นักวิจัยแนะเกษตรกรอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่น เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต ตั้งแต่รู้จักพันธุ์ดั้งเดิม เข้าใจสภาพแวดล้อม และพันธุกรรมของพืชแต่ละชนิด ขณะที่สถาบันต่างๆ ระดมอนุรักษ์ บำรุงพันธุ์ อยู่ตลอดเวลาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิธีที่เกษตรกรเข้าถึงยาก ทำให้ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ของบรรษัท ระบุที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เพราะไทยเป็นสมาชิก WTO จึงต้องทำให้ถูกต้อง แต่ก็มีข้อเสียที่พันธุ์ข้าวบางชนิด ยิ่งพัฒนายิ่งลดความหลากหลายลง ขณะที่พันธุ์พืชบางชนิดก็จดทะเบียนไม่ได้ เพราะไม่เข้าข่าย
ปรับปรุง-รักษาพันธุกรรมพืชเพื่อใช้ในอนาคต
พันธุกรรมทั้งพืชและสัตว์มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการรักษาพันธุกรรมพืช ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการปรับปรุงพันธุ์และรักษาพันธุ์พืชไว้ใช้ในอนาคต การเกษตรแบบพันธสัญญารุกคืบเข้าสู่วิถีชีวิตเกษตรกรไทยในทุกวันนี้ อาจเป็นปัจจัย ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมของทรัพยากรสูญหายไปได้ เนื่องจากความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีความรู้ในการจัดเก็บพันธุ์พืชอาจทำให้พันธุ์พืชที่มีคุณค่าทางภูมิปัญญาไทยสูญหาย หรือตกไปอยู่ในมือของนายทุนต่างชาติได้ ฉะนั้นการอนุรักษ์ และพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ของเกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน จึงเสมือนเป็นการเตรียมความพร้อม ต่อสภาวการณ์ความมั่นคงทางอาหารที่จะเกิดการขาดแคลนในอนาคต
จากข้อมูลการวิจัยของฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีวิธีในการค้นคว้าจัดการจำแนกสายพันธุกรรมในหลายรูปแบบ ซึ่งการค้นคว้าและพัฒนาวิธีการจำแนกสายพันธุกรรมโดยเมล็ดพันธุ์ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจนั้น ใช้วิธีการเก็บรักษายุ่งยากและมีราคาแพง ด้วยกรรมวิธีจัดเก็บสายพันธุ์ 2 ลักษณะ คือ การเก็บรักษาสายพันธุ์ ในสภาพปลอดเชื้อ และในสภาพเย็นยิ่งยวด
ส่วนเทคนิคการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชในปัจจุบันทำได้ 2 วิธี คือ การเก็บรักษาในสภาพธรรมชาติดั้งเดิม เป็นการนำชิ้นส่วนของสายพันธุ์หรือกอพันธุ์ จากแหล่งปลูกมาเลี้ยงดูในสภาพอาหารสังเคราะห์และปลอดเชื้อ ถือเป็นการลดความเสี่ยงจากศัตรูพืช และดิน ฟ้า อากาศ และประหยัดพื้นที่ในการเก็บรักษา
งานวิจัยเป็นเรื่องยุ่งยาก-ต้องพึ่งเมล็ดพันธุ์เอกชน
สำหรับการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชในสภาพปลอดเชื้อนั้น ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยได้ศึกษาและพัฒนาเทคนิค เพื่อให้เหมาะสมกับชนิดของพืช โดยแบ่งช่วงระยะเวลาการเก็บรักษาคือ 1.ระยะสั้น คือการเก็บรักษาชิ้นส่วนหรือเนื้อเยื่อในอาหารสังเคราะห์ ที่ควบคุมการเจริญเติบโต เมื่อเนื้อเยื่อเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง ต้องเปลี่ยนอาหารใหม่และตัดแยกเนื้อเยื่อ วิธีนี้ทำให้เสียเวลาในการตัดแยกเนื้อเยื่อ และเปลี่ยนอาหารบ่อย ซึ่งวิธีนี้จะเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมไว้ที่อุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส สำหรับนำออกมาใช้งานภายใน 1-2 ปี
2.ระยะปานกลาง จะเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 0- ลบ 5 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ได้นาน 1-5 ปี ช่วยชะลอการเจริญเติบโตหรือการเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ เพื่อยืดระยะเวลาการเปลี่ยนอาหารและวิธีการหยุดการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในสภาพเย็นยิ่งยวด ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้เป็น เวลานานโดยไม่ต้องเปลี่ยนอาหารใหม่
งานวิจัยดังกล่าวทำให้เห็นถึงกระบวนการพัฒนาด้านการจำแนกสายพันธุกรรม ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ นับเป็นเรื่องไกลตัวและยุ่งยากสำหรับเกษตรกรรายย่อย หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเป็นสิ่งที่กลุ่มเกษตรกรรายย่อย และวิสาหกิจชุมชน ไม่สามารถเข้าถึงได้หรือเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากต้องใช้ความรู้เฉพาะด้านและต้นทุนสูง ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพิงเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทขนาดใหญ่
WTOบังคับให้มีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช
นอกจากการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ทำให้เข้าถึงได้ยากสำหรับเกษตรกรแล้ว ประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืช และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์ก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญ
ดร.จารุวรรณ จาติเสถียร ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงความสำคัญของกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชว่า สาเหตุของการมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เนื่องจากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ในปีพ.ศ.2538 ซึ่งมีข้อกำหนดเป็นพันธกรณีให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า หรือ TRIPs (Trade Related Aspect of Intellectual Property Right) โดยประเทศภาคีต้องมีระบบคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งจะใช้ระบบเฉพาะที่มีประสิทธิภาพ เป็นระบบที่ไทยใช้ด้วยการตรากฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของประเทศไทยตามอนุสัญญา UPOV 1978 และอนุสัญญา CBD ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรม เพื่อเพิ่มโอกาส สร้างทางเลือกให้กับเกษตรกรในการใช้พันธุ์พืช อนุรักษ์ และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชพื้นเมือง และเพื่อคุ้มครองสิทธิของเกษตร ชุมชน ท้องถิ่น และส่งเสริมให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการคุ้มครองพันธุ์พืช
ซึ่งสาระสำคัญจะประกอบด้วย พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 โดยมีกฎหมายรองรับอีก 84 ฉบับ ให้ความคุ้มครองพันธุ์พืช 4 ลักษณะ คือ พันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า
สำหรับพันธุ์พืชใหม่และพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น จะต้องยื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืช แต่พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่าไม่ต้องยื่นคุ้มครองพันธุ์พืช การจะใช้ประโยชน์ใดๆ จะต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ให้รัฐ ซึ่งมีความแตกต่างจากพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งรมว.เกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้ประกาศให้ความคุ้มครอง และมีความแตกต่างจากพันธุ์พืชอื่นๆ ด้วย ส่วนพันธุ์พืชที่ต้องห้ามไม่ให้มีการจดทะเบียนนั้น เป็นพันธุ์พืชที่มีผลกระทบรุนแรง ในทางตรงกันข้ามหรือทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสวัสดิภาพของประชาชน
สำหรับประเทศไทยนอกจากจะมีการประกาศพันธุ์พืชใหม่ 62 ชนิดแล้ว ยังมีการประกาศคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ที่มีอยู่เฉพาะชุมชนใดชุมชนหนึ่ง และไม่เคยจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่มาก่อน ซึ่งชุมชนสามารถยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ตามพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ด้วยการขอขึ้นทะเบียนชุมชน แล้วยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น
สำหรับการขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า นับว่าเป็นสมบัติของแผ่นดิน เพราะเป็นพันธุ์พืชที่มีอยู่แล้วทั่วไป มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย และเป็นการคุ้มครองในแง่ของการแบ่งปันผลประโยชน์กลับคืนสู่รัฐ ไม่ได้ให้ใครคนใดคนหนึ่ง และรัฐจะนำเงินส่วนนั้นเข้ากองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อนำมาใช้ในการช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการของชุมชนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ การวิจัย และการพัฒนาพันธุ์พืช ต่อไป
‘พันธุ์ข้าวผีตองเหลือง’จดทะเบียนไม่ได้
อย่างไรก็ตามเมื่อดูลงไปในรายละเอียดในกฎหมายฉบับดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดบางประการ ดร.จารุวรรณระบุว่า แม้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 มาตรา 52 จะระบุว่า ผู้ใดเก็บจัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือพันธุ์พืชป่า เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการค้า จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ แต่พบว่า การอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นเมืองท้องถิ่น ยังมีพันธุ์พืชอีกหลายชนิดที่ไม่สามารถจดทะเบียนชุมชนท้องถิ่นได้ เช่น พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของชนเผ่าผีตองเหลือง เนื่องจากผีตองเหลืองมีการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยบ่อยครั้ง จึงไม่สามารถจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองได้ เนื่องจากไม่เข้าคุณลักษณะชุมชนท้องถิ่น
นอกจากนี้พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ยังจัดให้มีกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งมาจากการจัดเก็บรายได้ในข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ตามมาตรา 52 ซึ่งปัจจุบันกองทุนดังกล่าวมีเงินสะสมประมาณ 300,000 บาท ทั้งยังได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมถึงดอกผลที่ได้จากการบริหารกองทุน เพื่อใช้ในการช่วยเหลือหรืออุดหนุนกิจการของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้เพื่อการอนุรักษ์ วิจัย และพัฒนาพันธุ์พืชด้วย
ยิ่งพัฒนาสายพันธุ์ความหลากหลายยิ่งลดลง
ส่วนการต่อยอดในการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มองว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาพันธุ์พืช เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรโดยแท้จริง เกษตรกรจำเป็นต้องหารือกับนักวิชาการ พ่อค้า และกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรด้วยกัน เพื่อสร้างความร่วมมือ ในการต่อรองกับกลุ่มนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการเกษตร
ซึ่งไม่เพียงสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเกษตรกรด้วยกันเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต รวมถึงนโยบายการสนับสนุนการเกษตรของรัฐบาลด้วย ซึ่ง ดร.บุญรัตน์ จงดี นักวิชาการจากศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี มองว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตเพื่อการค้ามีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมาตรการในการดำเนินการเรื่องข้าว ที่มีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดทิศทางข้าวไทย ส่งผลให้การพัฒนาพันธุ์ข้าวในบางสายพันธุ์ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามคือ ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรม โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวลดน้อยลงขณะที่เกษตรกรรายย่อยพยายามผลักดัน หรือสนับสนุนเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกกลุ่มต่างๆ ในภาคอีสาน โดยมุ่งเน้นการวิจัยและเผยแพร่ถึงคุณค่าทางโภชนาการ และคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวพื้นเมือง แต่กลับได้รับการสนับสนุนหรือต่อยอดงานวิจัยน้อยมาก แม้จะมีการนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงด้านอาหารและยา รวมไปถึงคุณประโยชน์ในการเสริมความงามแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถนำไปพัฒนาสายพันธุ์หรือใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด
นักวิจัยไม่เข้าใจท้องถิ่น-เกษตรกรไม่ชัดเจนเรื่องสายพันธุ์
นอกจากนี้ในปัจจุบันการผลิตและพัฒนา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตเน้นเพื่อการค้าและอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เกษตรกรไม่ได้ผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือนอีกต่อไป ประเด็นนี้จึงเป็นจุดล่อแหลมทำให้เกิดความอ่อนแอของพันธุ์พืชและระบบการเกษตรมากยิ่งขึ้น
“วัตถุประสงค์เดิมของเกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง เพื่อต้องการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ให้รุ่นลูกหลานไว้กินไว้ทำนาต่อไป แต่ทุกวันนี้กลับไม่สามารถระบุถึงลักษณะที่ชัดเจนของสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของท้องถิ่นนั้นๆได้เลย จึงอยากให้มีการบันทึก ประวัติ คุณค่าของพันธุ์ข้าวที่มีเฉพาะถิ่น เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา รวมถึงการอธิบายคุณลักษณะเฉพาะแต่ละท้องถิ่น การปรับปรุงสายพันธุ์เป็นอย่างไร ด้วยการศึกษาวิจัยร่วมระหว่างเกษตรกรและนักวิชาการ” ดร.บุญรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการศึกษาวิจัยร่วมระหว่างเกษตรกรและนักวิจัยคือ ช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างเกษตรกรและนักวิชาการ โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพิ่มความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกรด้วยการให้ความรู้ พัฒนาสู่ศูนย์วิจัยชุมชน และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ประเด็นต่างๆเหล่านี้ รวมถึงความเข้าใจของนักวิชาการต่อเงื่อนไขของแต่ละพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศแตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องสามารถนำข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ได้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงด้วย
ผลสรุปคือ การพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการจะรวบรวมพันธุ์พืชและสัตว์ ต้องเรียนรู้แลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการสื่อสารระหว่างกันเพื่อแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ยังมีการเสนอข้อวิจัยระดับชุมชน ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการวิจัยระดับท้องถิ่น
แนะเกษตรกรจะอนุรักษ์พันธุ์พืชต้องเข้าใจสภาพแวดล้อม
ขณะที่ ดร.ประพนธ์ บุญรำพรรณ รองผอ.ฝ่ายบริการงานวิจัย สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ มองว่า การพัฒนาพันธุ์พืชสู่วิสาหกิจชุมชน จำเป็นจะต้องมีความรู้ในการจัดเก็บและรักษาพันธุ์พืช พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับความแตกต่างของพันธุกรรมแต่ละชนิดในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งผู้ที่ทำงานด้านนี้ต้องมีความรู้จริงด้านพันธุ์พืชและสามารถถ่ายทอดความเข้าใจให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้เกษตรกรต้องมีความรู้เรื่องการใช้สารเคมี และการปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของนายทุน ในการหลอกขายสารเคมี รวมถึงเมล็ดพันธุ์ ซึ่งต้องเข้าใจลักษณะของพันธุกรรมในพืชแต่ละชนิดว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เพียวไลน์เป็นพันธุ์พืชเดี่ยว ปลูกอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ซึ่งมีความแตกต่างจากพืชผสม ส่วนพืชที่ผสมเช่น ข้ามสายพันธุ์ มีลักษณะคล้ายกับคน แต่ละคนคือแต่ละพันธุกรรม ก็จะได้พันธุกรรมที่ผสมมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย สิ่งสำคัญคือการนำสายพันธุ์ไปใช้ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมอีกด้วย
“ชาวบ้านต้องเรียนรู้ศึกษางานวิจัยที่มีอยู่ โดยเฉพาะงานวิจัยในท้องถิ่นนั้นๆ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น ภูมิอากาศ เช่น มีเกษตรกลุ่มหนึ่งไปศึกษาดูงานจากไร่สุวรรณ จ.นครราชสีมา แล้วนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจากไร่ไปปลูกในจ.แพร่ ซึ่งพบว่าเมล็ดพันธุ์ที่นำไปปลูกไม่ได้ผล เนื่องจากคนละพื้นที่ คนละสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดความเสียหายได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าว เกษตรกรต้องรู้ในเบื้องต้นถึงสายพันธุ์ที่ตนเองปลูก เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกนักธุรกิจด้านพันธุ์พืชหลอก”
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์พืช ไม่ได้อยู่ที่พันธุกรรมแต่เพียงอย่างเดียว การมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ รวมถึงการเก็บรักษา การจำแนกสายพันธุ์ เข้าใจสภาพภูมิอากาศของถิ่นที่อยู่อาศัย นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้การนำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่อยอดการพัฒนาไปสู่การวิจัยระดับชุมชน หรือท้องถิ่น ร่วมกับนักวิจัยและวิสาหกิจชุมชนล้วนเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ ไม่เลือนหายไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ถูกระบบการเกษตรพันธสัญญา ดูดกลืนจิตวิญญาณความเป็นเกษตรกรรม วิถีชาวบ้านทีละเล็กทีละน้อย
ที่มา: ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง โดย เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 http://www.tcijthai.com/TCIJ/view.php?ids=660
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”