ไทยชู’ดอนหอยหลอด’สุดยอดพื้นที่ชุ่มน้ำ

ปลัด กระทรวงทรัพย์ฯระบุเป็นแหล่งที่มีหอยหลอดมากที่สุดในโลก และอุดมไปด้วยหอยนานาชนิด เป็นลักษณะที่โดดเด่นมากในภูมิภาค ทั้งยังเป็นที่อาศัยของนกนานาชนิด…….

เมื่อวันที่ 26 ม.ค.53 นายศักดิ์สิทธิ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) แถลงข่าวว่า ในวันที่ 2 ก.พ.ของทุกปี จะเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ในส่วนของประเทศไทยจะจัดกิจกรรมหัวข้อ โลกร้อนบรรเทาได้ หากใส่ใจพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่บริเวณศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ดอนหอยหลอด ต.บางจะเกร็ง จ.สมุทรสงคราม เป็นการแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ชุ่มน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่เป็นตัวเร่งทำให้เกิดปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความเสื่อมโทรมของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความรุนแรงและรวดเร็วขึ้น

“สาเหตุ ที่จัดที่ดอนหอยหลอด เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งที่มีหอยหลอดมากที่สุดในโลก และอุดมไปด้วยหอยนานาชนิด เป็นลักษณะที่โดดเด่นมากในภูมิภาค ทั้งยังเป็นที่อาศัยของนกนานาชนิด พื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ต้นแบบการอนุรักษ์ไว้ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำ”นายศักดิ์ สิทธิ กล่าว

ด้านนายประวิม วุฒิสินธุ์ รักษาการอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า ดอนหอยหลอดถือเป็นพื้นที่มหัศจรรย์มีน้ำขึ้น น้ำลง เป็นดอนยาวถึง 8 กิโลเมตร กว้าง 4 กิโลเมตร มีหอยหลอด และหอยอื่นๆอาศัยอยู่จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะหอยหลอดนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าปีละ 100 ล้านบาท ถือเป็นพื้นที่ ที่ค่อนข้างอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมาก หากมีการทิ้งสารเคมี ขยะ สารพิษ หรือสร้างสิ่งก่อสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณนั้นจะส่งผลต่อ ปริมาณหอยหลอดทันที ที่เป็นปัญหาเวลานี้คือ มีผู้ลักลอบเอาปูนขาวสาดลงไปบริเวณดอน เพื่อให้หอยออกมาจากรู แต่จะส่งผลให้สภาพพื้นที่กลายเป็นด่าง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่เวลานี้ ทช.กำลังเสนอเรื่องให้ทส.ประกาศพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่ง แวดล้อม ซึ่งจะห้ามดำเนินการใดๆที่จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศพื้นที่นั้น

ผู้ สื่อข่าวรายงานจากข้อมูลของสหภาพสากลว่าด้วยการ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ไอยูซีเอ็น) ได้ทำข้อมูลสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ถูกคุกคามอย่างหนัก ดังนี้ นกน้ำ 826 ชนิด ทั่วโลก หรือร้อยละ 17 ขึ้นบัญชีถูกคุกคาม 1,138 ชนิด หรือร้อยละ 41 มีแนวโน้มจะลดลง สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมร้อยละ 38 ปลาน้ำจืด ร้อยละ 33 สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ร้อยละ 26 เต่า ร้อยละ 72 ของจำนวนเต่าทั้งหมด 92 ชนิด จระเข้ ร้อยละ 43 และปะการังร้อยละ 27

ที่มา : ไทยรัฐ  26 ม.ค. 53

Relate Post