เกลือพันปี ของดีบ่อโพธิ์

เกลือเค็มๆ ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องชูรสคู่ครัวไทยเท่านั้น ในบางพื้นที่มีเรื่องเล่าผ่านความเค็ม เป็นตำนานที่กลมกล่อมและน่าสนใจ

ที่บ้านบ่อโพธิ์ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก มีขุมทรัพย์ใต้ดิน เป็นบ่อน้ำเค็ม หรือบ่อเกลือโบราณ ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในหมู่บ้านมายาวนาน

ฤดูกาลแห่งการต้มเกลือบ่อโพธิ์ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม เรื่อยไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนของทุกปี แม้ว่าการต้มเกลือจะทำได้เพียงบางช่วง เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ แต่สร้างรายได้ที่คุ้มเหนื่อยให้ชาวบ้านไปตลอดปี

มีบ่อเกลืออยู่ในหมู่บ้าน เช้าๆ เย็นๆ บ่อเกลือเล็กๆ จึงคึกคัก เต็มไปด้วยผู้คน ทยอยกันมาตักน้ำเกลือไม่ขาดสาย ควันไฟจากเตาเกลือ กรุ่นหมู่บ้านตลอดวันตลอดคืน เกลือเม็ดขาวถูกส่งออกจากหมู่บ้านไปสู่บ้านใกล้บ้านไกลมานานนักหนาแล้ว

มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า อ.นครไทย ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของเมืองบางยาง ซึ่งมีพ่อขุนบางกลางท่าวเป็นเจ้าเมือง ในยุคนั้นยกทัพไปตีเมืองขอมเพื่อขยายอาณาเขต เมื่อพาไพร่พลเดินทางมาถึงเมืองนี้ได้หยุดพัก และได้พบบ่อน้ำใสสะอาดที่มีต้นโพธิ์เป็นวงบ่อ เมื่อตักชิมพบว่าน้ำนั้นมีรสเค็ม นำมาต้มเกิดตกผลึกเป็นเม็ดเกลือสีขาวใช้ปรุงอาหารได้

bp2

ต่อมาจึงใช้เกลือเป็นเสบียงไปรบกับขอม เมื่อยกทัพกลับ มีทหารกลุ่มหนึ่งตัดสินใจตั้งรกราก อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวบ่อโพธิ์ และเป็นตำนานกลุ่มคนผู้บุกเบิกอาชีพการทำเกลือ จนกระทั่งกลายเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้ลูกหลานมาถึงปัจจุบัน

น้อง นิว ด.ญ.สุมิตรา ขุน-อินทร์ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับการก่อกำเนิดบ่อเกลือพันปีว่า “ในสมัยโบราณนานมาแล้ว ฝั่งลาวมีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟ แล้วมีบั้งไฟที่ทำจากต้นโพธิ์ตกลงมากลางน้ำเฟี้ย ทำให้เกิดเป็นบ่อเกลือขึ้นมา และเกิดความอัศจรรย์ขึ้น เพราะน้ำในบ่อมีรสเค็ม และไหลออกมาให้ชาวบ้านได้ใช้มาตลอด” นี่คือที่มาของชื่อหมู่บ้านบ่อโพธิ์ที่ลูกๆ หลานๆ จำขึ้นใจ

ชาวบ่อโพธิ์มีความเชื่อและศรัทธาเกี่ยวกับตำนานที่ทำให้เกิดบ่อเกลือพันปี ว่าบ่อเกลือแห่งนี้มีเจ้าปู่คอยคุ้มครองดูแลอยู่ ทุกปีเมื่อถึงเวลาเปิดบ่อเกลือ ชาวบ้านจะทำพิธีบวงสรวงเจ้าปู่บ่อเกลือ ด้วยการนำดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องเซ่นไหว้สักการะ พร้อมทั้งอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ขุดบ่อเกลือ มาทำพิธีบูชาเจ้าปู่ และบอกกล่าวว่าลูกหลานจะทำการเปิดปากบ่อ เป็นสัญญาณว่าฤดูกาลแห่งการทำเกลือของชาวบ่อโพธิ์กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

น้องออม ด.ญ.ปิยดา ลำมะยศ บอกถึงข้อห้ามต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติหากเข้ามาในบริเวณบ่อเกลือ เพื่อเป็นการเคารพต่อเจ้าปู่บ่อเกลือว่า “ถ้าเข้าใกล้บ่อเกลือในระยะ 5 เมตร ต้องถอดรองเท้า ถอดหมวก ห้ามทะเลาะกัน ห้ามพูดจาไม่ดี ห้ามบ้วนน้ำลาย ห้ามสั่งน้ำมูก ห้ามใช้มือแตะน้ำเกลือที่บ่อขึ้นมาชิม และห้ามสูบน้ำเกลือขึ้นมาใช้ ให้ใช้วิธีการหาบทีละถังสองถังเท่านั้น คนโบราณเชื่อว่าหากฝ่าฝืนอาจมีอันเป็นไปค่ะ” ชาวบ่อโพธิ์ยังคงปฏิบัติตามข้อห้ามสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด

วิธีการต้มเกลือของชาวบ้านวันนี้ยังคงใช้วิธีตักและหาบน้ำเกลือจากบ่อเกลือพันปีตามแบบโบราณ ไม่ใช้การสูบน้ำจากบ่อเกลือด้วยเครื่องสูบน้ำ ซึ่งเป็นกลอุบายของคนในสมัยก่อน ที่อยากให้มีน้ำเกลือใช้ตลอดไปไม่มีวันหมด

ในทางธรณีวิทยา หากใช้วิธีสูบน้ำเกลือขึ้นมาใช้อย่างต่อเนื่องนานปี จะทำให้เกิดปัญหาดินยุบตัว เป็นหลุมกว้าง และน้ำเกลือจะเหือดแห้งไปในที่สุด วิถีการทำเกลือของบ้านบ่อโพธิ์จึงเป็นไปแบบพอเพียง

ออมกับนิว ลูกหลานบ้านบ่อโพธิ์รู้ดีว่าเทคนิคการต้มเกลือให้ได้เม็ดเกลือสวยสะอาด ต้องพักไว้ 1 คืน เพื่อให้ดินโคลนที่ปะปนมากับน้ำเกลือตกตะกอนเป็นน้ำเกลือใสๆ เมื่อนำมาต้มน้ำเกลือจะใสตกผลึกเป็นเม็ดเกลือขาวสะอาด ใช้เวลาราว 3-4 ชั่วโมง อาจช้าหรือเร็วกว่านี้ ขึ้นอยู่กับความแรงของไฟ หากอยากให้เกลือตกผลึกเร็วขึ้น ชาวบ้านนิยมใช้เปลือกไม้จะแขแช่ลงไปในกระทะ เปลือกไม้จะแขจะช่วยให้เม็ดเกลือขาวสวยน่ากิน

bp3

ตลอดฤดูกาลต้มเกลือ เราจะเห็นชาวบ้านต้มเกลือได้ทั้งวันทั้งคืน ยิ่งในฤดูหนาว พ่อเฒ่าแม่เฒ่ามักถือโอกาสนอนเฝ้าเตาเกลือในเวลากลางคืน อาศัยไออุ่นจากฟืนไฟไล่หนาว

ประโยชน์ที่ชาวบ้านบ่อโพธิ์ได้รับจากการต้มเกลือ นอกจากจะสามารถนำเกลือที่ต้มมาประกอบอาหารแล้ว แต่ละครัวเรือนที่ทำเกลือจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ละฤดูกาล คนบ้านบ่อโพธิ์จะต้มเกลือได้ประมาณ 2,000 หาบ ปัจจุบันนี้เกลือเม็ดที่ต้มแล้วจะบรรจุถุงขายกันหน้าบ้าน ในราคาถุงละ 20 บาท หรือขายส่งเป็นคันรถ คิดราคาเป็นถัง ถังละ 60 บาท เรียกได้ว่ารายได้ดีเป็นกอบเป็นกำ เป็นถุงเป็นถังกันเลยทีเดียว หากขยันอาจทำเงินได้หลายหมื่นบาทต่อปีก็มี

“เกลือของบ้านบ่อโพธิ์เป็นของมีค่า นำพามาซึ่งทุกสิ่งของปัจจัยสี่ เราแลกข้าวแลกอาหารได้ในสมัยก่อน แลกของใช้จำเป็นพวกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือแม้กระทั่งยารักษาโรคเราก็นำเกลือไปแลก ถ้าไม่มีเกลือพันปี การดำรงชีวิตของชาวบ่อโพธิ์คงลำบาก ปัจจุบันนี้ก็ยังคงทำเช่นนั้นอยู่” คำบอกเล่าจาก ปู่เหรียญ ลำมะยศ ปู่ของน้องออม บ่งบอกถึงคุณค่าของเกลือพันปี ที่อุ้มชูหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ่อโพธิ์มาเนิ่นนานหลายชั่วอายุคน

เกลือพันปี มีดีที่ไหนและอยู่อย่างไรในยุคสมัยปัจจุบัน พบกับขุมทรัพย์ใต้บาดาล จากบ้านบ่อโพธิ์ จ.พิษณุโลก ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน เกลือโบราณ วันเสาร์ที่ 27 ก.พ. เวลา 06.25 น. ช่อง 3 หรือดูรายละเอียดทางเว็บไซต์ www.payai.com

ที่มา: ยศศยามล กรมติ สดจากเยาวชน  ข่าวสด  26 ก.พ. 53

Relate Post