คนใต้มักกล่าวถึงของกินที่พึงใจว่า “กินดี กินหรอย” ซึ่งเป็นคำอธิบายว่านอกจากมีรสถูกลิ้นถูกใจกินแล้วหรอยหรืออร่อยนั้น ของที่ว่ายังมีความน่ากินด้วยเหตุอื่นๆ ถึงจะเรียกได้ว่ากินดี เช่น การรู้จักวัตถุดิบที่มีอยู่มากมายหลายอย่าง เอามาจับคู่ เกิดรส กลิ่นเฉพาะตัว เช่น ถ้าจะกินจั้งต้องกินกับน้ำผึ้งจาก การเลือกข้าวจ้าวซึ่งก็มีมากมายหลายพันธุ์แต่ถ้าจะทำขนมม้าต้องเลือกข้าวที่ไม่แข็งไม่อ่อนอย่างข้าวเล็บนก เป็นต้น นอกจากนั้นกินดีก็ยังขึ้นอยู่กับว่ากินตอนไหน ปักษ์ใต้หน้าฝนยาวนาน เย็นและชื้น ช่วงเวลาแบบนั้นนิยมขนมทอดน้ำมันหรือจีร้อนๆ กินแล้วให้ความอบอุ่น อย่างมันเทศเจ ขนมปาดา บ้านใกล้กันก็มาล้อมวงช่วยกันทำ ชวนกันกิน ไม่ใช่แต่อุ่นได้อังไฟใกล้เตากินร้อนๆ แต่ยังอบอุ่นใจไปด้วย หรืออย่างขนมจากใหม่ๆ ร้อนๆ ต่อให้อร่อยขนาดไหนก็อาจจะมีคนเปรยออกมาว่าถ้าได้กินตอนดูหนังตะลุงยามดึกอากาศเย็นหนาวจะกินดีกว่านี้แน่่ๆ
ขนมบ้านๆ มักจะปรุงด้วยข้าว มะพร้าว น้ำผึ้ง แต่ด้วยพลิกแพลงวิธีเลือก วิธีปรุง ก็ได้ขนมน่ากินมากมายกินกันตลอดปีไม่รู้จักเบื่อ ขั้นตอนไม่ซับซ้อน ความอร่อยที่ได้นอกจากฝีมือผู้ปรุงแล้วยังต้องมาจากวัตถุดิบที่ดี เมื่อเลือกเอามาใช้ถูกเวลา ก็จะได้รสที่ต้องการทำให้เกิดความโดดเด่นของขนม ทุกวันนี้วัตถุดิบสำเร็จรูปหาง่ายใช้สะดวกทั้งมะทิ น้ำตาล อย่างแป้งข้าวเหนียว ข้าวจ้าว ไม่ต้องแช่ข้าวบดข้าวกันข้ามวันข้ามคืนก็ได้กินแล้ว แต่ข้าวพื้นบ้านต่างพันธุ์กัน ความสดใหม่ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ปลูก ต่างก็ให้กลิ่นและรสที่เฉพาะถิ่นเฉพาะตัว เพราะอย่างนี้ขนมบ้านๆ ที่กินดีนั้นไม่ใช่จะอยู่กับรสเมื่อได้ลิ้มลอง หากแต่ยังเกาะเกี่ยวผูกพันธ์กับคนทำ แหล่งปลูก แนบเนียนสมกับที่ว่า ลักหยบไว้
ผู้เขียนเขียนด้วยเสียงเล่าของคนไปพบของดีแล้วอดไม่ได้ต้องบอกสู่กันฟัง สำนวนคนปักษ์ใต้ได้ทั้งอารมณ์บรรยากาศ เสน่ห์อีกอย่างของ “ลักหยบไว้ในขนมบ้านบ้าน” คือแต่ละตำหรับขนมผ่านการปรุงจนเป็นสูตรเฉพาะของเจ้าตำหรับแต่ละคน ไม่ว่าจะการเลือกใช้ข้าวของที่หยิบฉวยมาใช้เหมาะกับแต่ละครัว วิธีกะปริมาณ เวลา ที่สอดคล้องกับท่วงทำนองวิถีชีวิตแต่ละวันคืนตลอดจนฤดูกาลเวียนผ่านเวลามาหลายชั่วรุ่น ยังรักษาไว้คือหัวใจ ให้ขนมบ้านๆ คงกินดี กินหรอย ถูกปากถูกลิ้นทุกคนที่ได้ชิม
กินดีมีสุข 1 ลักหยบไว้ในขนมบ้านๆ
ผู้เขียน ประไพ ทองเชิญ
พิมพ์โดย มูลนิธิชีววิถี
ราคาปก 250
สนใจสั่งซื้อ 02 985 3837-8