“เมล็ดพันธุ์ ปู่-ย่า”ไม่ใช่แค่สินค้าทางการเกษตรแต่นี่คือเครื่องมือในการสืบสานอนุรักษ์พืชผักพื้นบ้านไทย ให้อยู่คู่รั้วบ้านเราอย่างยั่งยืน
“เราอยากสนับสนุนให้คนได้ปลูกพืชผักพื้นบ้าน สามารถเก็บพันธุ์ไว้ใช้ต่อไปได้ เป็นพันธุ์พื้นบ้าน และมีความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ ที่นับวันจะหายไปหมดแล้ว”
“นันทา กันตรี” เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม บอกที่มาของ “เมล็ดพันธุ์ปู่-ย่า” ที่วางขายอยู่ในงานตลาดนัดสีเขียว และงานของคนรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม
โครงการน้ำดี ภายใต้ความร่วมมือ ของเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม, กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมพิษณุโลก (Seed exchange) และมูลนิธิชีววิถี พร้อมเหล่ามิตรร่วมอุดมการณ์ ในขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ยังสนับสนุนการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง
พืชพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งหลายอย่างยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน อย่างมะเขือตอแหล ฟักข้าว ข้าวโพดเทียนสามสี กะเพราขาว กะเพราแดง ถั่วเน่า ถั่วพลูสีม่วง บวบหอม บวบขม บวบไต้หวัน กระทั่งดอกบานไม่รู้โรย ซึ่งมีอยู่มากถึงประมาณ 56 สายพันธุ์
“พอเห็นของพวกนี้ ก็ทำให้นึกถึงความหลัง สมัยเด็กๆ เวลาไปเที่ยวบ้านปู่ย่า ไปตามหัวไร่ปลายนา ก็จะเห็นพวกมันเต็มไปหมด แต่เดี๋ยวนี้หายไปแล้ว และไม่รู้จะหาที่ไหนมาปลูก หลายคนพอมาเจอที่นี่ ก็เหมาไปหมด เพราะหาที่ไหนไม่ได้แล้ว”
นันทา บอกที่มาของการเรียกเมล็ดพันธุ์ในความทรงจำว่า “เมล็ดพันธุ์ปู่-ย่า” ซึ่งไม่ต่างจากมรดกของปู่ย่าตายาย ที่ทิ้งไว้ให้กับลูกหลาน ปลูกและเก็บสายพันธุ์ต่อๆ กันมา
เมื่อเป้าหมาย คือ ความตั้งใจสนับสนุนให้ทุกคนลุกมารักษาพืชพันธุ์พื้นบ้าน พวกเขาจึงเข้าไปทำงานกับร่วมเครือข่ายต่างๆ ชักชวนผู้คนให้มาปลูกเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน จากนั้นก็นำมาทดสอบคุณภาพตามมาตรฐาน ทดสอบความงอก ก่อนไปสู่ขั้นตอนบรรจุลงซอง พร้อมระบุวันหมดอายุไว้ ตลอดจนแนะนำวิธีปลูก เพื่อส่งขายกระจายไปสู่วงกว้าง
“เราชวนคนเฒ่าคนแก่ ที่มีที่ข้างบ้านเล็กๆ ให้มาช่วยกันปลูก โดยเราทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพ วิธีการคือ ไม่ได้รับซื้อเมล็ดพันธุ์จากเขา แต่ให้เขาปลูกเสร็จแล้วมาทดสอบความงอกกับเรา เป็นเหมือนแผนกตรวจสอบคุณภาพ จากนั้นให้เขาแพ็ค แล้วขาย โดยแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน เราให้เขา 60% ส่วนเราเอาแค่ 40% เพราะถือว่า เขาเป็นคนปลูก คนดูแล ส่วนเรื่องแพคเก็จจิ้งและการตลาดเราทำให้หมด”
เพราะความตั้งใจจริงไม่ใช่การหารายได้ แต่คือหาผู้ร่วมอุดมการณ์มาช่วยกันรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเอาไว้ ซึ่งเมื่อคนปลูกมีรายได้ ก็จะดึงดูดให้พวกเขามาช่วยกันปลูกมากขึ้น นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
“เราเอาน้อยเพื่อให้กำลังใจเขา เพราะถือว่าเขาเป็นคนปลูก ถ้าไม่มีคนปลูก เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ก็จะอยู่ไม่ได้ และเราก็ไม่ได้ขายเป็นอาชีพ หรือทำเป็นธุรกิจ ไม่ได้มีเป้าหมายแบบนั้น ขอแค่ขายเพื่องานรณรงค์ เล็กๆ น้อยๆ เพียงแต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็ห่วงว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้วันหนึ่งก็จะหมดไป เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามกระจายออกไปให้มากที่สุด”
เพื่อให้ไม่เป็นการปิดกั้นสำหรับคนเมือง พวกเขาก็แนะนำเมล็ดพันธุ์ที่สามารถปลูกในพื้นที่จำกัดได้ และดึงคนเมืองมาร่วมกันอนุรักษ์พืชผักพื้นบ้านดีๆ ไว้ เพื่อให้คนกรุงมีผักดีๆ ปลอดสารเคมีไว้กิน และยังได้ร่วมอนุรักษ์พืชพันธุ์พื้นบ้านไว้ด้วย
“ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนเมืองที่อยากปลูกผัก อยากปลูกตาม ทาวน์เฮาส์ คอนโด ปลูกตามดาดฟ้าบ้าง เราก็จะแนะนำตัวที่เหมาะสมให้กับเขา แนะนำทั้งวิธีปลูก วิธีกิน ลูกค้าส่วนหนึ่งก็ซื้อเพื่อส่งไปให้ครอบครัวในต่างจังหวัด บางคนมาเจอผักที่เขาเคยกินสมัยเด็กๆ แต่หาไม่ได้แล้ว ก็มาเหมาไปครั้งละ 20 -30 ซอง”
เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าประสงค์ พวกเขาจึงต้องหาทางส่งพลังเล็กๆ ไปในวงกว้างขึ้น ซึ่งนอกจากจะออกงานสมุนไพรระดับประเทศ ยังมีช่องทางขาย เมล็ดพันธุ์ปู่-ย่า และพันธมิตรผู้แสนดีอย่าง ร้านพลังบุญ
“เมล็ดพันธุ์ปู่-ย่า มีฝากขายที่ร้านพลังบุญ เขาเองก็สนับสนุนจึงช่วยไปจัดจำหน่ายให้ ที่สำคัญ ขายถูกกว่าเราด้วย เราขายซองละ 10 บาท เขาขายแค่ 9 บาท เขาบอกว่า เราส่งในราคา 7 บาท ก็ขาย 9 บาท พอแล้ว เพราะถือว่าช่วยกันกระจายเมล็ดพันธุ์ออกไป โดยเขาสั่งไปประมาณ 3 พันซอง ต่อเดือน แค่นั้นก็แทบไม่ได้ขายที่อื่นแล้ว”
รวมถึงเปิดเว็บเพจในเฟชบุ้ค เพื่อส่งมอบแนวคิด ไปสู่ผู้คนในวงกว้างผ่านโลกไซเบอร์
“ในเว็บเพจ เมล็ดพันธุ์ปู่-ย่า ก็จะมีเพื่อนๆ มาพูดคุยเรื่องการปลูกบ้าง มีแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันบ้าง บางทีใครอยากได้ก็ส่งให้เลย ทั้งขาย ทั้งแจก แค่อยากกระจายออกไปให้เยอะๆ เพราะเราต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน คืออยากให้ทุกคนได้ใช้พันธุ์แท้ที่ปลูกแล้วสามารถใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไปได้ อยากให้ผู้คนเข้าถึงความหลากหลาย และกระจายออกไปได้มากที่สุด”
โครงการของพวกเขาเริ่มทำมา 3 ปี ก็ค่อยๆ สร้างความรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ในเว็บเพจจะมีสมาชิกเพียงหลักร้อย แต่ก็คือแรงพลังสำคัญของการขยายแนวคิดนี้ออกไปในวงกว้าง
“ปีที่แล้วน้ำท่วม หลายพื้นที่เสียหาย เราก็ทำผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ เพื่อแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ไปให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม” เธอบอกการทำงานที่ผ่านมาข้อจำกัดสำคัญยังอยู่ที่ผลิตได้จำนวนจำกัด เพราะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ เรียกว่าต้องผ่านการทดสอบให้งอกได้ถึง 80% จึงจะเอามาขายได้ ที่สำคัญเมล็ดพันธุ์มีวันหมดอายุ โดยอยู่ได้ประมาณ 1 ปีเท่านั้น จึงต้องมีการระบุวันหมดอายุให้กับผู้ซื้อ โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือภายใน 6-7 เดือน หลังจากนั้นความงอกจะลดลง
ซึ่งจากความทุ่มเท และพลังความร่วมมือของเครือข่าย ทำให้วันนี้ เครือข่ายอิสระภาพทางพันธุกรรม สามารถรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ที่ใกล้สูญพันธุ์ ไว้ได้ถึง 250 สายพันธุ์ และเฉพาะ “เมล็ดพันธุ์ปู่-ย่า” มีอยู่ที่ประมาณ 56 สายพันธุ์ โดยยังคงปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์ที่หล่นหายต่อไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกมากในอนาคต
ระหว่างการสัมภาษณ์ ลูกค้า “แฟนคลับ” ยังคงแวะเวียนมาไต่ถามพืชพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งทุกครั้ง “นันทา” จะหยุดเพื่อแนะนำลูกค้าทุกคนอย่างอารมณ์ดี และมีความสุขที่จะร่ายสรรพคุณของพืชผักแต่ละชนิด ตั้งแต่วิธีการปลูก ไปจนวิธีการกิน เพื่อโน้มน้าวให้ลูกค้าของเธอได้ลองซื้อกลับไปบ้าน แล้วช่วยกันขยายผลสิ่งที่พวกเธอหวัง
เพราะนั่นคือหนทางนำความยั่งยืนมาให้ “เมล็ดพันธุ์ ปู่-ย่า” มรดกที่คนรุ่นก่อนทิ้งไว้ให้กับพวกเรารุ่นหลัง
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 17 มกราคม 2556 โดย จีราวัฒน์ คงแก้ว http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20130117/482221/เมล็ดพันธุ์-ปู่-ย่า-อนุรักษ์พืชพื้นบ้านอย่างยั่งยืน.html
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”