อย.เข้ม ตรวจสอบอาหารนำเข้ามาโดยตลอด ผลคดีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พบการกระทำผิดหลายรายการ อาทิ ลูกพรุนหวาน ลูกพลับหวาน พบโซเดียมซัยคลาเมตและซัคคารินโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก อย. อีกทั้ง เห็ดหูหนู พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กระเพาะปลา พบตะกั่วเกินมาตรฐานกำหนด จึงได้ดำเนินคดีกับบริษัท
ผู้นำเข้า พร้อมเรียกคืนสินค้ารุ่นที่มีปัญหาออกจากท้องตลาดทันทีตั้งแต่พบปัญหาแล้ว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคนอกจากนี้ ยังได้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ต่างๆ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รวม 129 ราย มูลค่าเฉียด 5 แสนบาท
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ได้แก่ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 56 ราย พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 จำนวน 65 ราย พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 จำนวน 4 ราย และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 จำนวน 4 รายรวมทั้งสิ้น 129 ราย คิดเป็นมูลค่า 484,600 บาท
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอาหาร เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ มีจำนวนถึง 13 ครั้ง เช่น ลูกพรุนหวาน ลูกพลับหวาน พบโซเดียมซัยคลาเมตและซัคคาริน ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก อย. รวมทั้ง เห็ดหูหนู พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ถั่วลิสงดิบ
ไม่ลอกเยื่อ พบแอฟลาทอกซิน เห็ดหอมแห้ง พบปรอท และ กระเพาะปลา พบตะกั่วเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด จึงได้ดำเนินคดีในข้อหานำเข้าอาหารที่มีวัตถุเจือปนอาหารเกินโดยไม่ขอความ เห็นชอบจาก อย. และนำเข้าอาหารผิดมาตรฐาน พร้อมทั้งเรียกคืนสินค้ารุ่นที่มีปัญหาออกจากท้องตลาดตั้งแต่พบปัญหาแล้ว นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์กาแฟและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาโดย ไม่ได้รับอนุญาต โดยผลิตภัณฑ์กาแฟโฆษณาอวดอ้างลดน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาอวดอ้างว่า สามารถบำรุงเซลล์ประสาท ช่วยให้สมองผ่อนคลาย ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งเป็นการโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวง โอ้ อวดเกินจริง เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ได้มีสรรพคุณในทางยาดังที่โฆษณา
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย.ได้มีการเก็บตัวอย่างอาหารนำเข้าตามด่านอาหารและยาเพื่อตรวจวิเคราะห์ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการสกัดกั้นไม่ให้อาหารที่มีการปนเปื้อน ไม่ปลอดภัย หรือไม่ได้มาตรฐาน เล็ดลอดเข้ามาภายในประเทศ พร้อมเรียกคืนสินค้ารุ่นที่มีปัญหาออกจากท้องตลาดทันทีก่อนถึงมือผู้บริโภค เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ขอเตือนประชาชนอย่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ขออนุญาตจาก อย.ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และอย่าหลงเชื่อการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่ได้ผลตามที่โฆษณาอวดอ้าง มิหนำซ้ำยังได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์นั้น หรือเสียโอกาสในการรักษาที่ ถูกต้อง
ทั้งนี้ อย. ได้มีการดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ ในความรับผิดชอบของ อย.เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้กระทำผิดพร้อมรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th คลิก “ ข่าว ผลการดำเนินคดี ” เพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวัง และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์ สุขภาพที่ต้องขออนุญาตจาก อย. แต่ไม่ขออนุญาต หรือพบการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร. 1556 เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 31 มี.ค. 53