แซบ”เห็ดลาบ” จานเด็ดฤดูฝน

มื่อฟ้าโปรยฝน…เป็นสัญญาณความชุ่มชื้น

หลากหลายชีวิตในระบบนิเวศมักใช้ฤดูฝนเพื่อเริ่มต้น และเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโต ฤดูฝนจึงเป็นฤดูกาลแห่งชีวิต…

ฝนรินชุ่มป่า ผักหวานแตกยอดอ่อน เห็ดป่าโผล่ดอกขึ้นจากพื้นดิน ดอกกระเจียวตูมเต่ง พืชหลายชนิดมีให้ผู้คนได้เก็บหาเพียงฤดูกาลเดียว

สัญญาณธรรมชาตินี้คนอีสานต่างรู้จักและใช้ชีวิตเชื่อมโยงผูกพันกับธรรมชาติ ทุกฤดูกาลจึงมีอาหารการกินหลากหลาย

ฤดูฝนมีอาหารชนิดหนึ่งที่คนมหาสารคามรู้จัก และนิยมนำมาบริโภค หนึ่งในนั้นคือ “เห็ดลาบ”

เห็ด ลาบ ไม่ได้มีลักษณะเหมือนเห็ดทั่วไปที่เรารู้จักกันดี แต่เห็ดลาบคือสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวชนิดหนึ่ง มีชื่อสากลว่า Nostoc ลักษณะเป็นแผ่นวุ้นบาง หยุ่นและกรอบคล้ายเห็ดหูหนูสีเขียว กระจายอยู่ตามพื้นดินที่มีความชื้นและเป็นดินเค็ม

เมื่อเข้าฤดูฝน เห็ดลาบที่เคยอยู่ในระยะพักตัว หดตัวเป็นแผ่นสีดำแห้งกรอบตามพื้นดินในฤดูแล้งจะดูดซับน้ำฝนจนอิ่มตัว พองตัวใหญ่ขึ้น พร้อมเจริญเติบโต

ในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยพบเห็น สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวหลายชนิดที่รับประทานได้ รวมถึงสาหร่ายเห็ดลาบด้วย นอกจากพื้นที่ทางภาคอีสาน อย่างมหาสารคามจะนิยมบริโภคสาหร่ายเห็ดลาบแล้ว ในอุตรดิตถ์ผู้คนก็นิยมบริโภคด้วย แต่จะเรียกชื่อแตกต่างกันว่าเห็ดยาควร

หมู่ บ้านในเขตอ.นาเชือก ชาวบ้านนิยมนำเห็ดลาบมาบริโภคทั้งแบบรับประทานสดและปรุงสุก โดยเชื่อกันว่าเห็ดลาบเป็นยาเย็นช่วยรักษาระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ คนอีสานที่นี่นิยมบริโภคเห็ดลาบมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ในสมัยก่อนเห็ดลาบเป็นสินค้าสำคัญของชุมชน ใช้แลกเปลี่ยนยาสูบจากหมู่บ้านอื่นได้

คน ทุกวัยนิยมรับประทานเห็ดลาบ เด็กแห่งบ้านสระแก้ว ต.นา เชือก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม จะพาไปทำความรู้จักสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่มีหน้าตาแปลกไม่เหมือนเห็ด แต่มีชื่อเรียกว่าเห็ดกันที่ทุ่งนาและบนพื้นที่ป่าดูนลำพัน แหล่งกระจายพันธุ์ที่หนาแน่นที่สุดของ เห็ดลาบ

น้องมด ด.ญ.กมลทิพย์ เตชะแก้ว อายุ 12 ปี และเพื่อนๆ น้องๆ ในหมู่บ้าน บอกว่าวันนี้พวกเขาจะไปเก็บเห็ด…

พวกเด็กๆ เดินสวนทางกับคนเก็บเห็ดคนอื่นๆ ที่เดินบ้างนั่งรถบ้างมุ่งหน้าเข้าป่า แต่เด็กๆ กลับมุ่งหน้าไปยังทุ่งนาและป่าดูน เห็ดที่ว่าแตกต่างจากเห็ดทั่วไป เพราะเด็กๆ กำลังจะไปเก็บเห็ดลาบ

“ฤดูฝนที่บ้านของหนูหากินได้หลาย อย่างค่ะ เช่น ตอนกลางคืนก็จะไปใส่เบ็ด กลางวันก็จะขึ้นโคกเข้าไปไต้เห็ด และไปเก็บเห็ดลาบในทุ่งนา ตามคันแท ตามหนทาง เห็ดลาบจะขึ้นอยู่ตามลานโล่งแจ้ง ใต้ต้นหญ้าที่มีความชื้นสักหน่อยค่ะ” เด็กหญิงเล่าพลางเดินเมียงมองตามพื้นดิน กอหญ้า และแอ่งน้ำตื้นๆ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ที่เห็ดลาบกระจายพันธุ์ แต่ใช่ว่าทุ่งนาที่ไหนๆ ก็พบเห็ดได้ เพราะเห็ดลาบจะขึ้นอยู่เฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้กับป่าดูนลำพันเท่านั้น เนื่องจากเป็นดินเค็มและมีความชุ่มชื้นสูง

ที่มา : คอลัมน์ สดจากเยาวชน วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6553 ข่าวสดรายวัน

Relate Post