เรื่องเล่าในเช้าทันโลก ว่าด้วยเรื่อง น้ำส้มปลอดสารพิษ

เหตุเกิดเมื่อป้ากินเปลี่ยนโลก กับหัวหน้าใหญ่ไทยแพน ไปเที่ยวตลาดกรีน ๆ กันแล้วปะเข้ากับ “น้ำส้มปลอดสารพิษ” ชิมไปปลื้มใจว่าอร่อย พากันซื้อกลับบ้าน ระหว่างนั้นก็คุยกับน้องคนขายผู้ภาคภูมิใจอย่างจริงใจในน้ำส้มของตนเป็นอันมาก

ป้า : ส้มมาจากไหนจ๊ะ (อันนี้ถามตามสูตรกินเปลี่ยนโลก)
น้อง : ฝาง ค่า
หน.ไทยแพน : โห ฝางยาเยอะนะ ปลูกยังไงน่ะ ไม่ใช้ยา (ยาคือชื่อเล่นของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช)
น้อง : ใช้บ้างค่ะ ไม่ถล่มทลาย ฟุลอ๊อฟชั่นค่ะ แต่หนูล้างสองครั้งนะคะ ล้างน้ำ กับล้างแอมเวย์ แล้วเราขายที่ เจเจ ตลาดอาหารปลอดภัย มีการตรวจสอบตลอดค่ะ ว่าไม่มีสารพิษตกค้าง
จบข่าว ???

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ต้องตั้งคำถามอย่างน้อยสามเรื่อง

หนึ่ง ปลอดสารพิษคืออะไร ยาวไปจนถึง ปลอดภัย, ปลอดสาร, ไร้สาร, อินทรีย์ มันคืออะไรกันแน่ ยังเป็นความสับสนอยู่เหมือนเดิม และดูจะยิ่งหนักขึ้น

สอง การตรวจสอบการตกค้างโดย Test Kit คืออะไร
สาม ล้างผักผลไม้แล้ว จะเรียกว่ามันปลอดสารพิษได้ไหม

เรื่องแรก คำนิยาม หรือความหมายของสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะยึดเอาตามที่เขียนไว้โดยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อันนี้ ผอ.ส่วนส่งเสริมการผลิตผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ และสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตรท่านว่าไว้

ผักปลอดภัยจากสารพิษได้แก่ ผักที่ปลูกโดยทั่วไป มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช แต่จะต้องรอให้สารเคมีเหล่านั้นสลายไปก่อน จึงจะทำการเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งอาจจะยังมีสารเคมีตกค้างอยู่บ้าง แต่ต้องไม่เกินค่า MRL (Maximum Residue Limit) ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด จึงจะสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

ผักปลอดสารพิษ ได้แก่ผักที่ปลูกโดยทั่วไป มีการใช้ปุ๋ยเคมีตามปกติ แต่จะไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง แต่จะใช้ชีววิธีแทน เช่น การใช้แมลงกำจัดแมลง เป็นต้น ฉะนั้น ผักในกลุ่มนี้จะเป็นผักที่ปลอดจากสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืช

ผักอินทรีย์ หรือผัก Organic เป็นผักที่ปลูกโดยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น

มีอีกนิยาม จากก.สาธารณสุข ว่า ผักปลอดภัยจากสารพิษ หมายถึง ผลผลิตพืชผักที่ไม่มีสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตกค้าง หรือมีตกค้างอยู่ไม่เกินระดับที่ มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 163 พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง

เป็นอันว่าป้ากับหัวหน้าเข้าใจไม่ผิดนี่หว่า ว่าปลอดสารพิษ หมายถึงต้องไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช น้องเค้าคงเขียนตกคำว่า “ภัย” ไปน่ะครับ “ผักปลอด(ภัย)จากสารพิษ” แล้วที่ป้าเห็นใช้กันบ่อย ๆ อีกอันว่าไร้สาร ไร้สาร ถ้าเข้าใจตามภาษาไทย มันก็ต้องไม่มี ไม่ใช้สาร (เคมี) เลยอะนะ แต่อย่างว่าเราเข้าใจเอาเองก็คงจะไม่ได้แล้ว ต่อให้เราเข้าใจนิยามมันถูก น้องคนขาย พี่ป้าน้าอาแม่ค้าพ่อค้า ก็อาจตีความไปคนละอย่างกับเราโดยจริตก็ได้อีก เอาเป็นว่ามีโอกาสก็ต้องพูดคุยซักถามกันนะครับ ใช้ปุ๋ยอะไร ใช้อะไรป้องกันกำจัดศัตรูพืช จะตอบว่าไม่รู้ ก็ไม่รู้น่ะครับ ไม่เป็นไร ดีกว่าทำหน้ามึน ๆ กันไปทั้งคนขายคนซื้อว่ามันปลอดสาร ปลอดภัยไร้กังวล ยังไงก็ยังได้รู้ว่าจ่ายเงินซื้ออะไร กินไรเข้าไปบ้าง

เรื่องที่สอง “ตรวจสอบแล้ว” ป้าเข้าใจ(เอาเอง)ว่าคงเป็นการตรวจโดยใช้ Test kit ที่มีชื่อว่า “GT” ซึ่งเป็นการตรวจสอบสารตกค้างโดยเทคนิค โคลีนเอสตอเรสอินฮิบิชั่น สามารถตรวจสอบสารตกค้างได้เพียงสองกลุ่มคือ กลุ่มคาร์บาเมต และกลุ่มออแกโนฟอสเฟต จากสารเคมี 4 กลุ่มหลัก และไม่สามารถตรวจสารกำจัดเชื้อราได้ และผู้พัฒนาเทคนิคนี้ยังให้ข้อคิดไว้ว่า “ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดเลยจะสามารถตรวจสอบสารพิษในผักผลไม้ได้ทุกชนิด แม้กระทั่งการตรวจสอบโดยวิธีมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ ก็ยังกำหนดวิธีการตรวจตามกลุ่ม ๆ สาร และขึ้นกับความสามารถของผู้ตรวจวิเคราะห์ซึ่งยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันในแต่ละหน่วยงาน ทำให้ผลการตรวจออกมาไม่พบสารตกค้างโดยวิธีมาตรฐานนั้น จะหมายถึงไม่มีสารพิษตกค้างไม่ได้” “ในวิธีการตรวจโดยหลักการโคลีนเอสตอเรสอินฮิบิชั่น จะมีเอ็นไซม์เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นพิษ เหมาะสมกับการตรวจคัดกรองตัวอย่างที่พบว่าไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภคในเบื้องต้น”
เข้าใจตรงกันนะครับ ไม่พบ ≠ ไม่มี ไม่ตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มี เหมือนกัน แต่เจอในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภคนะครับ

ไปไวๆ เรื่องที่สาม ล้างออก ไม่ออก อย่างที่ไทยแพนบอกอยู่เสมอว่า สารพิษหลายชนิดที่ใช้กำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ เป็นสารจำพวกดูดซึม คือล้างออกยาก หรือเกือบไม่ออก เราก็ยังไม่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมว่าแอมเวย์เขามีสูตรพิเศษอะไรหรือไม่ แล้วไทยแพนเขาก็ไปศึกษาทบทวนวรรณกรรมเท่าที่หาเจอ รวบรวมงานศึกษาเกี่ยวกับการล้างจากต่างประเทศและประเทศไทยมาสังเคราะห์ โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ว่ามีสารพิษตกค้างในผักและผลไม้มากที่สุดของประเทศไทยนั้นมีสารชนิดใดบ้าง พบว่า สารที่พบการตกค้างมากที่สุด 6 อันดับแรกได้แก่ ไซเปอร์เมทริน(Cypermethrin) คลอไพรีฟอส (Chlorpyrifos) โปรฟีโนฟอส (Profenofos) โอเมโธเอท (Omethoate) คาร์โบฟูราน (Carbofuran) และเมโทมิล (Methomyl)

เมื่อเปรียบเทียบกับงานศึกษาประสิทธิภาพของการล้างซึ่งพบว่าแต่ละวิธีสามารถล้างสารที่ตกค้างในผักได้ไม่เท่ากัน โดยจากการประมวลพบว่าประสิทธิภาพในการล้างจากมากไปหาน้อย มีดังต่อไปนี้

1) การล้างด้วยน้ำส้มสายชู เป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะลดสารไซเปอเมทรินที่ตกค้างมากที่สุดได้ 48% สารลำดับที่สองคือคลอไพรีฟอสได้ 87% และสารลำดับที่สามโปรฟีโนฟอสได้ 32-85%

2) การล้างด้วยด่างทับทิมและโซเดียมไบคาร์บอเนตได้ผลใกล้เคียงกันมากโดยด่างทับทิมลดสารตกค้างมากที่สุดได้ 20% สารตกค้างอันดับสองได้ 87% และลดสารตกค้างอันดับที่สามได้ 18-83% ในขณะที่การล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนตลดสารที่ตกค้างมากที่สุดได้เพียง 8% ลำดับสองได้ 87% ลำดับสามได้ 42 %

3) การล้างด้วยและน้ำและน้ำเกลือให้ผลใกล้เคียงกัน โดยการล้างด้วยน้ำในสารไซเปอร์เมทริน การล้างน้ำทำได้ดีกว่าเล็กน้อย ในขณะที่สารลำดับที่สองนั้นการล้างด้วยน้ำเกลือให้ผลดีกว่าเล็กน้อย ส่วนสารอื่นๆที่เหลือให้ผลใกล้เคียงกัน

ดังนั้น ป้าและหัวหน้าขอแนะนำว่า คุยเยอะ ๆ นะครับ ค่อย ๆ หาความรู้ทำความเข้าใจกันไป จะไปหาปลอดภัยไร้สารร้อยเปอร์เซ็นต์ตอนนี้น่ะยังยาก เราต้องช่วงกันผลักกันดัน ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทำงานจริงจัง ระบบกฎหมาย มาตรการควบคุมการขึ้นทะเบียน การนำเข้า การขาย การโฆษณา และการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นอะไรที่คำนึงถึงคนกินมากกว่านี้ อาหารมันจึงจะปลอดภัยได้กินกันถ้วนหน้า ไม่ว่ายากดีมีจน นั่นคือ เราต้องเป็นผู้บริโภค เป็นพลเมืองที่่้สตรองง และมีกระบวนการทางนโยบายที่เป็นประชาธิปไตยนะครับ
จบอย่างงี้แหละ
#Fooddemocracy

ที่มา : เรื่องเล่าในเช้าทันโลก 96.5 Mhz ศุกร์ 18 มีค.2559

Relate Post