อินเดียระงับมะเขือดัดแปลงพันธุกรรม

ทาง การอินเดียประกาศระงับแผนการที่จะอนุญาตให้ปลูกมะเขือม่วงที่ผ่านการดัดแปลง พันธุกรรม (จีเอ็มโอ) เพื่อการค้า หลังมีเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งกรณีนี้ถูกมองว่าเป็นกรณีตัวอย่างถึงความเป็นไปได้ที่ว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลอินเดียจะหันมาสนับสนุนการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อ เพิ่มผลผลิตด้านอาหารหรือไม่

การตัดสินใจระงับแผนการครั้งนี้ของรัฐบาลอินเดียเป็นการเปลี่ยนแปลงมติ ที่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคมปี 2552 ที่อนุญาตให้นำมะเขือม่วง (eggplant) ตัดแต่งพันธุกรรมสายพันธุ์ “บีที บรินจาล” ไปใช้เพื่อการค้าได้ ในเวลานั้นรัฐบาลกล่าวว่าจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็ต่อเมื่อได้รับฟังความคิด เห็นจากเกษตรกร ผู้บริโภค นักวิทยาศาสตร์ และผู้บริหารส่วนท้องถิ่นแล้ว

นาย ไจราม ราเมช รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของอินเดีย กล่าวเมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าการประกาศระงับการปลูกมะเขือม่วงดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อจำหน่ายจะมีผล บังคับใช้ไปจนกว่าจะมีผลการศึกษาวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นที่พึงพอใจต่อ ทั้งสาธารณชนและผู้เชี่ยวชาญออกมาบ่งบอกถึงความปลอดภัยของสินค้าในแง่ของผล กระทบระยะยาวที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม นายราเมชกล่าวว่าการระงับการปลูกมะเขือม่วงดัดแปลงพันธุกรรมจะไม่ทำให้การนำ เทคโนโลยีชีวภาพไปใช้ในภาคการเกษตรของอินเดียหยุดชะงัก ฝ้ายเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมชนิดเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกเพื่อการค้า และอินเดียเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีการปลูกฝ้ายจีเอ็มโอชนิดนี้ แต่มะเขือม่วงดัดแปลงพันธุกรรมจะเป็นพืชสำหรับบริโภคชนิดแรกของอินเดีย และจะเป็นผักดัดแปลงพันธุกรรมที่ปลูกเพื่อการค้าชนิดแรกของโลก ถ้ารัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ปลูกจำหน่ายได้

รัฐที่เป็นแหล่งผลิตมะเขือม่วงรายใหญ่ รวมถึงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและกลุ่มผู้รณรงค์เรื่องสุขภาพของผู้บริโภค ต่างหวาดกลัวว่าการปลูกมะเขือม่วงดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการค้าจะส่งผลเสีย ต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และมะเขือม่วงพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในอินเดีย ซึ่งหลังจากรัฐบาลมีประกาศระงับ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมจำนวนมากต่างออกมาแสดงความเห็น ด้วย พร้อมทั้งกล่าวว่ารัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ทบทวนและหาทางออกให้เป็นที่พึงพอใจ แก่ทุกฝ่าย

สุนิตา นาราอิน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของอินเดีย กล่าวว่า “เราแสดงความกังวลมาโดยตลอด เราไม่ได้ต่อต้านการนำเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมไปใช้เพิ่มผลผลิตทางการ เกษตร แต่แน่นอนว่าเราคัดค้าน บีที บรินจาล” เธอให้เหตุผลว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผักซึ่งเป็นอาหารประจำครัวเรือนถูกนำมา ดัดแปลงพันธุกรรม มะเขือม่วงเป็นผักที่รับประทานโดยไม่ผ่านการแปรรูปและในบางพื้นที่รับประทาน ทั้งๆ ที่ไม่ผ่านการปรุง “ดังนั้นเราจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการทบทวนเกี่ยวกับอาหารชนิดนี้”

บีที บรินจาล ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทมหาราชตรา ไฮบริด ซีดส์ หรือมาไฮโค บริษัทเมล็ดพันธุ์อันดับ 1 ของอินเดีย บีที บรินจาล ถูกดัดแปลงให้ทนต่อการกัดกินของแมลง ซึ่งรวมถึงแมลงที่ทำลายพืชผลโดยเข้าไปวางไข่ในผลและหน่อด้วย อินเดียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตมะเขือม่วงรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคิดเป็น 9% ของผักที่ผลิตได้ทั้งหมดในประเทศ และได้ทำการทดลองเกี่ยวกับมะเขือม่วงดัดแปลงพันธุกรรมมาตั้งแต่ปี 2543

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,505  14-17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Relate Post