‘ชีวิตคนทำน้ำตาล’ หอมหวานด้วยภูมิปัญญา
“มีดปาดตาลนี่ต้องให้คมเสมอ อย่าให้ร่อย อย่าให้บิ่น ชีวิตก็เหมือนกัน สติต้องมีเสมอ ต้องลับให้คมพร้อมใช้งานอยู่ตลอด” มือปาดน้ำตาลหญิงวัย 47 ปี แพรวตา เข็มกำเนิด แห่งกลุ่มทำน้ำตาลปลอดสารพิษ บอกกับทีม “วิถีชีวิต” ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “วิถีชีวิตคนทำน้ำตาล” ที่มีแง่มุมน่าพิจารณา…
กลุ่มทำน้ำตาลปลอดสารพิษกลุ่มนี้ อยู่ที่ ต.คลองเขิน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งสำหรับแพรวตา เธอเล่าว่า เดิมทำงานในโรงงานแปรรูปสับปะรดแห่งหนึ่ง ทำอยู่กว่า 10 ปี ขณะที่สามีก็ออกไปรับจ้างทำงานก่อสร้าง เรียกว่าต่างคนต่างก็ต้องแยกย้ายกันเพื่อทำมาหากิน เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว ต่อมารู้สึกเบื่อหน่าย ประกอบกับลูกทั้ง 4 คนเริ่มโตเป็นวัยรุ่น จึงคิดว่าจำเป็นต้องมีใครสักคน ระหว่างตน และสามี ทำหน้าที่คอยดูแลลูกให้ใกล้ชิดขึ้น เมื่อคุยกันกับสามีแล้ว ที่สุดก็เป็นตนเองที่ตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่ โดยในระยะแรกก็ได้แต่เฝ้าบ้าน คอยรับส่งลูก ๆ จนตอนหลังมาคิดว่ามีสวนมะพร้าวอยู่ จึงน่าจะยึดเป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้อีกทาง แต่ด้วยความที่ไม่เคยทำงานด้านนี้ ตอนที่เริ่มต้นทำใหม่ ๆ ก็เรียกได้ว่าทุลักทุเลพอสมควร
“ไม่เคยปาดน้ำตาลมะพร้าว ไม่เคยปีน ก็ต้องลอง คิดว่าดีกว่าปล่อยให้มะพร้าวทิ้งไว้เฉย ๆ พอดีสามีเขาเคยทำ ก็ให้เขาสอน แรก ๆ ก็กลัวสารพัด ไหนจะกลัวตก ไหนจะกลัวมีด จากตอนแรกที่คิดแค่ว่าจะทำเป็นอาชีพเสริม ไปๆ มาๆ ก็กลายมาเป็นอาชีพหลักไปเลย แต่กว่าจะถึงวันนี้ ก็ได้แผล เจ็บตัวมาหลายหน”
มือปาดน้ำตาลหญิงเล่าฉากชีวิตให้ฟัง ก่อนจะบอกอีกว่า การขึ้นปาดน้ำตาลมะพร้าวยุคนี้สะดวกขึ้นกว่ายุคก่อน เพราะต้นมะพร้าวถูกพัฒนาให้เตี้ยลง เพื่อให้การเก็บน้ำตาลทำได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องไต่พะองสูง ๆ ราวตึก 3 ชั้น 4 ชั้นเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งการปาดน้ำตาลนั้นจะใช้วิธีตัด “งวงมะพร้าว” หรือ “จั่นมะพร้าว” โดยตัดเฉือนส่วนปลายที่โค้งงอ จากนั้นเอากระบอกรองน้ำตาลทิ้งไว้ เมื่อได้เวลาก็จะปีนขึ้นไปเก็บลงมา โดยน้ำตาลที่ดีที่สุดจะเป็นช่วงฤดูหนาว เพราะอากาศจะดี น้ำตาลจะหวานหอม ส่วนฤดูร้อนกับฤดูฝนจะมีปัญหาเรื่องการเก็บรักษาและการเคี่ยวที่ยากขึ้น โดยฤดูร้อนจะต้องรีบตัด รีบรอง รีบเก็บ เพราะอุณหภูมิที่สูงมีผลทำให้น้ำตาลบูดและเปลี่ยนกลิ่นง่าย ขณะที่หน้าฝน น้ำฝนที่หยดลงกระบอกจะทำให้ต้องเพิ่มระยะเวลาในการเคี่ยวนานขึ้น
แม้จะดูง่าย ไม่ซับซ้อน แต่อาชีพนี้ก็ต้องใช้ความอดทนและความตั้งใจสูง ซึ่งกับถนนสายอาชีพนี้ แพรวตาบอกว่า ตอนแรกทำทั้งปาดและเคี่ยวน้ำตาลเพื่อส่งขายเอง แต่ภายหลังมีการรวมกลุ่มทำน้ำตาลมะพร้าว ทางกลุ่มจะรับหน้าที่แปรรูปน้ำตาลและรับซื้อ “น้ำตาลใส” ก็ปาดน้ำตาลใสขายส่งให้กลุ่มเพื่อนำไปผลิตต่อเพียงอย่างเดียว ซึ่งรายได้แม้จะไม่มากเท่าตอนทำทั้ง 2 อย่าง แต่ก็มีเวลาให้ครอบครัวเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้จากการขายน้ำตาลใส หรือ “น้ำตาลสด” เฉลี่ยวันละ 120 บาท จากราคาน้ำตาลที่ซื้อขายกันที่ปี๊บละ 60 บาท ซึ่งใน 1 ปี๊บบรรจุได้ราว 20 ลิตร วันหนึ่ง ทำได้ 2 ปี๊บ หรือวันละ 40 ลิตร ก็พอมีรายได้เลี้ยงตัว
“เทียบกับตอนทำงานโรงงาน รายได้วันละ 180 บาท ทำน้ำตาลได้น้อยกว่า แต่ทำโรงงานก็ต้อง มีค่ารถ ค่าอาหาร บวกลบคูณหารแล้วก็เหลือไม่เท่าไหร่ และต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อรีบไปเข้างานให้ทัน แต่ทำน้ำตาล ไม่เครียด ไม่ต้องตื่นเช้า มีเวลาให้ลูกมากขึ้น ตรงนี้คือกำไรนะ” แพรวตากล่าว
ขณะที่ กฤษณา ดอกไม้ มือเคี่ยวน้ำตาลเดี่ยวมือหนึ่งประจำกลุ่มน้ำตาลปลอดสารพิษ รายนี้เล่าว่า มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 7,500 บาท ซึ่งกว่าจะได้เป็นน้ำตาลมะพร้าวนั้น มีขั้นตอนและใช้ความอดทนไม่น้อย เริ่มจากนำน้ำตาลใสมาเทรวมในภาชนะโดยกรองฝุ่นผงออกก่อน จากนั้นเทใส่กระทะที่ตั้งไฟร้อนๆ เคี่ยวจนน้ำตาลเดือดปุดๆ โดยต้องมีที่ครอบกันน้ำตาลล้น เคี่ยวจนน้ำตาลงวดได้ที่จึงเปิดที่ครอบออกและลดไฟให้อ่อนลง ระหว่างนี้มือเคี่ยวต้องคอยหมุนกระทะเพื่อไม่ให้น้ำตาลไหม้ สังเกตดูน้ำตาลในกระทะเดือดเป็นลักษณะขึ้นดอกหมาก จึงยก กระทะลงวางบนเสวียนหรือล้อรถยนต์เก่า เพื่อไม่ให้กระทะโคลงเคลง ใช้ไม้วีหรือลวดกระทุ้งน้ำตาลจนแห้งได้ที่ จากนั้นเทใส่ภาชนะ หรือหยอดใส่พิมพ์ จนน้ำตาลเย็นจึงเก็บใส่หีบห่อรอจำหน่าย
“อาชีพนี้มันไม่ง่ายหรอก แต่เราคิดว่าเป็นอาชีพของปู่ย่าตายาย เราก็ไม่อยากให้มันสูญหายไป ถ้าเด็กรุ่นใหม่ ๆ สนใจวิถีตรงนี้บ้างก็ดีนะ ภูมิปัญญาวิชาความรู้ตรงนี้มันจะได้อยู่กับสมุทรสงครามไป นาน ๆ” กฤษณากล่าว ก่อนเล่าว่า อาชีพนี้เคยซบเซาไป จนหลังมีการรวมกลุ่มผลิตน้ำตาลมะพร้าวขาย จึงทำให้เธอและชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีงานมีรายได้กันมากขึ้น จนกลายเป็นอาชีพสำคัญ
ปัจจุบันน้ำตาลมะพร้าวแท้ ๆ เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าในอดีต ด้วยกระแสนิยมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นและน้ำตาลมะพร้าวก็ทำขนมไทยได้อร่อย เพราะคุณสมบัติที่มีรสหวานกำลังดี มีกลิ่นหอม
“แต่กว่าจะได้ก็ต้องลงทุนลงแรงไม่น้อยกว่าจะได้ของดีออกมา ชีวิตคนมันก็เหมือนน้ำตาลนี่แหละ ยิ่งเคี่ยวนาน ยิ่งหวานหอม คนเราก็ต้องอดทน ต้องรู้จักความลำบากก่อน ถึงจะรู้ได้ว่ารสชาติของความสบาย ความสุข มันเป็นอย่างไร” นักเคี่ยวน้ำตาลเดี่ยวมือหนึ่งกล่าว
ด้าน ติ๋ม ตันตระกูล ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มน้ำตาลมะพร้าวปลอดสารพิษ หัวเรือใหญ่เล่าว่า แต่เดิมก็ทำน้ำตาลปกติ ต่อมาเปลี่ยนมาทำน้ำตาลปลอดสารพิษด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านราว 3 ปีที่แล้ว โดยสมัชชาอาหารปลอดภัยสมุทรสงครามเข้ามาส่งเสริม และได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณบางส่วนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทุกวันนี้จะผลิตน้ำตาลคุณภาพแท้ๆ จากธรรมชาติ ไม่ผสมสารกันบูดและสารฟอกขาว วิธีการของกลุ่มจะใช้ไม้พะยอมแทนสารกันบูด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่รื้อฟื้นกลับมาใช้ได้อย่างดี ทำให้ทุกวันนี้น้ำตาลมะพร้าวปลอดสารพิษมีราคาแพงกว่าน้ำตาลทั่วไป
ข้อดีของอาชีพนี้ ติ๋มบอกว่า ชาวสวนมะพร้าวมีรายได้เกิดขึ้นทุกวัน ปัจจุบันจึงมีคนหันมายึดอาชีพนี้กันเพิ่มขึ้น ตอนนี้ทางกลุ่มมีสมาชิก 28 คน แต่ละคนจะขึ้นน้ำตาลสวนใครสวนมัน แล้วนำน้ำตาลมาขายให้กลุ่ม ทำการเคี่ยวและแปรรูปเป็นน้ำตาลมะพร้าวขาย รายได้ก็จะมีการแบ่งหุ้น คนลงแรงก็จะได้ค่าแรง ถ้าเป็นสมาชิกก็จะมีส่วนแบ่งในแต่ละปี โดยตอนนี้กำลังการผลิตของกลุ่มอยู่ที่ราว 600 กิโลกรัมต่อวัน สร้างอาชีพให้หลายชีวิต
“เราได้ภูมิปัญญากลับมาใช้ และเรายังได้คนชุมชนกลับถิ่นเพิ่มขึ้นด้วย หลายคนเคยเจ็บปวดกับการออกไปค้าแรงงานต่างถิ่น บางคนจากที่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต ก็สามารถยึดเป็นอาชีพได้ มีเงิน มีรายได้ มีเวลา ได้เงินน้อยหน่อยแต่ได้อยู่กับบ้าน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ตรงนี้ถือว่าเป็นความภูมิใจเลยนะ นอกเหนือไปจากการทำให้ผลิตภัณฑ์มันเดินหน้าต่อไปได้” เป็นทิ้งท้ายจากประธานกลุ่มน้ำตาลปลอดสารพิษกับ “วิถีชีวิตคนทำน้ำตาล” สมุทรสงคราม.
‘ทำดี มีมูลค่าเพิ่ม’
กลุ่มทำน้ำตาลปลอดสารพิษ เป็น 1 ในอีกหลายชุมชนที่เข้าร่วมสมัชชาอาหารปลอดภัยสมุทรสงคราม โดยการสนับสนุนของ สสส. ซึ่ง อรุณ เกิดสวัสดิ์ ผู้จัดแผนงานอาหารปลอดภัยฯ บอกว่า เมื่อจังหวัดนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวบ้านก็ตื่นตัว ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือใครมาที่นี่ต้องได้ของดี แต่นอกเหนือจากเรื่องความอร่อยแล้ว ความปลอดภัยก็เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้เกิด “มูลค่าเพิ่ม” อย่างยั่งยืน โดยแนวคิดและจิตสำนึกเรื่องนี้ควรอยู่ในวิถีชีวิต เพราะเมื่อเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแล้ว การขับเคลื่อนก็จะเป็นธรรมชาติ แต่การที่ระบบจะเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่ทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ต้องร่วมมือกัน
“เราจะบอกทุกคนว่าสิ่งนี้หาซื้อไม่ได้ คนแม่กลองมีจุดเด่นเรื่องคุณธรรมและความดีอยู่แล้ว เราต้องรักษาจุดแข็งตรงนี้ให้ได้ ซึ่งจะให้ยั่งยืน ต้องเริ่มจากการสร้างจิตสำนึก สร้างองค์ความรู้ และรัฐเองก็ต้องสนับสนุนในเรื่องกลไกและสภาวะทางการตลาด ซึ่งมีความจำเป็นมากที่สุด” อรุณกล่าว.
ที่มา: ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ เดลินิวส์ 27 มิถุนายน 2553