แม้ว่าจุดเริ่มตั้นของร้านค้าของผู้ซื้อเกิดขึ้น ณ ร้านแนว 1950 ซึ่งค่อนข้างทรุดโทรมจากกาลเวลาที่ถนนแลมบ์ส คอนดวิต เหนือเขตฮอลบอนเล็กน้อย หากแต่สหกรณ์แห่งนี้มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าการขายอาหารและผักผลไม้เพื่อกำไร แต่เป็นการให้อำนาจแก่สมาชิกและผู้บริโภคในการเข้าถึงอาหารที่คุณภาพสูง สะอาด ราคาถูก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อาร์เธอร์ พอตส์ ดอว์สัน คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังสหกรณ์ผู้บริโภคที่เรียกว่า ร้านค้าของผู้ซื้อ (The People’s Supermarket) แห่งนี้ โดยมีแนวความคิดตั้งต้นว่าอยากขายอาหารและผักผลไม้อินทรีย์คุณภาพสูง ราคาสมเหตุสมผล และมีคนในชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการร้านค้าโดยที่กำไรจะหมุนเวียนเพื่อพัฒนาร้านต่อไป
อย่างไรก็ตาม ร้านค้าของผู้ซื้อยังต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ความจำเป็นแรกคือต้องมีสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นผักผลไม้ของท้องถิ่น แบรนด์ของผู้ซื้อ (The People’s brand) จำพวก ไข่ นม และขนมปัง รวมถึงสินค้าแบรนด์ทั่วไปอย่างเนสต์เล่ คอร์นเฟลกซ์ แองเจิ้ลดีไลท์หากสินค้าเหล่านั้นยังเป็นที่ต้องการสูง อย่างไรเสียจุดประสงค์หลักของร้านค้าของผู้ซื้อไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นร้านค้าเพื่อสุขภาพ แต่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่จัดการโดยผู้ซื้อที่เป็นสมาชิกและให้ความสำคัญกับอาหารคุณภาพดี มีราคาย่อมเยา พร้อมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตได้ ง่ายๆคืออาหารทุกอย่างจากร้านจะมาจากเกษตรกรชาวอังกฤษ ยิ่งมาจากแหล่งผลิตอาหารท้องถิ่นได้ยิ่งดี ส่วนสินค้าแบรนด์ทั่วไปนั้นต้องเป็นของที่สดใหม่ แต่ร้านค้าของผู้ซื้อจะไม่ทำตัวเหมือนกันเหล่าซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่เอาแต่กดขี่ผู้ผลิตเมื่อมีโอกาส แผนการตลาดของอาร์เธอร์นั้นขึ้นอยู่กับความหวังดีและการทำธุรกิจเพื่อสังคม ดังนั้น ร้านค้านี้จึง “เป็นเจ้าของโดยประชาชน เพื่อประชาชน (Owned by the people, for the people)” และสมาชิกของสหกรณ์จะเสียค่าสมาชิกรายปี 25 ปอนด์ (1250 บาท) และต้องเข้ามาดูแลร้านอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อเดือนโดยผลัดเปลี่ยนกับสมาชิกคนอื่น แม้ว่าจะมีทั้งการลงทุนและลงแรง แต่สมาชิกจะได้ลดประมาณ 10% จากการซื้ออาหารในร้านค้าของผู้ซื้อนี้ (หากคิดความประหยัดจากรายจ่ายค่าอาหารทั้งปีบวกกับคุณภาพของอาหารที่ซื้อคงคุ้มไม่น้อย)
เพียงไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัวเมือพฤษภาคมปีที่แล้ว (ฤดูร้อนปี 2553) ร้านค้าของผู้ซื้อได้เริ่มสร้างกำไรจากเงินลงทุนแรก 180,000 ปอนด์ (9 ล้านบาท) ซึ่งมาจากความหวังดีของเผล่าผู้ผลิตอาหารและเงินช่วยเหลือเล็กน้อยจาก Camden Council และ สมาคมกองทุนเพื่อการพัฒนา (Development Trust Association) รวมถึงยังมีการช่วยเหลือจาก Rugby School ซึ่งเป็นเจ้าของที่และได้ลดค่าเช่าที่ให้เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการเพื่อชุมชน
“เราเพิ่งได้เท่าทุนช่วงต้นกุมภาฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากสำหรับธุรกิจเล็กๆ แบบนี้ อีกทั้งจำนวนของสมาชิกยังเพิ่มมากขึ้น 7% ต่อเดือน” อาร์เธอร์กล่าว ที่สำคัญ ครัวเล็กๆตรงมุมร้านและเครื่องครัวที่ได้รับบริจาคการ Ikea ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผักผลไม้ที่ไม่มีใครซื้อและได้กลายมาเป็นอาหารกลางวันที่ทำรายได้อย่างดี แถมยังช่วยลดขยะจากอาหารเหลือทิ้งประมาณ 210 กิโลต่ออาทิตย์
“มันไม่เหมือนการทำงานเท่าไหร่” ซูกิ จ๊อบสัน หนึ่งในสมาชิกของร้านอธิบาย “ตอนที่เป็นว่าที่ตรงนี้มีการประกาศขายก็คิดว่าคงจะกลายเป็นเทสโก โลตัสอีกแห่ง แต่ที่นี่เป็นมากกว่าร้านขายของชำและผักผลไม้ มันอาจจะกำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่มันจะเปลี่ยนทัศนคติของผู้ซื้อต่อเกษตรกรและแนวคิดและการปฏิบัติต่ออาหาร”
รูปแบบของร้านสามารถให้ความรู้สึกถึงการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง อาร์เธอร์เองก็เป็นผู้ทาสีร้านและทำความสะอาดเกือบทั้งหมด อุปกรณ์หลายๆอย่างมาจากร้านลดราคาหรือพวกของมือสอง แม้การตกแต่งอาจดูสุกๆดิบๆ ขึ้นอยู่กับว่าสามารถหาของต่างๆและอุปกรณ์ตกแต่งได้มากน้อยแค่ไหน แต่ไม่มีอะไรในการดำเนินกิจการร้านที่เป็นแบบมือสมัครเล่นเพราะสมาชิกทุกคนให้ความสำคัญต่อการดูแลร้านเป็นอย่างดี
อาร์เธอร์ที่เพิ่งมีอายุได้ 40 นั้นอยู่ในวงการอาหารมากว่า 20 ปี เขาเริ่มทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดห้องครัวที่ Lord’s Cricket Ground เมื่ออายุ 15 ตามด้วยการฝึกงานเป็นพ่อครัว 3 ปีที่ Roux brothers ก่อนที่จะทำงานที่ Kensington Palce, The River Café, Petersham Nurseries Café, Cecconi, และ ร้าน Fifteen restaurant ของ เจมี่ โอลิเวอร์ (พ่อครัวที่มีรายการอาหารมากมาย) ในฐานะหัวหน้าพ่อครัวใหญ่
ในปี 2549 อาร์เธอร์ได้สร้างร้านอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2 แห่ง: Waterhouse และ Acornhouse ในเมือง ชอร์ดิช (ผู้ชนะรางวัลร้านอาหารใหม่ที่ Observer Food Award และไกล์ส คอเรน นักวิจารย์อาหารของอังกฤษ ได้บรรยายว่าเป็น “ร้านอาหารที่สำคัญที่สุดที่ได้เปิดขึ้นในลอนดอนในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา”) ร้าน Acornhouse ได้เสิร์ฟอาหารตามฤดู และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้น้ำจากอาหารที่เหลือเพื่อรดสวนผักของครัว
หลังจากได้เลิกการเป็นพ่อครัวแล้ว อาร์เธอร์มุ่งมั่นกับการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่จะเชื่อมต่อผู้บริโภคกับผู้ผลิตโดยตรง “แต่ผมยังไม่สามารถรวบรวมคนที่เข้าถึงเกษตรกรได้โดยตรง ร้านอาหารอาจเข้าถึงคนได้ประมาณ 5% ผมจึงพยายามคิดหาทางที่จะเชื่อมกับคนจำนวนมากได้”
ดังนั้น เมื่อสองปีก่อน เขาจึงวาดฝันร้านค้าเพื่อผู้ซื้อขึ้นมาจากการไป Park Slope Food Coop ที่บรู๊กลิน นิวยอร์ก ซึ่งเป็นร้านที่มีสหกรณ์ผู้บริโภคมาช้านานตั้งแต่ปี 2516 และมีสมาชิกผู้ร่วมเป็นเจ้าของร้านกว่า 14,000 คน และทำงานที่ร้านเพียงอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อเดือน พร้อมทั้งได้รับส่วนลดมากถึง 40%
แม้ว่าปัจจุบัน ร้านค้าของผู้ซื้อนั้นจะยังมีสมาชิกเพียง 400 คน แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าสหกรณ์ผู้โภคสามารถเติบโตและคืนทุนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งสมาชิกยังได้ความตระหนักและความเชื่อมโยงในสายพานของระบบอาหาร อาร์เธอร์กล่าวต่อว่า “อาหารที่คนอังกฤษกินอยู่ทุกวันนั้น 60% มาจากการนำเข้า และ 90% เป็นผลไม้จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่บ้ามากเพราะเราก็มีอากาศที่เหมาะสำหรับการปลูกพืชอาหาร และยังมีผู้ผลิตอาหารคุณภาพอยู่มาก แต่เราไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ผมไม่ได้พูดว่าผลจะเปลี่ยนทุกอย่างเพียงชั่วข้ามคืน แต่หนึ่งในวิธีที่จะให้ความรู้คนก็คือการให้เขาได้รับรู้และเข้าร่วมโดยตรง ลอนดอนสามารถที่จะเชื่อมต่อกับชนบทอีกครั้งหนึ่ง”
ที่มา: รพิจันทร์ ภูริสัมบรรณ แปลและเรียบเรียง
จาก http://www.thisislondon.co.uk/lifestyle/article-23922648-arthur-potts-dawson-launches-the-peoples-supermarket.do
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.thepeoplessupermarket.org/