อาหารท้องถิ่น ทางรอดที่เป็นจริง

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายตลาดสีเขียว เชิญ “เฮเลนา นอร์เบิร์ก-ฮอดจ์” นักต่อสู้เพื่อแหล่งอาหารชุมชนชาวสวีเดน มากล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เศรษฐกิจอาหารท้องถิ่น ทางเลือกและทางรอดที่เป็นจริง” ได้รับความสนใจจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านชุมชน และนักศึกษาที่เข้าร่วมฟัง


“เฮเลนา” ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อแหล่งอาหารของชุมชน เธอเดินทางเข้าไปยังชุมชนลาดัก ทางตอนเหนือของอินเดีย ปีค.ศ.1975 จากนั้นเริ่มทำโครงการลาดัก (Ladakh Project) จนกลายเป็นชุมชนระหว่างประเทศ เพื่อนิเวศวิทยาและวัฒนธรรม เรียกว่า “ไอเส็ก” (International Society for Ecology and Culture-ISEC) เป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตื่นตัวให้แก่ประชาชน ได้เห็นถึงภัยคุกคามจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ถูกนำมาครอบให้กับชุมชน รวมทั้งโลกที่ยึดถือวิถีธรรมชาติ


ที่ผ่านมา เธอเดินทางไปทั่วโลกเพื่อต่อต้านกระแสการทำให้ชุมชนเป็นสมัยใหม่และโลกาภิวัตน์ จึงมีบทบาทสำคัญในการบอกเล่าสาเหตุที่แท้จริง ถึงผลกระทบของโลกาภิวัตน์ เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนท้องถิ่นจัดตั้งโครง การพัฒนาทางนิเวศวิทยาของลาดัก (Ladakh Ecological Development Project) เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ต่อมาได้รับราง วัลสัมมาอาชีวะ (Right Livelihood Award) เมื่อปีค.ศ.1986

semina_localfood04

นอกจากนี้ ยังเขียนหนังสือเรื่อง “นำอาหารกลับบ้าน ทางเลือกและทางรอดของเศรษฐกิจอาหารชุมชน” จัดพิมพ์เป็นภาษาไทยออกเผยแพร่ มีเนื้อหาบอกเล่าถึงองค์กรโลกบาล ที่มีอำนาจควบคุมปัจจัยในภาคการผลิตของเกษตรกรและอาหารท้องถิ่น ความจริงเกี่ยวกับธุรกิจอาหาร และการเกษตรในโลกปัจจุบัน พร้อมทั้งเสนอทางออกโดยการเปลี่ยนแปลงอนาคตของอาหารให้กลับมาอยู่ในมือของ ประชาชนและชุมชนอีกครั้ง


เฮเลนา ปาฐกถาว่า ทำงานเกี่ยวกับแหล่งอาหารชุมชน ร่วมกับหลายประเทศทั่วโลกนานกว่า 35 ปี ปัญหาที่เผชิญหน้าขณะนี้ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ จึงมีความหวังว่าจะสามารถแก้ไขวิกฤตเหล่านี้ได้ หากเรารีบดำเนินการขจัดปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกของประชาชนในท้องถิ่น กระตุ้นเตือนสติชาวบ้านให้ตื่นขึ้นมารับรู้ปัญหา จากนั้นค้นหาธรรมชาติความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงของเราให้เจอ เพราะสาเหตุที่ทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายลงไปคือ ความละโมบที่มีอยู่ภายในตัวมนุษย์

ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ จำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวตาม จนเกิดการสร้างกระแสกระตุ้นให้คนบริโภคนิยมมากขึ้น ทำให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากขึ้นไปด้วย


เฮเลนามองว่า ปัญหาโลกาภิวัตน์ ถือเป็นปัญหาระดับโลกที่เข้ามาทำลายวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติที่สามารถเข้าไปทำการค้าในประเทศต่างๆ ได้อย่างอิสระและเสรีมากขึ้น ธุรกิจขนาดใหญ่ใช้แนวทางจิตวิทยาให้คนเห็นว่า การบริโภคมากขึ้นเป็นสิ่งที่ดี ทั้งการบริโภคอาหาร และการซื้อเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่น ตรงนี้เป็นการทำลายวัฒนธรรมพื้นฐานของชุมชนอย่างชัดเจน ปัญหาที่ตามมาคือ ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม สิ่งแวดล้อม สังคม ปัญหาครอบครัว

semina_localfood01


ดังนั้น เราต้องเร่งแก้ไข สร้างความเข้าใจพื้นฐานของชีวิตที่เป็นจริง โดยการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจชุมชนที่เป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตขึ้นมา และสิ่งที่สามารถช่วยเหลือได้คือ การหันกลับมาสร้างสายใยความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างคนภายในชุมชนของตัวเอง

สิ่งสำคัญที่ทำได้ในขณะนี้คือ กลับมาสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อทำได้จะเป็นวิธีเยียวยา และเป็นการแก้ปัญหาของทั้งระดับจิตใจและระดับสังคม อีกทั้งยังตอบสนองของปัญหาเรื่องสภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้


ส่วนเศรษฐกิจชุมชนที่ จะดำเนินการนั้น ไม่ใช้เศรษฐกิจชุมชนแบบปิด หรือไม่ติดต่อกับโลกภายนอก แต่เป็นเศรษฐกิจชุมชนที่ชุมชนทำร่วมกับชุมชนภายนอก รวมถึงชุมชนนานาชาติ แต่จะไม่ใช้แนวทางโลกาภิวัตน์ เพราะสิ่งนี้แบ่งแยกการผลิตออกจากการบริโภค ทำให้ 2 ส่วนนี้ไม่ปฏิสัมพันธ์กัน


เนื่องจากบางประเทศส่งออก และนำเข้าในสินค้าประเภทเดียวกัน เช่น น้ำนม และเนย เพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหลังขั้นตอนเหล่านี้คือ ระบบทุนข้ามชาติที่ต้องการเพียงผลกำไร แต่ไม่เคยคำนึงถึงปัญหาสภาวะแวดล้อมชุมชนใดๆ ทั้งสิ้น

semina_localfood03


เฮเลนา ระบุว่าในระบบเศรษฐกิจการค้าโลก ตัวการหลักคือการไม่เคารพกฎกติกา การทำลายกำแพงกฎระเบียบต่างๆ ของแต่ละประเทศที่มีอยู่เดิม เพื่อให้การทำธุรกิจของบริษัทข้ามชาติดำเนินไปสะดวกสบายมากขึ้น


ความสำคัญของนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ กับหน่วยการผลิตอาหารที่เกิดขึ้นแบบพื้นฐาน ทั้งการเกษตร การประมง จะมีความแตกต่างกับทางด้านการผลิตในแบบอุตสาหกรรม ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนระบบการรวมศูนย์อำนาจแบบเดิมไปสู่การกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน และการสร้างความหลากหลายในการผลิตของชุมชนจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน การฟื้นคืนทางด้านสุขภาวะของชุมชน สังคม และเศรษฐกิจจะกลับมาคืนมา


รายงาน ผลการวิจัยระดับนานาชาติกว่า 53 ประเทศ ที่เกี่ยวกับระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ชี้ชัดว่าการทำเกษตรกรรมเพื่อป้อนผลผลิตไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นสิ่งที่ล้มเหลว และเลวร้าย ถ้าเรายังคงดำเนินการด้วยแนวทางวิธีนี้ต่อไป อนาคตเชื่อว่าจะไม่สามารถรักษาโลกโดยที่มีสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้ ดังนั้น แนวทางที่จะทำให้โลกกลับคืนสภาพเดิมให้เร็วที่สุดคือ การทำเกษตรในระดับชุมชนแบบดั่งเดิม หรือทำเกษตรด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อที่ความสุขของมนุษย์ที่แท้จริงจะได้กลับคืนมา


ก่อนตบท้ายว่า หากหวังพึ่งพาอำนาจรัฐ คงไม่ได้อะไร เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการเพียงเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ทางออกคือต้องพึ่งตนเอง โดยเริ่มการรณรงค์จากคนกลุ่มรากหญ้า เพื่อเชื่อมธรรมชาติกับชุมชนเข้าหากัน อาหารที่เป็นทางรอดของชุมชนก็จะคืนกลับมา

ที่มา : ข่าวสด 27 ก.ย. 52