เพาะเลี้ยงลูกอ๊อดส่งทำหมกฮวกเมนูเด็ด

ชาวอีสานมีอาหารพื้นเมืองหลากหลาย ด้วยรสชาติแซบอร่อยถูกใจจึงมีผู้นิยมบริโภค โดยเฉพาะส้มตำที่แม้แต่ชาวต่างชาติก็ยังรู้จัก แต่ทว่ายังมีอาหารพื้นเมืองอีกอย่างคือ หมกฮวก เป็นเมนูจานเด็ดที่อยู่คู่กับชาวอีสานมาช้านาน แม้จะโด่งดังไม่เท่ากับส้มตำก็ตาม แต่ชาวอีสานขนานแท้ก็ชื่นชอบ กลายเป็นอาหารที่แทบจะขาดไม่ได้

การที่มีความต้องการบริโภคหมกฮวกมาก ลูกกบหรือลูกอ๊อดตามแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการทำหมกฮวกก็ลดน้อยลงและเริ่มขาดแคลน จึงมีเกษตรกรสมองใสคิดเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดหรือลูกกบป้อนตลาด ตลอดระยะเวลา 18 ปี สร้างรายได้ให้อย่างงดงาม

นายอัมพร บุตรชา อายุ 55 ปี ผู้มาเอาดีทางด้านการประมงแห่งบ้านคำมะดูก ต.ไก่คำ อ.เมืองฯ จ.อำนาจเจริญ เล่าว่า หลังจากประสบปัญหาทำนาขาดทุนก็เริ่มมองหาอาชีพใหม่ และสำรวจตลาดสดตอนกลางวันในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ พบว่าลูกอ๊อดหรือลูกกบที่นำมาทำหมกฮวกขาดตลาด จึงคิดจะเพาะเลี้ยง ประกอบกับญาติก็แนะนำและสนับสนุน จึงเริ่มศึกษาทดลองเรียนผิดเรียนถูกอยู่หลายเดือน จนกระทั่งประสบความสำเร็จ จึงเพาะเลี้ยงเรื่อยมาเป็นเวลา 18 ปีแล้ว ซึ่งจากรายได้ที่เกิดขึ้นก็ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีบ้านและรถเป็นของตนเอง

นายอัมพรเล่าถึงวิธีการเพาะลูกอ๊อดว่า เริ่มจากการปรับพื้นที่นา 5 ไร่ ทำเป็นบ่อคอนกรีต 20 บ่อ บ่อดิน 40 บ่อ แต่ละบ่อกว้าง 20 เมตร ยาว 8 เมตร ลงทุนไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบจาก จ.นครราชสีมา 300 ตัว ตัวละ 200 บาท เป็นพันธุ์นวลจันทร์ จากนั้นก็นำมาขยายพันธุ์เองในบ่อ โดยบ่อดินแต่ละบ่อจะได้ลูกอ๊อดประมาณ 80 กก. รวมแล้วในแต่ละรุ่นจะได้ประมาณ 10,000 กก. จำหน่ายส่ง กก.ละ 200 บาท จำหน่ายปลีก กก.ละ 300 บาท ลูกค้าที่มาซื้อจะมีทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด อาทิ อุบลราชธานี ยโสธร มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และกาฬสินธุ์

นายอัมพรกล่าวว่า ตามปกติลูกอ๊อดจะมีเฉพาะในฤดูฝน แต่ตนเองสามารถเพาะนอกฤดูกาลได้ จึงได้เปรียบ การที่ชาวอีสานนิยมนำมาประกอบอาหารกันมาก จึงมีความต้องการสูงในแต่ละวัน ตลาดจึงรองรับได้ไม่อั้น ในแต่ละรุ่นจะมีรายได้จากยอดจำหน่ายที่ 300,000-350,000 บาท ต่อการเลี้ยง 21-25 วัน

อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อจำกัดในการเลี้ยงคือ จะต้องเพาะเลี้ยงระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค.เท่านั้น แล้วเก็บพ่อแม่พันธุ์ไว้เลี้ยงในฤดูกาลต่อไป อาหารก็จะให้เป็นแบบเม็ด 2 เวลา เช้า-เย็น จากนั้นลูกอ๊อดก็จะหากินแมลงต่างๆ เอง ปัญหาอีกอย่างคือต้องระวังงูที่จะมาคอยจับกินในตอนกลางคืน

นายทวี เต้าทอง อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 4 บ้านเซซ่ง ต.เซียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเข้ามาดูงานและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงลูกอ๊อด กล่าวว่า ปีนี้ทำนาได้ไม่ดีจึงต้องมาขอความรู้จากนายอัมพร พร้อมซื้อพ่อแม่พันธุ์ไปทดลองเลี้ยงดู เพราะมีที่นา 20 ไร่ รองรับอยู่แล้ว

สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดบ้าง ก็สอบถามไปได้ที่นายอัมพร บุตรชา โทร.08-9564-5564 ได้ทุกวัน

ที่มา: ไทยโพสต์ วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 http://www.thaipost.net/x-cite/040712/59114

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post