เจ้าชายผัก หัวใจสีเขียว

City Farm หรือสวนครัวคนเมืองถูกพูดถึงมากขึ้น มีเกษตรกรคนเมืองสนใจลงมือปลูกผักกินเองมากขึ้นจนเป็นขบวนการ

ทำไมต้องปลูกผักกินเอง ขณะที่บางคนเริ่มสนใจ แต่ยังลังเลถึงความเป็นไปได้จริงที่คนกรุงจะลุกขึ้นมาจับจอบเสียม พรวนดิน รดน้ำแปลงผัก

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นคร ลิมปคุปตถาวร หรือที่ใครๆ รู้จักในฉายา “เจ้าชายผัก” เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่บุกเบิกการปลูกผักในเมืองกรุงอย่างเอาจริงเอาจัง เริ่มจากปลูกผักแค่ไม่กี่อย่างไว้กินกันในบ้านย่านลาดพร้าว

จนวันนี้ แปลงผักปลอดสารเคมีของเขาขยายใหญ่ ส่งขายให้กับสมาชิกขาประจำ 4-5 ราย พร้อมๆ กับ “ซิตี้ ฟาร์ม” ที่กลายเป็นกิจกรรมซึ่งได้รับการสานต่อในวงกว้างและขยายแนวร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการจัดอบรมการปลูกผักกินเอง รวมทั้งการส่งเสริมอย่างเป็นกิจจะลักษณะโดยหน่วยงานอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้หน่วยงานและชุมชนต่างๆ ได้ปลูกผักอินทรีย์ในเขตเมือง

ไม่น่าเชื่อ การปลูกผักกินเองกลางเมืองใหญ่จะกลายเป็น “ขบวนการ” และยังเป็นอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตัวและครอบครัวสำหรับหนุ่มคนนี้

จุดประกาย กาย-ใจ พูดคุยกับ “Prince” นคร ลิมปคุปตถาวร เจ้าของสมญา เจ้าชายผัก เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของเขาเริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการปลูกผักกินเอง ไปจนถึงความสนใจว่าด้วยเกษตรกรรมพึ่งตนเอง ความมั่นคงอาหาร ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social enterprise) และ “ธรรมะ” จากต้นไม้

•ทำไมถึงคิดปลูกผักกินเอง มีพื้นฐานด้านเกษตรอย่างไร

ผมเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนด้านการเกษตรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะสอบโควตาได้ พอเรียนแล้วมีวิชาหนึ่งชื่อ “เกษตรพึ่งตนเอง” เป็นหน่ออ่อนที่ครูบาอาจารย์เห็นว่าเกษตรมันต้องมีทางเลือกออกจากกระแสหลัก ผมคิดว่าน่าสนใจ พอมีโอกาสได้ไปดูงานตามหลายที่ มีคนทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมีกันมากขึ้น ทำให้เห็นว่าเกษตรมีสองแบบ

แบบที่พึ่งตนเอง มีอยู่มีกิน ทำเองใช้เอง กับแบบที่ต้องเป็นหนี้เป็นสิน ต้องไปซื้อหาปัจจัยการผลิต ผมเริ่มต้นเรื่องเกษตรจากวิชาการ ผมเรียนต่อปริญญาโท ช่วงนั้นทำวิทยานิพนธ์ ทำวิจัย งานพวกนี้ต้องลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรเยอะ พอคุยเยอะก็ทำน้อย คิดว่ามันชักจะไม่สมดุล เราน่าจะหาอะไรทำไปด้วย อย่างนั้นปลูกผักดีกว่า ซึ่งก็ทำให้เราได้แยกขยะ เอาขยะมาทำปุ๋ย ได้ผักมากินกัน

•เอาที่ทางที่ไหนมาทำแปลงทดลอง

บ้านเป็นบ้านเดี่ยว มีที่จอดรถ เหลือหลืบข้างๆ อยู่สัก 30 ตารางเมตร แสงน้อยหน่อยแต่ก็ปลูกผักได้ 20-30 ชนิด ทำแล้วก็ได้คิดอะไรหลายอย่างนะ เราคิดจะปลูกไม่ใช่จะทำไปคนเดียว พอได้ผักมาก็กินอยู่คนเดียว เพราะเป็นผักที่คนอื่นไม่ชอบกินหรือกินไม่เป็น ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ทำคนเดียวมันก็อยู่กับเราคนเดียว แต่ถ้าทำกับครอบครัวก็ต้องคุยกัน

•บ้านไม่รู้เรื่องด้วย?

ก็บอกเขาแค่ว่าจะปลูกผักตรงนี้นะ แต่ไม่ได้คุยอะไรมาก แล้วเรามีอุดมการณ์นะ จะทำแบบไม่ใช้เคมี ปรากฏว่าที่บ้านหวังดีอยากให้เราประสบความสำเร็จ กลับมาบ้าน เอ๊ะ ผักโตดี สงสัยวิชาเราดี ที่ไหนได้ ป๊ะบอก เอาปุ๋ยเคมีไปหยอดให้เองแหละ โอ้ยยยย โมโหมาก นอนไม่หลับเลย มานั่งคิดอีกที เออ เราก็ไม่ได้บอกเขาว่าเราจะทำอะไร เขาก็เห็นแต่ว่าเราปลูกผักก็อยากจะช่วย แม่ต้องไปช่วยคุยให้ป๊ะฟังว่า เออ ลูกมันอยากทำแบบไม่ใช้เคมีนะ (หัวเราะ) ต้องมีแม่เป็นกรรมการ

•แสดงว่าคิดกันคนละแบบ

ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่เขาคิดว่าทำไมไม่ใช้ ผักจะได้โตเร็วๆ คือ พ่อผมก็โตในครอบครัวเกษตรนะ ก๋งอยู่ฉะเชิงเทรา พ่อเคยเล่าว่าก๋งปลูกมะม่วง ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด รอบบ้าน เลี้ยงเป็ดก็เอาเปลือกหอยให้กิน ปลูกผักก็เอาปลาเน่าใส่โหล ตักน้ำปลาเน่ามารดผัก มันก็คือน้ำหมักชีวภาพนั่นแหละ เออ ก็เป็นเกษตรผสมผสานนะ สมัยก่อนเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องปกติ แต่พ่อผมเกิดปี 2500 เขาโตในยุคที่เริ่มใช้สารเคมีเกษตรเขาก็ชินกับความคิดว่าใช้ก็ดีนี่ ไม่เห็นเป็นอะไร แต่มายุคผม มันชัดเจนว่าทำไมเราถึงไม่ใช้ และไม่ควรจะใช้

•ต้องทำความเข้าใจอย่างไร

เป็นธรรมดา ในครอบครัว เราพูด พ่อก็ฟังหูไว้หู แต่เขาเริ่มได้คอนเฟิร์มจากเพื่อนเขา พอเพื่อนบอก เออ ดีนะ ทำแบบไม่ใช้เคมี เขาก็เชื่อเพื่อน ทีวีก็มีรายการเกษตร ดูแล้วก็เริ่มชอบทางนี้มากขึ้น หนังสือเกษตรธรรมชาติ ปลูกผักในเมือง ผมก็แอบๆ วางไว้ เขามาหยิบอ่าน อ่านเสร็จ เดินมาบอก นี่ ปริ๊นรดน้ำหมักบ่อยๆ นะ มันจะช่วยบำรุง แกก็เอาด้วยแล้วแหละ

•เริ่มจากปลูกกินกันที่บ้าน ทำไมถึงลุกลามกลายเป็นอาชีพและเครือข่ายใหญ่โตไปได้

ตอนทำวิทยานิพนธ์ ผมทำวิจัยด้วย ไปศึกษากลุ่มตลาดนัดสีเขียว ซึ่งเป็นเครือข่ายที่นัดไปกันจำหน่ายผลผลิตอินทรีย์ตามโรงพยาบาล สถานศึกษา แต่ผมเป็นแบบ ถ้าไม่ทำก็จะไม่รู้จริงนะ แทนที่จะไปแค่เก็บข้อมูล ผมก็ไปขายของกับเขาด้วยเลยไง (ยิ้ม) เดี๋ยวไม่รู้หัวอกพ่อค้าแม่ค้า ผมก็หาสมุนไพร สบู่ถั่วเขียว แชมพูมะกรูด จากเครือข่ายหมอพื้นบ้านไปขาย คือ จริงๆ ผมทำใช้เอง แล้วอยากให้คนอื่นทำใช้เองบ้าง แต่คิดคนเมืองเขาเริ่มจากการซื้อ งั้นผมก็เอาไปขายก่อนเพื่อให้เกิดความสนใจ พอไปขายของ ทางผู้จัดถามว่าปกติทำอะไร ผมก็ อ๋อ อยู่บ้านปลูกผัก กลายเป็นว่ามันเป็นเรื่องแปลกนะ เขาเอาไปเขียนลงวารสาร ทีนี้มากันใหญ่เลย เหมือนมันแปลกยังไงไม่รู้นะ อ้าว เป็นคนเมือง ทำไมปลูกผักล่ะ

•เขามาถามเพราะอยากปลูกบ้างหรือ

ครับ กลายเป็นว่าไปตลาดสีเขียวทีไรต้องมานั่งตอบคำถามเรื่องปลูกผัก แต่ก็ยินดีตอบ ตอบหมด เขาเลยเชียร์ให้จัดอบรม เออ ดีเหมือนกัน จัดที่บ้านนี่แหละ ตรงโรงรถ ข้างแปลงผัก มีคนมาฟัง 8 คน สตาฟฟ์อีก 10 คน คือสตาฟฟ์เยอะกว่าคนเข้าร่วม (หัวเราะ) ก็อบรมไปด้วยกันหมดเลย สนุกดี แล้วคนก็ชอบ ติดลม อบรมต่อมาเรื่อยๆ จนมาเจอกับทางมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งเคยเจอกันมาบ้างก่อนหน้านี้ พอเขารู้ว่าผมปลูกผักก็ชวนไปร่วมงานมหกรรมสมุนไพร ที่เมืองทองธานี สัก 3-4 ปีที่แล้ว เปิดลานปลูกผักในเมืองให้ผม พอดีฮวงจุ้ยดี อยู่กลางงานเลย ตรงสี่แยกพอดี โห คนเดินผ่านตลอด มาถามตลอด ไม่ได้หยุดพูดกันเลย

•คิดว่าทำไมถึงได้รับความสนใจขนาดนั้น

ธีมของงานมหกรรมสมุนไพรปีนั้นเป็นเรื่องผักพื้นบ้าน แต่ผมว่าคนเมืองเนี่ยผักพื้นบ้านเขาไม่สนใจ เพราะไม่รู้จัก แต่ของเราปลูกคะน้า ปลูกผักกาด คนก็ตื่นเต้น ช่วงนั้นคิดว่ามีกระแสหลายอย่างมาบรรจบกันพอดี คนที่มางานสมุนไพรก็เป็นคนรักสุขภาพ แต่ช่วงนั้นเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี จะซื้อผักอินทรีย์กินมันก็แพง ปลูกผักกินเองประหยัดกว่า แล้วเริ่มมีตัวอย่างให้เห็น สำนักงานเขตหลัก 4 ทำมา 10 กว่าปี พิสูจน์ว่าทำได้ ข่าวต่างประเทศก็บูม บารัก โอบามา ทำแปลงผักที่ทำเนียบขาว ควีนอลิซาเบธก็ปลูกผักสวนครัว

หลังจากนั้น สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ก็สนใจ มูลนิธิเกษตรยั่งยืนก็ชวนผมไปประชุมด้วย กลายเป็นโครงการสวนผักคนเมือง ผมเป็นภาคีร่วมจัดแปลงผักที่บ้านให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ มีการให้ทุนเน้นอบรมความรู้ สร้างเครือข่าย และให้ทุนแก่ภาคีย่อยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะต้องรวมกันมาเป็นกลุ่ม เราก็เลยมีเพื่อนเพิ่มขึ้นเยอะเลย ทั้งบ้านจัดสรรคนชั้นกลาง ชุมชนคนจนในเมือง โรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงาน โรงแรม โรงพยาบาล มีตั้งแต่ใส่กระบะวางไว้หน้าห้องน้ำไปจนถึงใช้พื้นที่หลายสิบไร่

•ทั้งที่เมืองไม่เหมาะกับเกษตรเลย

ไม่เหมาะ ที่ดินก็ไม่มี แดดก็น้อย แต่ทุกคนก็พยายามทำ เกษตรในเมืองมันเอาความสุขเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ทำเพื่อขาย ไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ทำได้จริง กินได้จริง ก็ทำให้มีคนสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนกรุงเองก็ปลูกต้นไม้อยู่แล้ว แต่เป็นไม้ประดับ ตอนนี้หันมาปลูกไม้กินได้ ผมว่าคนเมืองน่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

•ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซิตี้ฟาร์มมีพัฒนาการอย่างไร

มันมีกระแสที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และจุดประกายให้เห็นว่าเกษตรมีที่ทางใหม่ ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดี สวนผักในเมืองเป็นส่วนหนึ่งของเกษตรในเมือง เราต้องการให้ระยะทางของอาหารสั้นลง เพราะถ้าแหล่งผลิตอยู่ใกล้ อาหารก็จะสดใหม่ ไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่เปลืองค่าขนส่ง ผมจำได้ว่าตอนแรกมันเริ่มจากคนรักสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มสูงอายุ หรือหาอะไรทำหลังเกษียณ แล้วขยับเป็นคนทำงานประจำที่พักผ่อนเพราะงานเครียด แต่ตอนนี้เริ่มมีนักศึกษาจบใหม่หาทางเลือกในชีวิต มีรุ่นน้องผม จบมาทำงานบริษัท งานดี แต่ไม่มีความสุข ไม่มีเวลา เลยลาออกจะมาปลูกผักที่เขตสายไหม

•ถึงกับยึดเป็นอาชีพได้เลยหรือ

ผมเอง ปลูกผักได้เยอะ เริ่มเอาไปแบ่งให้ญาติๆ ให้บ่อยๆ เขาเกรงใจช่วยเราไงได้บ้าง งั้นทำระบบผูกปิ่นโตกัน เป็นระบบซีเอสเอ (Community Support Agriculture) ผักรู้หน้ารู้ใจ รู้ว่าใครปลูก ผมรู้ว่าปลูกแล้วใครจะซื้อ ผมส่งผักให้ประจำสัปดาห์ละ 3-4 กิโล ตอนนี้ขยายพื้นที่ปลูก ที่บ้านเขาซื้อตึกไว้ฝั่งตรงข้าม ไม่รู้จะทำอะไร ก็ชวนกันปลูกผัก 20-30 แปลง ผมมีผักส่งให้ 5 ครอบครัวเป็นประจำ เก็บค่าสมาชิกรายปีๆ ละ 12,000 บาท จ่ายค่าผักสดปลอดภัยอาทิตย์ละ 250 บาท ทำไมจะไม่ซื้อ เรารับสมาชิกได้มากกว่านี้อีก ถ้าคนรุ่นใหม่อยากทำก็ทำระบบนี้ก็ได้

•คนกรุงโตมากับธุรกิจ น่าจะหันมาเอาดีทางนี้ได้ไม่ยาก

แต่ต้องเป็นธุรกิจอีกแบบ เป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ เพราะถ้าคิดแบบธุรกิจทั่วไปมันจะติดกับดัก การที่จะเอากำไรสูงสุด มันจะไปต่อไม่ได้ เพราะพอเราอยากได้กำไรเยอะ ต้องลดต้นทุน แต่ผักเป็นสินค้าที่ราคาต่ำ ส่วนต่างน้อย เก็บไม่ได้นาน คิดในเชิงธุรกิจจริงๆ อาจจะไปได้ แต่ถ้าเพิ่มคุณค่าบวกกับมูลค่าจะอยู่ได้ คนซื้อผักอินทรีย์ ซื้อด้วยเรื่องราว เขาอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่มันไม่ใช่งานรูทีน เราต้องสนุกกับมัน และสร้างสรรค์แนวทางขึ้นมาใหม่ มาถึงตอนนี้ผมก็พบว่ามันมีหลายแนวทาง มีงานหลายอย่าง เราปลูกผักกินเอง เราปลูกผักซีเอสเอ เราจัดอบรม เป็นวิทยากรรับเชิญ ไปรับเป็นที่ปรึกษาโครงการต่างๆ ไปช่วยเป็นภูมิสถาปนิกออกแบบสวนผักของบ้านขององค์กรต่างๆ

•สังคมมีความต้องการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ใช่ครับ และไม่ใช่ทางวัตถุอย่างเดียว แต่ต้องตอบสนองด้านจิตใจได้ด้วย

•แล้วจะทำอย่างไรกับเกษตรกรที่ยังนิยมใช้สารเคมี

ที่เคยเจอเกษตรกรจะเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาทำเกษตรอินทรีย์นี่ภรรยาไม่ยอมห่อข้าวให้ไปกินที่เถียงนาเลยนะ เกษตรอินทรีย์จะเริ่มต้นได้ น้อยมากที่จะเห็นด้วยกันทั้งครอบครัว โดยมากจะเริ่มจากคนใดคนหนึ่ง พอเริ่ม เมียไม่เห็นด้วย บางบ้านสามีไม่เอาด้วย แล้วเขาเป็นเกษตรกร ถ้าพลาดก็ขาดรายได้ เขาก็ซีเรียสเพราะมันเป็นเรื่องเงินที่จะมาดูแลครอบครัว ก็ต้องทำไปจนกว่าจะสำเร็จอีกฝ่ายถึงจะเห็นด้วย ทั้งที่เกษตรอินทรีย์มันเข้าทุกทฤษฎีนะ ผมไปเยี่ยมกลุ่มเกษตรกร ทำแล้วมันพอเพียง พึ่งตนเอง น้ำท่วมก็ไม่เป็นหนี้ จากเดิมทำเกษตรได้ผลแต่ยังเป็นหนี้ร้านขายปุ๋ยขายยา พอหันมาทำอินทรีย์ขนาดน้ำท่วมยังมีเงินเหลือซ่อมบ้านได้อีก

•อะไรเป็นปัจจัยความสำเร็จหรือล้มเหลวของการทำเกษตรอินทรีย์

ผมว่าทำเกษตรอินทรีย์มันจะมีบททดสอบมาอยู่เรื่อยๆ ครับ มันมีจังหวะของธรรมชาติที่เราต้องทำความเข้าใจ เหมือนต้นไม้ ถ้าอยู่ในที่มีซึ่งสภาพแวดล้อมรุนแรงมาก ข้อมันจะถี่ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมดี ข้อมันจะยืดยาว เหมือนชีวิตที่มีช่วงสุขสบายยาวหน่อย แต่ข้อถี่ๆ ไม่ได้แปลว่าอ่อนแอนะ แปลว่ามันจะยิ่งเข้มแข็ง สังเกตว่าต้นไม้ข้อถี่ มันจะแข็งแรงทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี อีกอย่าง การทำเกษตรมันสอดคล้องกับคุณธรรม ธรรมะที่ผมเคยอ่านและสนใจ ตอนเด็กผมได้อ่านหนังสือท่านพุทธทาส ตอนอ่านท่านมรณภาพไปแล้ว แต่ข้อคิดยังทันสมัยและท้าทายคนให้ได้กลับมาคิดทบทวนอะไรเยอะ เราก็ได้เห็นหลักธรรมจากการปลูกต้นไม้ เรื่องเหตุปัจจัย เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนั้นถึงมี

•ทำเรื่องนี้มาหลายปี เคยรู้สึกไม่มั่นใจหรือลังเลเรื่องทำเกษตรยั่งยืนบ้างหรือไม่

ไม่เคยนะ คิดแต่ว่าแนวทางไหนจะเป็นไปได้บ้าง แต่แน่นอน พอโตขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะมองเห็นแรงเสียดทาน อย่างผมอาจจะโชคดีครอบครัวไม่ลำบาก แต่เมื่อมองไปข้างหน้า ต้องมีกินมีอยู่ ต้องทำเพื่อคนรอบข้าง ต้องมีการเก็บหอมรอมริบ คนรอบข้างตั้งคำถาม เราก็ตั้งคำถามกับตัวเอง มันก็เป็นบททดสอบ เป็นคำถามว่าจะทำแบบนี้ให้อยู่ได้ ต้องทำอย่างไร ชีวิตมันเป็นทางเลือก แต่ผมได้แนวคิดจากท่านประยุทธ์ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)) เงินไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่เงินไม่ใช่ทุกสิ่ง อย่าให้เงินมาบังคับเรา ผมก็มานั่งคิด เรามีเงินเพื่อคุ้มครองตัวเองและครอบครัว ก็จะดีหากสิ่งที่เราทำมันสอดคล้องกับสิ่งที่เราฝัน ผมพบว่ากิจการเพื่อนสังคมตอบโจทย์ตรงนี้ เราได้ทำในสิ่งที่รักที่ชอบ เป็นประโยชน์กับคนอื่น กับสังคม สิ่งแวดล้อม แล้วก็เลี้ยงตัวได้ด้วย

•คิดทบทวนจากวันแรกที่คิดปลูกผักข้างโรงรถ ถึงวันนี้ถือว่ามาไกลพอสมควร

ถ้าเรามีโอกาสที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใคร โดยการทำให้เห็น เป็นให้สัมผัสได้ เราก็ต้องอยู่ให้ได้ การทำเรื่องแบบนี้ ผมว่ามันหมายถึงการสร้างสังคมเล็กๆ ที่น่าอยู่ มีการอุ้มชูเกื้อกูลกัน ซึ่งนี่เป็นความฝันของผม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2555 โดย : รัชดา ธราภาค http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20120527/453532/เจ้าชายผัก-หัวใจสีเขียว.html

ภาพจาก http://www.sarakadee.com

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post