ถ้าหากใครไปเดินเล่นแถวซูเปอร์มาร์เกต แล้วลองสังเกตดูตามชั้นขายผัก ก็จะพบว่า มีผักและผลไม้ ที่มีวงเล็บต่อท้ายชื่อว่า ‘จีน’ อยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น แครอท (จีน), กระเทียม (จีน), บร็อกโคลี (จีน) ฯลฯ และถ้าเคลื่อนสายตาลงมานิดหนึ่งก็จะพบว่าตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนป้ายราคา ล้วนถูกกว่าผักชนิดเดียวกันที่มีชื่อห้อยท้ายว่า ‘จีน’ ทั้งสิ้น
ผักที่มีชื่อห้อยท้ายว่า ‘จีน’ เหล่านี้ ก็คือผักที่นำเข้าที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-จีน ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน ที่ไทยและจีนได้นำร่องการลดภาษีสินค้าเกษตรพิกัด 07-08 (ผักและผลไม้) ลงเป็น 0% ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 นั่นเอง
6 ปีที่ผ่านมา จึงเกิดการทะลักเข้ามาของผลผลิตทางการเกษตรจากจีนขนานใหญ่ ถึงขั้นที่เดินไปไหนต่อไหนก็เห็นแต่ผักผลไม้จีนราคาถูกขายกันเกลื่อน ส่วนเกษตรกรบ้านเรา ก็มีหลายรายที่ถึงขั้นจับไข้ เพราะขายของไม่ได้ เนื่องจากต่อสู้ด้านราคากับผักจีนไม่ไหว
โดยเฉลี่ยแล้ว ผักผลไม้ของจีนที่ทะลักเข้ามาในตลาดไทย มักจะมีราคาถูกกว่าผักที่ปลูกในไทยถึงหนึ่งเท่าครึ่ง กล่าวคือ ถ้าสมมติว่าผักไทยราคา 100 บาท ผักจากจีนจะราคาเพียงแค่ 30 บาทเท่านั้น แล้วอย่างนี้เกษตรกรไทยจะเอาอะไรไปสู้กับเขาเล่า?
วิบากกรรมคนขายผัก ?
ตลาดสด เป็นอีกแหล่งที่จะสำรวจถึงสถานการณ์ผักไทยและจีน แต่ปรากฏว่า ไม่ได้มีป้ายบอกสัญชาติติดไว้บนผลผลิตเหมือนกับในห้าง ดังนั้น จึงสอบถามเอากับแม่ค้าว่า บรรดาผักหน้าตาสวยงามที่ขายอยู่ในร้านนั้น มีผักชนิดใดบ้างมาจากจีน
ผัก ที่ขายก็รับมาเป็นถุงใหญ่จากตลาดขายส่งทั้งหมดนะ ไม่รู้ว่ามีอันไหนมาจากจีนหรือเปล่า แต่ป้าว่ายังไงมันก็ผักเหมือนๆ กันแหละ ปลูกที่ไหนก็น่าจะรสชาติเหมือนๆ กันนะ? นั่นคือคำตอบของแม่ค้าขายผักในตลาดสด ที่ไม่ต้องการจะบอกกับเราว่า ที่แท้แล้วสินค้าในร้านของเขานั้น เป็นสินค้าที่มาจากที่ใดกันแน่
และจากการสอบถามเอาจากบรรดาลูกค้าที่ซื้อผักในตลาดเป็นประจำ ก็ทำให้ทราบว่า ในมุมมองของคนซื้อนั้น ก็ไม่ได้สนใจว่าผักที่กินเข้าไปเป็นผักไทยหรือผักจีน
เป็น คนทำกับข้าวไม่บ่อย เวลามาตลาดก็ซื้อผักไม่กี่อย่าง ก็ไม่เคยถามแม่ค้าสักทีนะว่าผักที่เขาขายเป็นผักไทยหรือจีน เราดูไม่ออกหรอก อาจจะมีกระเทียมที่เรารู้ว่าของจีนจะเม็ดใหญ่กว่าของไทย แต่สุดท้ายก็ดูที่ราคามากกว่า ว่าสมเหตุสมผลไหม?
ทางด้านนักวิชาการเกษตร ระดับ 3 ของมูลนิธิโครงการหลวง ลุยเรือง เมืองมูล ผู้คลุกคลีกับวงการการจำหน่ายผักผลไม้เล่าให้ฟังถึงภาพรวมของสินค้าการเกษตร จีนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งหลักๆ แล้ว ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดนั้นล้วนมีสาเหตุมาจากราคาผลผลิตของประเทศจีนที่ ถูกกว่าไทยมาก
การเข้ามา ของผักจีนมีผลต่อราคาผักไทยอยู่แล้ว เพราะที่จีนนั้นหนาวกว่า ดังนั้น การเพาะปลูกจึงมีผลผลิตเยอะกว่าและก็มีขนาดใหญ่กว่าด้วย อีกทั้งต้นทุนแรงงานเขาก็ถูก ซึ่งทำให้เขาขายได้ถูกกว่าของไทยมาก ทว่า ผักผลไม้จากจีนก็มีจุดด้อยเรื่องของสารพิษตกค้าง อาจจะเป็นเพราะกระบวนการผลิตของบ้านเขายังไม่ได้มาตรฐานไปเสียทั้งหมด
ผัก ที่ขายอยู่ตามตลาดสดทั่วไปนั้น มีทั้งผักจีนและผักไทยปนเปกันไป แม่ค้าที่เขาขายส่วนมากจะไม่บอกหรอกว่า ผักที่เขาขายอยู่นั้นมันมาจากไหน เพราะคะน้าก็คือคะน้า กระหล่ำฯ ก็คือกระหล่ำ ฯ สิ่งที่บอกเราได้ก็คือราคาขายที่ปรากฏให้เห็นนั่นเอง ถ้าผักเหมือนกัน ราคาถูกกว่าก็มาจากจีน?
และราคาที่ถูกกว่าอย่างมากมายของผักจีนนั้น ก็เนื่องมาจากการที่ผลผลิตจากจีนมีความเสี่ยงในเรื่องของสารพิษตกค้าง มากกว่านั่นเอง
จริง อยู่ที่ผลผลิตจีนอาจจะไม่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในเรื่องของการดูแล สารพิษตกค้าง แต่ทั้งนี้ผู้บริโภคภายในประเทศไทยเอง ก็ยังไม่ได้ตื่นตัวในเรื่องนี้นัก มันยังไม่มีใครที่ตั้งใจว่า ผักที่ฉันกินจะต้องเป็นผักปลอดสารพิษทั้งหมด คนส่วนมากจะมองว่าถ้าเป็นผักเหมือนๆ กัน ราคาถูกกว่าก็จะเลือกซื้อผักนั้น
อีกอย่าง การที่ผลผลิตจากจีนเข้าในตลาดบ้านเราด้วยราคาที่ถูกกว่า ได้กลายเป็นเป็นกลไกที่ทำให้ผลผลิตในไทยต้องลดราคาลงมาด้วย ในจีนนั้นต้นทุนทั้งกระบวนการมันถูกกว่าในไทยมาก ดังนั้น เกษตรกรบ้านเราก็ต้องลำบากขึ้นแน่นอน
ผัก เมืองหนาวอย่างแครอท หรือบร็อกโคลีก็ยิ่งแล้วใหญ่ อย่างที่บอกว่าอากาศบ้านเขาเย็นกว่าบ้านเรามาก ทำให้เขาผลิตได้ดีกว่าเราไปด้วย (จำนวนที่ผลิตได้) แต่มีเรื่องของสารพิษตกค้างที่ยังไม่มีมาตรฐานแน่ชัด ดังนั้น ทางออกของผู้ผลิตในไทย ก็คือการชูเอาเรื่องของความปลอดภัยมาเป็นตัวตั้ง ราคาที่แพงขึ้นอีกของผักไทย ก็คือเงินที่จ่ายมาเพื่อซื้อความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยนั่นเอง อีกอย่าง ที่เราทำได้ก็คือ การขายผลผลิตในฐานะผลผลิตตัดแต่ง กล่าวคือ ของที่นำมาขายนั้น จะต้องเป็นของที่ได้รับการคัดเลือกมาและตัดแต่งส่วนที่ไม่สมบูรณ์ออกไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อคุณภาพ และความสะดวกสบายของผู้บริโภคนั่นเอง?
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นผักไทยซึ่งราคาสูงกว่า ยกระดับขึ้นหิ้งไปขายในฐานะผักออร์แกนิก ผักปลอดสารพิษกันหมด
แล้วการเปิดเสรีทางการค้าแบบนี้มันจะมีส่วนอยู่ดีบ้างไหม
เปิดเสรีอาจไม่ดีอย่างที่คิด
ศจินทร์ ประชาสันติ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และเอฟทีเอ วอช ซึ่งติดตามประเด็นนี้ อธิบายว่า การเปิดเสรีไทย-จีน ภายใต้กรอบอาเซียนจีน ในสินค้าเกษตรเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2546 การเปิดเสรีอาจมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลง เช่น พ่อค้าคนกลางที่จะซื้อขายคล่องตัวและมีอำนาจการต่อรองกับเกษตรกรมากขึ้น แต่เกษตรกรจำนวนมากได้รับผลกระทบ ส่วนหนึ่งมาจากอัตราภาษีที่ลดลง
อีกส่วนหนึ่งมาจากการส่งสัญญาณทางนโยบายเรื่องการเปิดเสรีที่ทำให้ บรรดาพ่อค้าแม่ค้าคนกลางหันไปนำเข้าส่งออกสินค้ามากขึ้น แม้ว่าอัตราภาษีอาจจะไม่ได้ลดลงอย่างในกรณีกระเทียมก็ตาม
ตั้งแต่ ปีแรกที่มีการลดภาษี สิ่งที่เกิดขึ้นคือสินค้าเกษตรนำเข้าราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาดในไทย ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคไทยเองไม่ได้สนใจประเด็นความ ปลอดภัยทางอาหารหรือรสชาติที่แตกต่าง เช่น กรณีกระเทียมจีนที่ไร้กลิ่น ไม่หอมเท่ากระเทียมไทย หรือกรณีแครอทจีนก็เช่นเดียวกันที่มีรสชาติจืดแต่รูปลักษณ์ภายนอกสวยงาม
การที่สินค้าเกษตรจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดส่งผลให้เกิดปัญหา 2 อย่าง คือ หนึ่ง-ทำให้ระดับราคาสินค้าเกษตรของเกษตรกรในประเทศตกต่ำ และสอง-ไปลดหรือปิดการเข้าถึงตลาดของเกษตรกรในประเทศ
เพราะ พ่อค้าคนกลางไม่ต้องการรับซื้อสินค้าภายในประเทศอีกต่อไป อันหลังนี่ชัดเจนในกรณีของแครอท เพราะจากที่เคยลงพื้นที่สัมภาษณ์ในปี 2551 ชาวบ้านบนพื้นที่สูงประสบความยากลำบากมากขึ้นที่จะขายแครอท ต้องลดพื้นที่ปลูก และผลผลิตที่ได้ก็ต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าจะขายหมด?
และไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในกรณีใด เรื่องนี้ก็ส่งผลโดยตรงต่อรายได้และสวัสดิการที่เกษตรกรเคยได้รับ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีที่ดิน ซึ่งไม่มีทุนใดในการรองรับปรับตัวเมื่อเกิดปัญหาด้านการตลาด ขณะที่ยังต้องใช้จ่าย
ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์อาจจะดีขึ้นบ้างในบ้างปี เช่น ปลายปีที่แล้วราคากระเทียมแพงมาก แต่ก็เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการลดพื้นที่ปลูก การนำเข้าจากต่างประเทศที่น้อยลง ขณะที่ในบางปี เกษตรกรก็ประสบปัญหาราคาตกต่ำหนักกว่าเดิม เช่น ในช่วงปลายปี 2550 ราคากระเทียมที่ชาวบ้านขายได้ต่ำกว่าต้นทุน เกษตรกรในภาคเหนือส่วนหนึ่งเรียกร้องให้ชะลอการนำเข้ากระเทียม แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองในเชิงที่จะใช้มาตรการปกป้องซึ่งมีอยู่ในเอฟทีเอ แต่อย่างใด
สำหรับสินค้าเกษตรที่ตอนแรกเราคาดหวังว่าจะขายจีนได้มากขึ้น ก็ปรากฏว่าประสบปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี พ่อค้าที่ส่งออกเองก็บอกว่าไม่ได้ขายของได้มากขึ้น เพราะพอเปิดเสรี คนก็แย่งกันไปเป็นคนกลาง กลับกลายเป็นแย่งส่วนแบ่งตลาดกันเอง ส่วนชาวบ้านก็ติดปัญหาเรื่องตัวเองกำหนดราคาไม่ได้ ต้องไปขายให้พ่อค้าคนกลาง ชาวบ้านพูดถึงการคัดเกรดที่ไม่เป็นธรรม ส่วนปริมาณที่ว่าจะขายได้มากขึ้น ในความเป็นจริงชาวบ้านก็ไม่ได้ขายมากขึ้นไปกว่าเดิม
ส่วน การเปิดเสรีอาฟตา คิดว่าผลกระทบคงคล้ายๆ กัน แต่เงื่อนไขที่อาจเปลี่ยนไปคือ รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายการประกันรายได้เกษตรกรก็อาจจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ บ้าง เพราะเท่ากับช่วยลดแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงด้านราคาจากการเข้ามาตีตลาดของ สินค้าจากประเทศอาเซียนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถึงตัวเกษตรกรจริงๆ แค่ไหน
นอก จากนี้ ครั้งนี้ทางหน่วยงานภาครัฐก็ค่อนข้างตื่นตัวในการหามาตรการรองรับ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าในทางปฏิบัติ มาตรการรองรับที่ว่าจะถูกนำมาใช้ได้จริงเพียงไร เช่น มาตรการปกป้องพิเศษ หรือการตรวจสอบจีเอ็มโอในสินค้าเกษตรนำเข้า รวมทั้งแนวนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่การลุยเปิดเสรีเพียงอย่างเดียวและไม่กล้า นำมาตรการปกป้องที่เราสามารถใช้ได้ขึ้นมาใช้?
……….
ใคร ที่ยังคิดว่าการเปิดเสรีการค้าเป็นเรื่องไกลตัว ถึงตอนนี้อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะมันเข้ามาถึงในครัว ในบ้านของเราเรียบร้อยแล้ว และหลังจากข้อตกลงอาฟตามีผลบังคับใช้ ผลที่ว่านี้จะเข้มข้นขึ้นอีกสักแค่ไหน ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แม้ผู้บริโภคจะได้สินค้าราคาถูก แต่สิ่งแลกเปลี่ยนก็คือชีวิตเกษตรกร ชาวนา และสารพิษที่ปนเปื้อนมากับสินค้า ถ้าภาครัฐยังมะงุมมะงาหราไปไม่เป็น ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่างานเข้าแน่นอน
เรื่อง : ทีม Click | ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ที่มา 😕 ASTVผู้จัดการรายวัน 10 มกราคม 2553