เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์มาแล้วที่สื่อมวลชนไทย โดยเฉพาะสื่อทีวี โหมประโคมข่าวเรื่องสภาพอากาศที่เลวร้ายของจังหวัดเชียงใหม่และอีกหลาย จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วโยงมาสู่ข้อสรุปอย่างมักง่ายว่ามีสาเหตุจาก
“การเผาป่า” ตอกย้ำความน่าเชื่อถือของข่าวด้วยการบินสำรวจพบการเผาพื้นที่เกษตร (ซึ่งไม่ใช่การเผาป่า?) กระจาย อยู่เป็นหย่อม ๆ การรายงานจำนวนผู้เจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น การแสดงทัศนียภาพของเชียงใหม่ที่ขมุกขมัวไม่เจริญหูเจริญตา และรายงานจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงโดยเฉพาะใน ช่วงเทศกาลพืชสวนโลก ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ
ข้อสรุปมักง่ายดังกล่าวถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทำให้ผู้คนจำนวนมากในสังคมเชื่อไปแล้วอย่างง่าย ๆ ทั้งยังช่วยประณามซ้ำเติม “คนเผาป่า” แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลหลักฐานใดมายืนยัน
ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธว่าสถานการณ์หมอกควันในเชียงใหม่ไม่ได้เกิดขึ้น หรือไม่ได้มีสภาพเลวร้ายดังที่เป็นข่าว เพียงแต่พยายามจะชี้ว่าการด่วนสรุปถึงสาเหตุของปัญหาและเหมารวมว่าสถานการณ์ นี้ทำให้เกิดเรื่องแย่อื่น ๆ อีกมากมายตามมาเป็นการสรุปอย่างมักง่ายเกินไปและไม่เป็นธรรมกับผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของปัญหา ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเองก็ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เช่นกัน
สารแขวนลอยมาจากไหน
ปริมาณสารแขวนลอยในอากาศมีมากเกินค่ามาตรฐานจริง ไม่มีใครปฏิเสธเพราะมีตัวเลขจากการตรวจวัดอย่างเป็นระบบ แต่อะไรคือสิ่งยืนยันว่าสารแขวนลอยดังกล่าวเกิดมาจาก “การเผาป่า” มิ ใช่อย่างอื่น เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์ การเผาขยะ การเผาในกระบวนการอุตสาหกรรม การเผาพื้นที่เกษตร หรือแม้แต่ไฟป่าที่ไม่มีใครจงใจเผา?
เท่าที่ผู้เขียนทราบ มีรายงานวิจัยฉบับหนึ่งที่อ้างต่อๆ กันมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2552 คือรายงานวิจัยของภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สรุปว่าหมอกควันและมลพิษต่าง ๆ นั้นเกิดจากการเผาป่าและการเผาเพื่อทำการเกษตร 70-80% จากสาเหตุอื่น ๆ รวมกัน ขณะที่สาเหตุจากการจราจรมีเพียงประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังไม่สามารถเข้าถึงงานวิจัยดังกล่าวจึงยังคงสงสัยถึงวิธีการศึกษา อันนำไปสู่ข้อสรุปนั้น
หน่วยงานเกี่ยวกับการป่าไม้มีการทำแผนที่ hot spot โดย ใช้ดาวเทียมตรวจวัดและแสดงตำแหน่งที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติซึ่งเชื่อว่าเป็น พื้นที่ที่มีไฟเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของวัน กระนั้นก็ตาม การอ่านค่า hot spot ก็ ยังไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไฟในบริเวณดังกล่าวเป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นเอง ไฟจากการจงใจเผาป่า ไฟจากการเผาไร่ หรือไฟจากสาเหตุอื่น ๆ ทั้งยังบอกไม่ได้เลยว่าการเผาแต่ละแห่งนั้นทำให้เกิดหมอกควันในปริมาณมากเท่าไร เป็นพิษเท่าใด ฟุ้งกระจายไปในทิศทางใด และเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไรกับสภาวะหมอกควันในภาคเหนือในขณะนี้ นอกเสียจากจะใช้วิธีต่อจิ๊กซอว์เชื่อมโยงข้อมูลจากที่นั่นไปที่นี่แล้ว แล้วอนุมานกันไป
สมมติว่าการเผาป่าและพื้นที่การเกษตรเป็นสาเหตุหมอกควันดังว่าจริง ๆ การเก็บข้อมูลในปีก่อน ๆ เช่น จากรายงานของภาควิชาฟิสิกส์ข้างต้น จะนำมาใช้สรุปเหมารวมเพื่อชี้สาเหตุของหมอกควันในทุก ๆ ปีต่อมาได้หรือไม่ ? และอัตราการเผาสัมพันธ์หรือไม่อย่างไรกับความกดอากาศสูงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้? มี ใครเคยเก็บข้อมูลทางสถิติแล้วหรือไม่ว่าอัตราการเผา ไร่ นา เพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรในภาพรวมของภาคเหนือนั้นมีเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงอย่าง ไรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา? เป็นไปได้ไม่ว่าอัตราการเผาน้อยลงหรือเท่าเดิม แต่สภาพความกดอากาศสูงเฉพาะช่วงเวลาจึงทำให้เกิดสถานการณ์แบบที่เป็นอยู่? นอกเหนือจากการเกิดไฟป่า-เผาป่าที่มักเกิดมากในฤดูแล้ง การ เผาไม่ว่าจะเพื่อการเกษตร การเผาขยะ หรืออื่น ๆ ก็เกิดขึ้นตลอดปี มากน้อยต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เกษตรกรหลายพื้นที่ทำการเกษตรปีละหลายหน และอาจต้องเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรหลายหนตามไปด้วย แต่เหตุใดหมอกควันจึงปรากฏให้เห็นทั่วเมืองเฉพาะในช่วงเวลานี้?
หากจะประเมินกันแบบยังไม่มีสถิติ ด้านหนึ่งอาจเห็นว่าอัตราการเผาพื้นที่เกษตรเพื่อทำไร่มีเพิ่มขึ้น เพราะเกษตรกรในบางพื้นที่หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เช่น อำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ปรากฏว่าในหลายพื้นที่มีการอพยพแรงงานจากภาคเกษตร/ชนบทเข้า สู่เมืองมากขึ้นไม่ว่าจะเพื่อเรียนหนังสือหรือเพื่อทำงานนอกภาคการเกษตร พื้นที่เกษตรหลายแห่งถูกเปลี่ยนไปเป็นบ้านจัดสรร แหล่งท่องเที่ยว รีสอร์ท ฯลฯ และหลายแห่ง เช่น ในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่มีการเปลี่ยนพื้นที่ไร่นาเป็นสวนไม้ผล เช่น ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง ฯลฯ ซึ่งไม่ต้องเผาพื้นที่ในบริเวณกว้างหรือใช้ความร้อนสูงเหมือนการทำไร่ หลายแห่งทำไร่หมุนเวียนลดน้อยลงทำให้ไม่ต้องโค่น ถาง และเผาพื้นที่ก่อนทำการเพาะปลูกเหมือนในอดีต และที่สำคัญเดือนต้นเดือนมีนาคมเช่นนี้เป็นฤดูการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรหรือไม่ ?
คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่ต้องการข้อมูลและคำอธิบายอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะด่วนสรุปอย่างมักง่ายว่าหมอกควันที่เกิดขึ้นตอนนี้เกิดจากน้ำมือ ของเกษตรกร
โรคจากระบบทางเดินหายใจที่ไม่เกี่ยวกับหมอกควัน
จำนวนคนเจ็บป่วยจากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจถูกรายงานอย่างต่อเนื่องเพื่อตอก ย้ำความเลวร้ายของสภาพอากาศ โดยที่สื่อมวลชนหรือใครก็ตามมักสรุปสาเหตุความเจ็บป่วยอย่างมักง่ายด้วยการ เชื่อมโยงไปกับสถานการณ์ปัญหาหมอกควันในเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือ ทั้ง ๆ ที่ในทางการแพทย์เองก็ยังไม่สามารถสรุปอย่างฟันธงลงไปได้ว่าโรคบางชนิดเกิด จากสาเหตุอะไร เป็นเพราะปัจจัยทางพฤติกรรม พันธุกรรม หรือสภาวะแวดล้อมแบบใด เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคบางอย่างนั้นมีมากมายจนนับได้มิรู้จบ ดังนั้น ในทางการแพทย์จึงมักชี้เพียงความเสี่ยง หรือสถิติแนวโน้มที่ “อาจ” เป็นไปได้เท่านั้นเอง เช่น มีแนวโน้มว่าผู้สูบบุหรี่มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
ผู้เขียนเองก็เพิ่งจะฟื้นจากอาการไอต่อเนื่องและหลอดลมอักเสบที่เรื้อรังอยู่เกือบสองสัปดาห์ เมื่อบอกว่าผู้เขียนเป็นคนเชียงใหม่หลายคนก็อาจสรุปกันง่าย ๆ ว่าผู้เขียนเจ็บป่วยเพราะหมอกควันพิษ แต่ปรากฏว่าช่วงเวลาที่เริ่มมีอาการเจ็บป่วยผู้เขียนไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ใน พื้นที่ภาคเหนือเลย ทั้งยังรู้ตัวเองว่ามีพฤติกรรมพักผ่อนน้อย ใช้เสียงมากอย่างต่อเนื่อง เดินตากแดด และไปคลุกคลีกับผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับหมอกควันเชียงใหม่แม้แต่น้อย นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่ผู้เขียนรู้จักเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทาง เดินหายใจในช่วงเวลาเดียวกันโดยที่พวกเขาอาศัยอยู่ในจังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เกี่ยวกับหมอกควันในภาคเหนือเลย นั่นหมายความว่าความเจ็บป่วยจากระบบทางเดินหายใจที่คนเชียงใหม่และคนในภาค เหนือเป็นกันมากในขณะนี้ก็ “อาจ” จะไม่เกี่ยวกับภาวะหมอกควันได้ด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าความเจ็บป่วยกับหมอกควันจะสัมพันธ์ในทางสถิติอย่างไรก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือความตื่นตระหนกต่อความเจ็บไข้ได้ป่วยของ ประชาชนในช่วงเวลาที่เกิดหมอกควันหลายปีที่ผ่านมาได้ทำให้ สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นแพทย์อนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลให้แก่ สถาบันวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน ในการทำงานศึกษาวิจัยและปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเป็นระบบ แต่แล้วเมื่อผ่านมา 2-3 ปี เมื่องบประมาณหลายสิบหลายร้อยล้านได้ถูกบริหารจัดการให้ค่อย ๆ หมดไปตามกรอบของแผนงานที่เขียนไว้ ปัญหาหมอกควันก็ได้ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกและดูราวกับจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม (ยกเว้นสองปีที่ผ่านมาที่มีฝนตกในช่วงต้นฤดูแล้งทำให้ไม่เกิดปัญหาหมอกควัน) นั่นหมายความว่างบประมาณที่หมดไปยังไม่อาจทำให้มองเห็นถึงมรรคผลอย่างเป็นรูปธรรม
ความหมายของ “การเผา” กับอำนาจในการอธิบายที่ไม่เท่ากัน
สมมติว่า “การเผาไร่ นา ป่า” โดย “ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา ชาวป่า ชาวเขา” เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาหมอกควันดังข้อกล่าวหาจริง สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ “การเผา” ดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่โตก็เพราะถูกอธิบายว่าเป็นการเผาจาก “ความไม่รู้ โง่ เขลา ไร้การศึกษา ไร้จิตสำนึก” ทั้งที่การเผาดังกล่าวไม่ว่าจะเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร หรือเพื่อเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ ฯลฯ เป็นไปเพื่อการทำมาหากินของคนยากคนจนที่ไม่ค่อยมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มากนักเมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า มีระดับการศึกษาสูงกว่า หรือมีเครือข่ายทางสังคมมากกว่า
ในทางตรงกันข้าม การเผาเชื้อเพลิงของคนในเมือง คนชั้นสูง หรือนายทุน ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหมอกควันด้วยเช่นกันกลับถูกอธิบายว่าเป็นการ เผาเพราะความจำเป็น โดยผ่านการใคร่ครวญแล้วอย่างดีของผู้มีการศึกษา หรือแม้แต่เป็นการเผาในกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การเผาเชื้อเพลิงเพื่อเดินทางท่องเที่ยว ทำธุรกิจการค้า หรือการผลิตในกระบวนการอุตสาหกรรม รวมถึงการก่อให้เกิดหมอกควันพิษของเหมืองแร่ลิกไนต์ เหมืองหิน และเหมืองอื่น ๆ และแม้กระทั่งการเผาเชื้อเพลิงในบางลักษณะยังถูกอธิบายว่าเป็นการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมมากกว่าจะเป็นการทำลายเสียอีก เช่น การใช้รถยนต์อีโคคาร์ หรือรถยนต์ไฮบริด เป็นต้น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “การเผา” ที่ อาจสร้างมลพิษทางอากาศไม่ต่างกัน หรือแม้แต่อย่างหลังอาจเป็นพิษมากเสียกว่าการเผาหญ้าหรือเศษใบไม้ ได้ถูกสังคมอธิบายและตีค่าตัดสินแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผู้ที่มีพลังอำนาจในการอธิบายปัญหาในบ้านนี้เมืองนี้ เป็นคนในเมืองซึ่งย่อมจะไม่อธิบายว่าตนเองเป็นสาเหตุของปัญหาแน่ ๆ แต่จะกล่าวหากลุ่มคนที่ด้อยอำนาจมากกว่าว่ากำลังสร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง และผู้อื่นในสังคม
แม้ว่าผู้เขียนจะยังไม่สามารถหาตัวเลขมายืนยันได้ในขณะที่เขียนบทความฉบับนี้ แต่เป็นที่ทราบกันว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่และ จังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือในรอบหลายเดือนที่ผ่านมามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาก นักท่องเที่ยวและชาวเชียงใหม่เองต่างรับรู้ถึงความหนาแน่นของผู้คนและการติด ขัดของการจราจรในถนนเกือบทุกสายในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างดี มีตั้งแต่มีผู้ที่หนีภัยน้ำท่วมมาจากภาคกลาง ผู้ที่มาเที่ยวงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จัดต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน บัณฑิตและญาติมิตรที่มาร่วมแสดงความยินดีในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ในเดือนมกราคม และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงนักท่องเที่ยวขาประจำและขาจรที่นิยมมาเที่ยวเชียงใหม่และภาคเหนือใน ทุกช่วงฤดูหนาว เป็นต้น เมื่อเกิดภาวะหมอกควันในขณะนี้จึงทำให้ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่าการเผาไหม้ เชื้อเพลิงจากการเดินทางและกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวจะทิ้งมลพิษและสารแขวนลอยในอากาศตกค้างสะสมไว้ในแอ่ง เชียงใหม่-ลำพูนแล้วค่อยมาออกฤทธิ์ออกเดชในช่วงที่ความกดอากาศสูงเช่นนี้ ด้วยหรือไม่? มีใครใคร่จะศึกษาข้อมูลสถิติในประเด็นนี้เพื่อเชื่อมโยงกับการอธิบายสาเหตุปัญหาหมอกควันในภาคเหนือด้วยหรือเปล่า? นอกจากจะพุ่งเป้าเอาแต่โจมตี “คนเผาป่า” ซึ่งไม่มีอำนาจจะลุกขึ้นมาอธิบายแก้ต่างให้ตนเอง
คำถามที่ยังไม่มีใครตอบ
บทความฉบับนี้เขียนขึ้นโดยไร้ข้อมูลเชิงประจักษ์ สถิติ หรือหลักฐานใด ๆ เพราะมิได้ต้องการที่จะสร้างข้อสรุป หรือมีข้อเสนอใด ๆ สำหรับการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาค เหนือ ผู้เขียนเพียงต้องการตั้งข้อสังเกตต่อ “ข้อสรุป” ถึงต้นตอของปัญหาหมอกควันว่าเกิดจาก “การเผา” ของ “ชาวบ้าน” หรือ “ชาวป่า” แฝงนัยว่าพวกเขาเป็น “พวกไม่มีการศึกษา ไร้จิตสำนึก เห็นแก่ตัว ฯลฯ”โดยไม่คำนึงถึง “ส่วนรวม” โดย ชี้ให้เห็นว่าการด่วนสรุปดังกล่าวเองก็ปราศจากข้อมูลเชิงประจักษ์ หรือหลักฐานยืนยันที่หนักแน่นมากพอด้วยเช่นกัน ไม่ว่าการสรุปเช่นนั้นจะกระทำโดยสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือประชาชนทั่วไปก็ตาม ต่างก็เป็นข้อสรุปที่ “ง่ายเกินไป” และ นำไปสู่การกล่าวหากลุ่มคนที่ด้อยอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม โดยที่กลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาไม่มีพลังอำนาจมากพอในการลุกขึ้นมาอธิบายข้อเท็จ จริงในมุมมองของตนเอง
ที่มา: สำนักข่าวประชาธรรม วันที่ 12 มีนาคม 2555 โดย อัจฉรา รักยุติธรรม http://www.prachatham.com/detail.htm?code=r1_12032012_01
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”