไทยก็ยังคงยืนยันจะเรียกว่า เกษตรยั่งยืนต่อไป ด้วยว่าใช้กันมายี่สิบกว่าปีจนคุ้นและเข้าใจตรงกันดีแล้ว ที่ประชุม[1]จึงมีข้อสรุปร่วมกันในเชิงหลักการตอกย้ำถึงองค์ประกอบสำคัญสามประการในระบบเกษตรที่พึงปรารถนาขององค์กรชาวนาโลก ได้แก่ ระบบนิเวศ สังคม และการเมือง

ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียกว่าเกษตรนิเวศ เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรใช้ปัจจัยการผลิตภายนอกต่ำ เกษตรยั่งยืน หรือชื่ออื่นใด สำหรับองค์กรชาวนาโลก ระบบเกษตรที่จะยังความยั่งยืนให้กับชาวนาชาวไร่อย่างแท้จริงนั้นมาจากการฟื้นฟูความรู้วิถีการผลิตแบบพื้นบ้านผสมผสานกับนวัตกรรมเชิงนิเวศ การควบคุมและปกป้องดินแดนหรือฐานทรัพยากร และเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงความเท่าเทียมของบทบาทหญิงชาย

เมล็ดพันธุ์: เครื่องมือสำคัญในการยึดระบบอาหาร

คงไม่มีข้อโต้แย้งว่า ปัญหาหลักที่เป็นอยู่ในระบบอาหารคือปัญหาที่มีใจกลางอยู่ที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

หมายความว่า “อำนาจตัดสินใจ” หรือ “อำนาจในการเลือก” ไปอยู่กับใครบางคน บางกลุ่มเท่านั้น เกษตรกรรายย่อยก็เหลืออำนาจน้อยมากในการกำหนดว่าจะผลิตอะไร อย่างไร ขายให้ใคร ที่ไหน ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบมาเป็นแพคเกจ คนกินก็มีทางเลือกเหลืออยู่แต่ว่าจะกินอาหารยี่ห้ออะไร ผักปนเปื้อนแบบมีตรา Q หรือไม่มีตรา Q

กระบวนการผูกขาดระบบการผลิตในประเทศไทยก็เหมือนกับที่อื่นๆ ในโลก ไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ด้วยเป็นกระบวนการของกลุ่มบรรษัทกลุ่มเดียวกัน คือกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและเคมีเกษตร นำขบวนโดยมูลนิธิร๊อกกี้ เฟลเลอร์[2] และมูลนิธิฟอร์ด จัดตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute: IRRI) ขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ. 2503 ทำการรวบรวมสายพันธุ์ข้าวจาก 70 กว่าประเทศทั่วโลก และปรับปรุงพันธุ์ข้าว ตลอดจนให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการทำนาอื่นๆ อาทิ การพัฒนาเครื่องจักร เครื่องมือทำนา การใส่ปุ๋ย การกำจัดศัตรูพืช  ในปี 2509  IRRI อีรี่ก็ได้นำเสนอข้าวพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูงถึง 1 ตันต่อไร่ ชื่อ IR 8 หรือเรียกกันว่า “ข้าวมหัศจรรย์” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพันธุ์ข้าวหมายเลขต่างๆ ของไทย เริ่มตั้งแต่   กข.1 ในปี 2512

ความสำเร็จของกระบวนการอีรี่ทำให้มีการสนับสนุนให้จัดตั้งสถาบันวิจัยการเกษตรระหว่างประเทศ (International Agricultural Research Centers: IARCs) ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 16 แห่ง บริหารโดยคณะที่เรียกว่า Consultative Group on International Agricultural Research: CGIAR ซึ่งมีประธานโดยตำแหน่งมาจากการเสนอชื่อของธนาคารโลก สถาบันวิจัยการเกษตรระหว่างประเทศ มีบทบาทในการขยายการปฏิวัติเขียว ด้วยกระบวนการวิจัยพัฒนาพันธุ์ การเพิ่มผลผลิต จัดฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่นักวิทยาศาสตร์การเกษตรกว่าห้าหมื่นคนในระยะ 25 ปีที่ผ่านมา

การยึดเมล็ดพันธุ์หรือพันธุกรรมเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการผูกขาดระบบเกษตรกรรม เมื่อเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ได้ก็เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตอื่นๆ ได้ เฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น ข้าวพันธุ์ กข. ทั้งหลายจะเติบโตให้ผลผลิตดีดังใจก็เมื่อได้ปุ๋ยเคมี หรือที่ชาวไร่ข้าวโพดรู้กันดีว่าถ้าใช้พันธุ์ข้าวโพดตองแปด (888) ไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีเท่านั้น ต้องเป็นปุ๋ยเคมีตรากระต่ายของบริษัทเดียวกันอีกด้วย

ภายในเวลาไม่ถึงสามสิบปี การรุกคืบผูกขาดระบบการผลิตเกษตรและอาหารของบริษัทในบ้านเราประสบความสำเร็จอย่างงดงาม พันธุ์ข้าวพื้นเมืองนับพันนับหมื่นสายพันธุ์หายไปจากแปลงนาเกือบเกลี้ยง เหลือไว้แต่พันธุ์ให้ผลผลิตสูงกินปุ๋ยดีไม่กี่สายพันธุ์ พันธุ์ข้าวโพดลูกผสมที่เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อไม่ได้เป็นของบริษัทเพียงไม่เกิน 6 บริษัทครองตลาดถึง 90 % เช่นเดียวกับพันธุ์ผักต่างๆ

เรื่องพันธุ์สัตว์ ตัวอย่างที่พูดกันบ่อยสุดคือไก่ ที่นับตั้งแต่ซีพีไปจูงใจให้อาร์เบอร์ เอเคอร์ส มาร่วมทุนถ่ายทอดเทคโนโลยีเมื่อปี 2514 มาบัดนี้การเลี้ยงไก่เนื้อที่คนไทยกว่า 65 ล้านคนกินกันคนละเฉลี่ย 14 กก.ต่อคนต่อปีนั้น 70 % ก็เป็นของบริษัทเพียง 3 บริษัท

Think global act local คิดไปเองหรือเปล่า ?

บทความ “เกษตรอินทรีย์ กับระบบอาหารโลก” ชี้ว่า “…พบว่าข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหากลับไปเน้นที่ปัจเจกบุคคล เช่น การเรียกร้องให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ใช้แรงงานตัวเองทำการเกษตร ปลูกพืชผักอินทรีย์เพื่อกินเอง เท่ากับว่าการรณรงค์เรื่องความมั่นคงทางอาหารในสังคมไทย เน้นการเรียกร้องโดยการเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคล จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยอัตโนมัติ”

ก็คงต้องพิจารณาตัวเองกันว่างานรณรงค์ที่ทำ ๆ กันนอกจากแทบจะไม่มีผลในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายด้วยแรงผลักทางการเมืองยังน้อยนิด การทำให้ผู้คนรับรู้เข้าใจก็ยังไม่ค่อยได้ผลอีกด้วย ไม่ว่าการคัดค้านต่างๆ ทั้งเรื่องเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป และการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่จะเอื้อต่อการผูกขาดเมล็ดพันธุ์มากยิ่งขึ้น การเปิดทดลองจีเอ็มโอในไร่นาโดยที่เรายังไม่มีมาตรการดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพ การรณรงค์ควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูให้มีมาตรฐาน การรณรงค์นโยบายและมาตรการต่างๆ นานาที่จะส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน รวมถึงการเข้าไปร่วมในคณะกรรมการระดับชาติเพื่อชิงการนิยามความหมายความมั่นคงทางอาหารที่มีมิติเศรษฐกิจการเมือ

กลับมาที่การทำงานในระดับปัจเจก หรือในที่นี้อยากจะเรียกว่า “ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย” น่าคิดว่าหากไม่สร้างปฏิบัติการในระดับฟาร์มครัวเรือน เราจะเริ่มต้นที่ตรงไหน

และจริงอย่างที่สุด ที่ปฏิบัติการระดับปัจเจกไม่น่าจะส่งผลการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างโดยอัตโนมัติ หากนั่งทำจุ๋มๆ จิ๋มๆ อยู่คนเดียว

ปฏิบัติการสำคัญของเครือข่ายคือการพัฒนาทางเลือกและปฏิบัติการระดับฟาร์มครัวเรือน ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่นไปพร้อมๆ กับการเชื่อมโยงผู้คนระหว่างผู้ผลิตเกษตรกรด้วยกันเอง และระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค และสร้างคำอธิบายที่จะไปต่อกรกับระบบคิดที่ขับเคลื่อนระบบการผลิตอาหารอยู่ในปัจจุบัน  ในการนี้ หากมีแนวร่วมนักวิชาการมาช่วยอธิบายก็จะน่าจะยิ่งมีพลัง

เครือข่ายเกษตรทางเลือกในฐานะสมาชิกองค์กรชาวนาโลกก็ได้พยายามนำเอาแนวคิดสิทธิและอธิปไตยทางอาหารขององค์กรชาวนาโลกที่ประกาศออกมาตั้งแต่ปี 2539 มาตีความปรับใช้สร้างคำอธิบายในประเทศ พยายามใช้อย่างทุลักทุเลอยู่หลายปีไม่ขยับ ด้วยพูดขึ้นมาทีไรก็เกิดเครื่องหมายคำถามบนใบหน้าของคนฟัง และส่วนใหญ่ก็มีจินตนาการคำว่าอธิปไตยเป็นเรื่องรัฐและดินแดนไปเสีย ในที่สุดก็มาลงตัวที่คำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” และได้มีการทำการศึกษาการอธิบายของชุมชนเกษตรกรรมหลายชุมชนต่อคำนี้ สรุปเป็นชุดความคิดได้ว่า ความมั่นคงทางอาหารหมายถึง

“การมีอาหารกินอย่างเพียงพอตลอดปี โดยให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองด้านอาหาร สิทธิในการเข้าถึงฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน อาหารที่บริโภคต้องปลอดภัย มีโภชนาการ มีตลาดที่เป็นธรรม มีรายได้ที่เพียงพอ  มั่นคง และมีส่วนร่วมในการควบคุมดูแล รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมและยั่งยืนในระบบอาหาร “[3]

แน่นอนว่า ในภาวะวิกฤตอาหาร การรณรงค์ให้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยตั้งเป้าหมายการผลิตเพื่อกินเองให้พอ มีความสำคัญพอๆ กับการขายเป็นรายได้ อย่างไหนมาก่อนก็ขึ้นกับวิธีคิด ความรู้ การวางแผนการผลิต ขนาดที่ดิน จำนวนและการจัดการแรงงานที่มี เครื่องมือเครื่องจักร การจัดการเวลา (ใน/นอกภาคเกษตร) และการเข้าถึงตลาดแบบต่างๆ ของตัวเกษตรกรเอง ตลอดจนความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่าย และก็แน่นอนว่าการทำเกษตรแบบนี้ส่วนใหญ่ต้องทำงานเต็มเวลา คืออยู่ในไร่นาสวนเกือบทุกวัน

ยึดคืนเมล็ดพันธุ์ !!! ชาตินี้จะทันหรือ ?

หากจะอธิบายต่อถึงความหมายของการจัดการเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งประกอบด้วยการค้นหา การเก็บ การคัดเลือก และการปรับปรุงพันธุ์ กระบวนการเหล่านี้คือการอนุรักษ์พันธุกรรมในถิ่นที่อยู่ เพื่อรักษาฐานพันธุกรรมเอาไว้พัฒนาตอบสนองความต้องการที่หลากหลายตามสถานการณ์ในวันหน้า เป็นการพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ราคาเหมาะสมเพื่อตอบโจทย์การผลิตที่มีคุณภาพ และเอื้อต่อการลดการใช้สารเคมีการเกษตร ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกได้มากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งก็หมายถึงลดต้นทุน หลายกลุ่มสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้าเป็นรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก

ตัวอย่างเรื่องพันธุ์ข้าว ระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา บุคคล กลุ่ม และเครือข่าย ได้พากันค้นหาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างกระจัดกระจาย รวมถึงไปทวงคืนมาจากธนาคารพันธุกรรมของกรมการข้าว มาเก็บรวบรวม แบ่งกันไปปลูกรายละสิบยี่สิบสายพันธุ์ตามใจสมัคร เพื่อเก็บรักษาและคัดเลือก บางคนพัฒนาไปถึงขั้นสามารถปรับปรุงพันธุ์ได้ ขณะนี้เครือข่ายรวบรวมพันธุ์เก็บไว้ระดับแปลงนาราว 1,000 สายพันธุ์ มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนับสิบกลุ่มกำลังผลิตรวมราวๆ 150 ตันต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต

หรือมาดูที่วิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม ขณะนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม แกนนำกลุ่มได้วิชามาจากการทำเกษตรพันธะสัญญาปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมให้บริษัท มาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมขายแข่งกับยักษ์ใหญ่ ยอดขายกลุ่มละ 60 ล้านบาท รวมเป็น 120 ล้านบาท จำหน่ายในภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พิษณุโลก เฉพาะที่จังหวัดน่านแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากบรรษัทได้ 10 %

เครือข่ายที่ทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ผักก็กำลังคึกคักขยายตัว มีการรวบรวมพันธุ์ผักไว้กว่า 250 สายพันธุ์ และมีความต้องการตลาดสูงขึ้นเป็นลำดับ ขณะนี้มีกลุ่มที่ทำเมล็ดพันธุ์ผักพันธุ์แท้ (เก็บเมล็ดปลูกต่อได้) มาบรรจุซองขายซองละ 10 บาท (กำลังจะขึ้นราคา) ราว ๆ 7-8 ราย ยอดขายต่อปีเป็นหลักแสน น่าจะยังไม่ถึง 0.1 % ของยอดขายของบริษัท กระนั้นเครือข่ายก็ยังพยายามทำการผลิตเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดเมล็ดผักตราเรือบิน (ของตระกูลเจี่ย) ต่อไป ทั้งยังหวังว่าจะทำให้คู่แข่งหนาวสะท้านในวันหน้า

นี่อาจเป็นเพียงตัวอย่างที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่บรรษัทครอบครองอยู่ แต่ก็นับเป็นการท้าทายการผูกขาดด้วยปฏิบัติการจริงของเกษตรกรรายย่อยจำนวนหนึ่ง และเพื่อส่งข่าวสารบอกสังคมไทยว่า หากเราเลือกจะทำ เราก็สามารถกำหนดระบบการผลิตอาหารการกินของเราได้ เราเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตของเราเองได้ และในอนาคตไม่ไกล หากผู้บริโภคมาเป็นเพื่อนเรามากขึ้น เราน่าจะมีเสียงดังขึ้น ผลักดันทางการเมืองได้มากขึ้น

การแก้ไขปัญหาโครงสร้าง เฉพาะอย่างยิ่งการจัดการทรัพยากรสาธารณะก็อาจเป็นเรื่องใกล้ความจริงขึ้นมาได้

[1] http://viacampesina.org/en/index.php/main-issues-mainmenu-27/sustainable-peasants-agriculture-mainmenu-42/1334-surin-declaration-first-global-encounter-on-agroecology-and-peasant-seeds

[2] วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ และคณะ. 2551. จากปฏิวัติเขียว สู่พันธุวิศวกรรม: บทเรียนสำหรับอนาคตเกษตรกรรมไทย

[3] สุภา ใยเมือง.  2555.  ตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน

ที่มา: ประชาไท วันที่ 11 มีนาคม 2556: กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถี http://prachatai3.info/journal/2013/03/45695

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post