คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล “น้ำประปาดื่มได้” เผย มหิดลร่วมกับกปน. ทำโครงการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ตั้งแต่ปี 2542 ผลการศึกษาในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ศึกษาแล้ว 10 สาขามันใจว่าคุณภาพการผลิตน้ำประปาผู้บริโภคในครัวเรือนสามารถบริโภคเป็น “น้ำประปาดื่มได้” โดยมีอีก 5 สาขาที่จะต้องขยายผลศึกษาให้ครบพื้นที่บริการของกปน.
รศ.นพ.ดร. พิทยา จารุพูนผล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า จากการที่การประปานครหลวง (กปน.) ได้ประสานความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำประปา ภายใต้โครงการ “น้ำประปาทุกที่คุณภาพดีดื่มได้” ตั้งแต่ปี 2542 หรือกว่า 10 ปีโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกปี 1993 ปัจจุบัน กปน. ได้ขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนมาใช้เกณฑ์มาตรฐาน 2006 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพอนามัยผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการวิเคราะห์ ตลอดจนคุณภาพของน้ำประปา สอดคล้องกับสโลแกนของ กปน. ที่ว่า “น้ำประปาดื่มได้”
สำหรับกระบวนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำประปา คณะสาธารณสุขศาสตร์ได้ส่งทีมงานภาคสนามไปเก็บตัวอย่างในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดที่จะแจกจ่ายน้ำ จุดที่พักน้ำ และจุดที่ใช้ในการส่งน้ำไปยังผู้บริโภค รวมทั้งตามบ้านผู้ใช้น้ำที่ไม่ผ่านถังพัก เครื่องกรอง และเครื่องปั๊มน้ำ ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างอย่างมีระบบ และมีระยะเวลาการเก็บตัวอย่างแต่ละครั้งห่างกันมากกว่าหนึ่งสัปดาห์
โดยต้องเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจ 3 ครั้ง และต้องตรวจผ่านทั้ง 3 ครั้ง และหากเป็นพื้นที่ที่เป็นที่พักน้ำ จะทำการเก็บตัวอย่างเดือนละครั้ง เพื่อติดตามประเมินกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้มายังห้องปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่ง
และเนื่องจากพื้นที่ให้บริการของ กปน. มีความเป็นชุมชนเมืองมากขึ้น การใช้เกณฑ์มาตรฐานตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกปี 2006 ที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดต่างๆ จึงสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงของมลภาวะอย่างมาก
ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าว เป็นเกณฑ์มาตรฐานระดับสากลที่ทุกประเทศดำเนินการอยู่ โดยมีตัวชี้วัดที่มีความสำคัญ คือ สารไตรฮาโลมีเทน (Trihalomethane) หรือ สารก่อมะเร็ง
การตรวจสอบดังกล่าว ครอบคลุมทั้งด้านกายภาพ ได้แก่ ความขุ่น กลิ่น สี และสารแขวนลอย, ด้านฟิสิกส์และเคมี โดยใช้พารามิเตอร์หรือตัวชี้วัดจำพวกโลหะหนัก อาทิ แคดเมียม ตะกั่ว และสารหนูต่างๆ, ด้านชีวภาพ แบคทีเรียต่างๆ จะเน้นไปที่สารปนเปื้อน เช่น การตรวจอีโคไล ซึ่งหากมีการตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย จะมีการเพาะเชื้อ เพื่อตรวจสอบต่อไป
และเนื่องจากปัจจุบันมีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในการทำเกษตรอย่างแพร่หลาย การตรวจสอบสารเคมีจึงเป็นสิ่งที่ทางคณะฯ ให้ความสำคัญเช่นกัน รวมถึงการตรวจสารกัมมันตภาพรังสีด้วย
จากการตรวจคุณภาพน้ำในพื้นที่บริการประปา 10 สาขา เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า ในภาพรวมไม่พบสิ่งปนเปื้อนและสารก่อมะเร็ง จึงกล่าวได้ว่า น้ำประปาของ กปน. มีคุณภาพได้มาตรฐาน 100 % ซึ่งจากความสำเร็จตรงนี้ ต้องยกเครดิตให้กับ กปน.
ทั้งนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์จะทำการตรวจสอบอีก 5 พื้นที่ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งหมด 15 พื้นที่ เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่บริการของ กปน. ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีน้ำสะอาดใช้ และปลอดภัยจากปัญหาสุขภาพ
หลังจากการตรวจทั้ง 10 สาขา จึงทำให้มั่นใจว่าอีก 5 สาขาที่เหลือ ไม่น่ามีปัญหาในเรื่องความสะอาด ซึ่งการตรวจนี้ ไม่ใช่ตรวจแล้วเลิก แต่จะมีการติดตามผลไปตลอดอีกด้วย
ตลอดเวลาที่ผ่านมา กปน. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการขยายผลการเฝ้าระวัง และทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนของ กปน. นอกจากจะเป็นการประกันคุณภาพให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองที่ดีแล้ว ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดี หรือที่เรารู้จักกันว่า “CSR”
โดยสิ่งที่สะท้อนกลับมาจากการลงทุนครั้งนี้คือ การลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ได้เข้าถึงน้ำที่สะอาด โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อน้ำดื่ม ตลอดจนยังเป็นการลด “ภาวะโลกร้อน” จากการลดการใช้ขวดและถ้วยน้ำพลาสติก ซึ่งเป็นการประหยัดทั้งทางตรงทางอ้อม ทำให้มีงบประมาณเหลือไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันเชื้อโรคที่อาจเกิดจากการใช้เครื่องกรองน้ำที่ขาดการดูแลรักษา จะเห็นว่าในปัจจุบันหลายครัวเรือนนิยมติดตั้งเครื่องกรองน้ำไว้ใช้ประจำบ้าน และอาจไม่มีการเปลี่ยนสารกรองที่ใช้งานมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพ เกิดรอยรั่ว ความชื้น ฝุ่น และเกิดปนเปื้อนจากปลายก๊อก ทำให้แบคทีเรียสะสมในสารกรองเป็นเมือก ลื่นๆ ที่เรียกว่า “ไบโอฟิล์ม” เจริญเติบโตเป็นจำนวนมากขึ้น เมื่อเปิดน้ำใช้ แบคทีเรียเหล่านี้ก็จะหลุดออกมากับน้ำ ทำให้น้ำมีการปนเปื้อน ไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่ม
รศ.นพ.ดร. พิทยากล่าวอีกว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากในร่างกายคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 70 % หรือประมาณ 3 ใน 4 ของร่างกาย ทุกวันคนเราต้องดื่มน้ำอย่างน้อย 8-10 แก้ว และสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพบางอย่าง น้ำจะเป็นตัวช่วย เช่น ลดไข้ รวมทั้งใช้ในการปรุงอาหาร
ซึ่งผลดีอันนี้ ต้องอาศัยสื่อมวลชนและเครือข่ายประชาชนช่วยกันบอกต่อ เผยแพร่ เพื่อเปลี่ยนความเชื่อที่ว่าน้ำประปาดื่มไม่ได้ ไปสู่การสร้างทัศนคติและความเชื่อมั่นใหม่ว่าน้ำประปาสามารถดื่มได้อย่าง ปลอดภัย แม้การเปลี่ยนความเชื่อจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก อาจต้องใช้เวลาร่วม 10 ปีก็ตาม แต่หากภาคีเครือข่าย สื่อมวลชนร่วมกันขับเคลื่อนขยายความรู้นี้ไปสู่ทุกคน เชื่อว่าการสร้างความมั่นใจใน “น้ำประปาดื่มได้” คงเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 23 มิถุนายน 2554 http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1308828345&grpid=03&catid=07
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”