คงน้อยคนที่ไม่รู้จัก ไม่เคยกิน ขนมสาคูกวน แป้งเม็ดเล็กๆ สีขาวกวนให้สุกใส่น้ำตาลเมื่อจะกินตักน้ำกะทิราด หรือไม่ก็นำไปทำเป็นสาคูไส้หมูของว่างที่หลายคนชื่นชอบ แป้งสาคูที่วางขายทั่วไปตามท้องตลาดนั้นแท้จริงแล้วเป็นของทำขึ้นเลียนแบบ ไม่ใช่แป้งสาคูแท้ๆ แต่เป็นแป้งมันสำปะหลัง
สาคู เป็นพืชวงปาล์ม(PALMAE) ลาน(Corypha spp.) ต้นสูงใหญ่ เกิดในพื้นที่พรุ น้ำท่วมถึง ในเขตร้อนชื้น บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรของทวีปเอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิก มี 2 ประเภท คือสาคูยอดขาว (Metroxylon rumphii Rottb.) และสาคูยอดแดง (Metroxylon sagus Rottb.) ต้นสาคูในประเทศไทยจะเป็นสาคูยอดแดง พบกระจายทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ ลำต้นสูงใหญ่ คล้ายต้นมะพร้าว สูงเต็มที่ประมาณ 10-12 เมตร เมื่ออายุประมาณ 10-12 ปี จะออกช่อดอกที่ปลายยอด ช่อดอกหรือทะลายนี้มีลักษณะเหมือนเขากวาง ลูกคล้ายลูกหลุมพี เมื่อออกดอกผลแล้วต้นจะตายเหมือนกับต้นลาน จะเกิดต้นใหม่ได้ทั้งจากการเพาะเมล็ด และจากรากที่แตกแยกออกจากเหง้าต้นเดิม ในป่าสาคูนั้นจะมีต้นเล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย
กินเปลี่ยนโลกได้มีโอกาสไปเยือนป่าสาคู บ้านพรุ ต.ควนขนุน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยมีคุณบอย พิชัย ทิพย์มาก เอื้อเฟื้อให้ความรู้ เรื่องราว คนทำแป้งสาคูให้เราฟัง ป่าสาคูบ้านหัวพรุผืนนี้ น่าจะเป็นป่าสาคูผืนใหญ่ ผืนท้ายๆ ของพัทลุงแล้ว เช่นเดียวกับจำนวนคนที่ทำแป้งสาคูเป็นอาชีพ
พื้นที่ 80 ไร่ ที่ยังมีสภาพเป็นป่าพรุ แน่นขนัดไปด้วยต้นสาคู ใหญ่น้อย เมื่อเราก้าวเข้าไปจากภายนอกที่อากาศร้อนแดดแรง ในป่าสาคูอากาศเย็นสบาย ป่าผืนนี้เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านหัวพรุ หลายครอบครัว ครอบครัวของบอย เป็นครอบครัวหนึ่งที่ยังยึดอาชีพผลิตแป้งสาคูและเย็บตับจากจากก้านและใบของสาคูขายตับ
ต้นสาคูต้องอายุ 9 ปี ขึ้นไปจึงจะเริ่มมีแป้ง สังเกตุได้จากการมองที่ปลายยอดว่าใบเริ่มสั้นลง และแทงช่อดอกออกมา สาคูต้นหนึ่งๆ สามารถผลิตแป้งสาคูได้หลายร้อยกิโลกรัม แล้วแต่อายุยิ่งแก่ยิ่งให้แป้งมาก วิธีการสกัดแป้งจากต้นสาคูของชาวควนขนุนทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน คือ
– เลือกต้นสาคูที่แก่จัดแล้ว จะเลื่อยลำต้นเป็นท่อนๆ ท่อนละ 1 เมตร แล้วฝ่าเป็น 4 ซีก
– จากนั้นขูดเอาเนื้อในของลำต้นมาแช่น้ำ
– คั้นเหมือนคั้นน้ำกะทิ เพื่อให้แป้งที่สะสมอยู่กับเนื้อเยื่อลำต้นหลุดออกมามากที่สุด
– จากนั้นกรองเอากากออก น้ำแป้งที่ได้ จะเป็นสีแดงเรื่อๆ และรสยังฝาดอยู่
– จึงต้องล้างน้ำและรินทิ้งประมาณ 2-3 น้ำ หรือล้างจนน้ำเริ่มใส รินน้ำออก
– แล้วนำมาใส่ถุงผ้าดิบแล้วใช้หินหนักๆ ทับไว้ 1 คืน เพื่อรีดน้ำออกมากที่สุด
– ค่อยเอาแป้งที่ได้มาผึ่งพอหมาด แล้วร่อนให้เป็นเม็ดกลมๆ ด้วยกระด้งและความชำนาญของผู้ร่อน
– แล้วจึงนำเม็ดแป้งที่ร่อนแล้วไปตากแดดจนแห้งสนิทจึงเป็นใส่ภาชนะมิดชิด
เมล็ดแป้งสาคูต้นจะมีสีขาวอมชมพูสวยงาม เก็บไว้ใช้ได้นาน นอกจากทำของหวาน เป็น เปียกสาคูน้ำกะทิ สาคูต้นกวน แป้งสาคูก็สามารถนำมาทำอาหารคาวแทนแป้งมันได้ด้วย เนื้อแป้งเหนียวใส ไม่คืนตัว
“แป้งสาคูต้นยายฉุย” คือแบรนด์ที่คุณบอยใช้เมื่อนำแป้งไปจำหน่ายในตลาดหรือขายออนไลน์ ถุงละประมาณ 300 กรัม ราคาถุงละ 50 บาท มีวิธีปรุงขนมสาคูกวนให้พร้อม แต่ถ้าใครมาซื้อถึงบ้าน ตักขายราคากิโลกรัม 100 บาท เท่านั้น หรือถ้าใครมีโอกาสผ่านไป อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ลองติดต่อแวะไปเยี่ยมชมป่าสาคูของจริงก็ย่อมได้ ที่ตลาดควนขนุนเองก็มีแป้งสาคูให้พอได้ซื้อ ลองสอบถามจากแม่ค้าในตลาดว่าร้านไหนมีแป้งสาคูต้นขายบ้าง หรือหากไปเช้าๆ จะมีป้าๆ ยายๆ กวนสาคูต้นมานั่งขายให้กินกันด้วยนะคะ
แป้งสาคูต้น เป็นคำเรียกติดปากของคนควนขนุน เพื่อจำแนกแยกแยะให้ชัดเจนว่าไม่ใช่แป้งสาคูมันสำปะหลัง ขนมที่ทำจากแป้งสาคูต้นจะมีสีชมพูอมแดงเป็นเอกลักษณ์ รสสัมผัสนุ่มเหนียว กลิ่นหอมเฉพาะตัวถูกปากถูกใจคนพื้นถิ่นและแขกผู้มาเยือน
เมื่อออกจากป่าสาคู เรามานั่งเล่นพูดคุยกันต่อที่ศาลาข้างบ้านของคุณบอย จึงได้ชิมขนมสาคูต้นกวนใหม่ๆ ราดน้ำกะทิสดๆ ฝีมือคุณเบียร์ วรรณวิภา ทิพย์มาก แฟนคุณบอยนั่นเอง สาคูเหนียวนุ่มหอมหวาน กับกะทิสดรสเค็มๆ ชิมกันไปหลายถ้วย ตักซ้ำกันจนหมดหม้อทีเดียว
สำหรับท่านที่สนใจอยากชิมสาคูต้นกวนของคุณเบียร์ ทุกวันเสาร์จะมีจำหน่ายที่ ป่าไฝ่สร้างสุข อ.ควนขนุน จ.พัทลุง มีแป้งสาคูจำหน่ายด้วย แต่ถ้าใครอยู่ไกลอยากจะได้แป้งสาคูแท้ๆ มาลองกวนเองที่บ้าน เข้าไปสอบถามได้ที่เพจแป้งสาคูยายฉุย ค่ะ
ปัจจุบันป่าสาคูลดจำนวนพื้นที่ลงอย่างต่อเนื่อง จากการบุกเบิกพื้นที่ทำการเกษตร สร้างที่อยู่อาศััย พร้อมๆ กันกับจำนวนคนทำแป้งสาคู ทั้งที่แป้งสาคูแท้กินอร่อย แต่คนรุ่นใหม่หรือคนในภาคอื่นๆ ก็แทบไม่รู้จักแป้งสาคูต้นกันแล้ว