ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ ผู้ที่ไปงานเลี้ยงคงได้กินอาหารจานพิเศษกันเอร็ดอร่อย แต่เมื่อเทศกาลเฉลิมฉลองผ่านพ้น ก็คงต้องกลับมากินอาหารตามปกติกันอีกครั้ง
ในกลุ่มของ “เด็กหอ” แล้ว เรื่องอาหารการกินก็มักจะทำกันง่ายๆ กินกันง่ายๆ อาหารยอดฮิตก็คงไม่พ้น “บะหมี่สำเร็จรูป” ที่ชาวหอมักใช้เป็นเมนูฝากท้อง
แต่การรับประทานอาหารสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ชาวหอทั้งหลาย ที่อยู่ในวัยกำลังกิน กำลังโต กำลังเรียน ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดผลเสีย “มากกว่า” ผลดี
กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จึงจัด “MU Campus Kitchen ตามล่า…สุดยอดเมนูชาวหอ” เป็นการแข่งขันทำอาหารสไตล์ชาวหอ สนับสนุนให้นักศึกษาลงมือทำอาหารกินด้วยตัวเอง และให้เรียนรู้การกินอาหารอย่างมีคุณค่าทางโภชนาการ ผ่านกิจกรรม และบรรยากาศการเรียนรู้
กิจกรรมนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ให้กับนักศึกษาที่มีใจรักการทำอาหาร มีโอกาสแสดงฝีมือ สร้างสรรค์อาหารที่ชอบให้มีคุณค่าทางโภชนาการ ใช้อุปกรณ์ที่มีเพียงไมโครเวฟ ใช้ผักปลอดสารพิษ เครื่องปรุงและวัตถุดิบแบบง่ายๆ ที่หาได้ตามร้านสะดวกซื้อ มาสร้างสรรค์เป็นสุดยอดเมนูอาหาร
นายปรีชา สุนทรานันท์ รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ บอกว่า กิจกรรมนี้จะพัฒนาคุณภาพชีวิตนักศึกษาที่ไม่เพียงมุ่งเน้นการส่งเสริมให้นัก ศึกษาหันมาทำอาหารกินเอง แต่คาดหวังว่าจะช่วยทำให้นักศึกษากินได้ถูกหลักโภชนาการ โดยใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพเป็นส่วนประกอบ เช่น ผักในแปลงผักเกษตรอินทรีย์ในรั้วมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการรู้จักเลือกใช้วัตถุดิบที่หาง่ายตามร้านค้าทั่วไป และดีต่อสุขภาพมาเป็นส่วนประกอบของอาหารในแต่ละมื้อ
“ชีวิตของนักศึกษาต้องเรียนหนัก มีการบ้านให้ทำจนต้องอยู่ดึกกันบ่อยๆ และกฎรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยก็ห้ามให้เด็กออกจากหอเกิน 5 ทุ่ม ดังนั้น การประกอบอาหารในหอพักจึงเป็นสิ่งสำคัญ อาหารตอนดึกคืออาหารสำเร็จรูป และมาม่า ส่วนใหญ่มักจะซื้ออาหารกินเอง น้อยมากที่จะทำอาหารกินกัน เพราะนักศึกษาจะมองว่าการอยู่หอพักมีข้อจำกัด ทั้งเครื่องมือ และอุปกรณ์ กิจกรรมนี้เราพยายามกระตุ้นให้นักศึกษา ก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้น ทำให้เห็นว่าด้วยเวลาเพียง 15-20 นาที และใช้อุปกรณ์ไม่กี่อย่างที่มี ก็สามารถทำอาหารกินเองได้ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ” รองอธิการบดี กล่าว
1. แปลงผัก
2. หนุ่มสาวชาวหอ
3. กรรมการสอบถาม
4. นำเข้าเตาไมโครเวฟ
5. เดินให้คะแนน
6. วิรชา รัตนไพโรจน์กุล
7. วิศัลยา พรเจริญทรัพย์
8.-9. อาหารที่ทำเสร็จแล้ว
10. ปรุงอาหาร11. ผักสดๆ จากแปลง
การแข่งขันครั้งนี้มีผู้สมัคร 16 ทีม ในรอบแรกจะให้ทุกทีมทำอาหารในเมนูที่คิดขึ้นภายใต้โจทย์ “สุดยอดอาหารจานเส้น” และจะมีกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารตัดสินให้เหลือ 3 ทีมสุดท้าย ในการประชันฝีมือในการแข่งขันรอบสุดท้ายนั้นจะยากขึ้นภายใต้โจทย์ “สุดยอดเมนูอาหารสำหรับงานเลี้ยง” ในรอบสุดท้ายนอกจากจะให้กรรมการตัดสินแล้ว ยังมีตัวแทนนักศึกษาที่สมัครเข้ามาอีกกว่า 40 คน ร่วมให้คะแนนหาผู้ชนะในการทำอาหารด้วย
2 ผู้เข้าแข่งขันจากทีม “Oh Na Ra” นายจตุพร มีศิลป์ วัย 18 ปี หรือ เอ และ นายณัฐพล นพพรเจริญกุล วัย 19 ปี หรือ บูม นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ เจ้าของเมนู “มาม่าราเมน” บอกถึงเมนูอาหารที่ทำว่า เมนูนี้เราสองคนคิดค้นสูตรขึ้นเอง อุปกรณ์และเครื่องปรุงก็ไม่มีอะไรมาก ใช้มาม่าแทนเส้นราเมน แล้วผสมกับไข่ไก่ ใส่เนื้อหมูลงไปบ้างแล้วเข้าไมโครเวฟ
“เราสองคนตั้งใจจะมาแข่งในกิจกรรมครั้งนี้โดยเฉพาะ เพราะชอบทำอาหารอยู่แล้ว วันไหนว่างก็ทำอาหารง่ายๆ กินเองในหอพัก เป็นการเปลี่ยนรสชาติอาหารจากที่กินอยู่ทุกวันบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะต้องมีผัก ไข่ไก่เป็นส่วนประกอบด้วย ไม่ ใช่มีแต่เนื้อสัตว์อย่างเดียว” 2 หนุ่มจากคณะวิทยาศาสตร์ กล่าว
ด้านทีม “ทาโรริโอพั้นช์” น.ส.วิศัลยา พรเจริญทรัพย์ หรือ แพรว และ น.ส.วิรชา รัตนไพโรจน์กุล หรือ เอม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก็เป็นอีกทีมหนึ่งที่มีสูตรการปรุงอาหารที่ไม่เหมือนใคร
แพรว บอกว่า ทีมของเราทำมาม่าคาโปนาร่า คือใช้เส้นมาม่าแทนเส้นสปาเกตตี ส่วนประกอบอื่นๆ มีชีส นมข้น ไข่ไก่ ที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ปกติแล้วไม่ได้ทำอาหารกินเอง จะหาซื้อตามร้านค้ามากกว่า แต่หากเพื่อนๆ อยู่หลายคนก็จะทำกินบ้าง ส่วนอาหารจานนี้เราสองคนคิดขึ้นเอง และเคยลองทำแล้วรสชาติดี จึงนำมาดัดแปลง ให้ดีขึ้น มีเคล็ดลับคือเพิ่มชีสเข้ามาในสปาเกตตีด้วย แต่ก็ไม่ลืมใส่ผักลงไปด้วย
“เรา ลงแข่งในครั้งนี้ก็ไม่ได้หวังที่จะชนะ แต่ชอบทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เวลามีกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยทุกครั้งก็จะเข้าร่วม ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับผู้ร่วมเข้าแข่งขันในการประกอบอาหาร และที่สำคัญที่สุดได้มาเจอกับเพื่อนใหม่ๆ ด้วย” แพรว กล่าว
ในรอบสุดท้ายตัดสินให้เหลือเพียง 3 ทีม โดยทุกทีมต้องแสดงฝีมือในการทำอาหารสำหรับงานเลี้ยง ในที่สุดกรรมการก็ตัดสินให้ทีม “Delicious Wings” ที่มีนายธนัท สังวาลเพชร หรือ กอช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาลัยศาสนศึกษา และนายธนธัช ดีวาส หรือ ตอง นักศึกษาชั้นปี 3 คณะวิทยาลัยนานาชาติ สาขาการตลาด เป็นผู้ชนะเลิศสุดยอดเมนูชาวหอ
นายธนัท บอกว่า เราทั้งสองคนเป็นเด็กหอ พวกผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องของการเอาวัตถุดิบ ที่สามารถสรรหาได้ในรั้วมหาวิทยาลัยมาประกอบเป็นอาหารชาวหอ การได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ให้ได้ทั้งประสิทธิภาพ และประสิทธิผล พวกผมชอบหาประสบการณ์ในการพัฒนาตนเองด้วยการทำกิจกรรม และเห็นว่ากิจกรรมนี้น่าสนุก เลยชวนกันมาแข่ง
“ดีใจที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เมนูอาหารที่ทำรอบแรกชื่อ “The wing of colors” คือยำวุ้นเส้นใส่ไส้กรอกกับหมูยอ ส่วนเมนูที่ทำในรอบชิงชนะเลิศ ชื่อ “Happy with Friends” เป็นยำหอยลายกระป๋องกับแหนม เคล็ดลับในการปรุงยำวุ้นเส้นจานนี้ คือ น้ำมะนาวสด 4 ช้อนโต๊ะ น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ ใส่พริกตามความเหมาะสม แล้วคนให้เข้ากัน จึงค่อยนำไปผสมกับวุ้นเส้น ไส้กรอก หมูยอ มะเขือเทศ พริกหวานสามสี ออกมาเป็น ยำวุ้นเส้นใส่ไส้กรอกกับหมูยอ ส่วนในเมนูรอบชิงชนะเลิศ ก็ใช้หอยลายกระป๋องกับแหนม แทนวุ้นเส้น ไส้กรอก หมูยอ ที่เหลือก็เป็นผักเหมือนเดิม แล้วจัดใส่จาน” ธนัท เล่า
สิ่งที่คิด ว่าทำให้ชนะใจกรรมการนั้น ธนธัช บอกว่าคงเป็นรสชาติที่เปรี้ยว และเผ็ดนำ และยำ เป็นเมนูที่พวกเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ที่สำคัญคือหลักโภชนาอาหารที่ดี โดยเราเลือกใช้วุ้นเส้นแทนเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผักที่ผ่านการปรุงโดยไม่ใช้ความร้อนทำให้คงความสด ไม่เสียคุณค่าทางอาหาร และความสะอาด ทั้งตัวอาหาร และภาชนะที่ใช้
“ปกติแล้วที่บ้านผมชอบทำ อาหารเอง มีพ่อคอยแนะนำผมกับแม่ การทำอาหารเองบางทีอาจจะแพงกว่าซื้อตามร้าน แต่ผมก็มั่นใจว่าเรากินอาหารที่สะอาด แต่ตอนอยู่หอจะซื้อกินเป็นส่วนใหญ่ กิจกรรมนี้ช่วยส่งเสริม และกระตุ้นให้นักศึกษาหันมาใส่ใจเรื่องการทำอาหารภายในหอมากขึ้น โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ในการทำอาหารที่หลากหลาย และเป็นเมนูที่อร่อย ถือว่าช่วยสร้างสีสัน และกระตุ้นสำนึกให้นักศึกษาสนใจสุขลักษณะนิสัยการกิน ในการใช้ชีวิตอยู่หอที่ไม่มีผู้ปกครองมาคอยดูแลเรื่องนี้” ตอง กล่าว
เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องการกินอยู่ของนักศึกษาชาวหอ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ที่มา: ณัฐพงษ์ บุณยพรหม ข่าวสด 30-12-53