“ไทย” จ่อถูก “สหรัฐฯ” ขึ้น “แบล็กลิสต์ค้ามนุษย์” หลังสื่อนอกแฉ “แรงงานต่างด้าว” ถูกใช้เยี่ยงทาสในส่งออกกุ้งไทย

เอเจนซีส์ – หลังจากข่าวเชิงวิเคราะห์ที่เสนอโดยดิการ์เดียน สื่ออังกฤษ เปิดเผยถึงแรงงานต่างด้าวในไทยที่ต้องทำงานหนักเยี่ยงทาสบนเรือประมงในธุรกิจค้ากุ้ง อาจส่งผลให้ไทยถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำ หากรัฐบาลไทยยังเพิกเฉยไม่จัดการปัญหาค้ามนุษย์

สื่ออังกฤษ หนังสือพิมพ์ดิการ์เดียนรายงานในวันพุธ(11)ว่า สหรัฐฯกำลังพิจารณาลดระดับไทยในบัญชีแบล็กลิสต์การค้ามนุษย์หลังจากการเปิดเผยของหนังสือพิมพ์ดิการ์เดียนก่อนหน้านี้ที่พบว่า แรงงานต่างด้าวถูกปฎิบัติเยี่ยงทาสในอุตสาหกรรมค้ากุ้งส่งออกไปยังตลาดชาติตะวันตก

ทั้งนี้วอชิงตันจะเสนอคดีการค้ามนุษย์ในไทยในรายงานประจำปีที่จะถูกตีพิพม์ในเร็ววันนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐฯออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับไทยได้ ทั้งนี้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้ยืนยันว่าจะพิจารณาท่าทีของรัฐบาลไทยในการจัดการปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมการประมงของประเทศ เช่น แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านถูกลักลอบนำเข้ามาโดยเจ้าของเรือประมง และบังคับให้ทำงานอย่างหนักเยี่ยงทาสในทะเลเป็นเวลาหลายปีโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

นอกจากนี้ดิการ์เดียนยังรายงานว่า การพิจารณาที่มีกำหนดภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้อาจส่งผลให้ไทยต้องถูกลดลำดับขั้นไปสู่กลุ่มที่ 3 “ความเสี่ยงในการค้ามนุษย์” ของบัญชีดำสหรัฐฯที่มีทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนืออยู่ในนั้น และจะส่งผลให้ไทยโดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยทันที และยังถูกระงับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ แต่ถึงแม้ว่ามาตรการลงโทษเช่นนี้อาจได้รับข้อยกเว้น หากมีเกิดสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศอย่างใดอย่างหนึ่ง

“สหรัฐฯทราบถึงรายงานเปิดเผยปัญหาแรงงานทาสในไทยจากหนังสือพิมพ์ดิการ์เดียน” หลุยส์ ซีเดบาคา (Luis CdeBaca ) เอกอัคราชทูตสหรัฐฯด้านการเฝ้าระวังและต่อสู้ภัยค้ามนุษย์ของโลกประจำวอชิงตันที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามาในปี 2009 กล่าวผ่านแถลงการณ์ต่อสื่อ และเสริมว่า “ในขณะนี้ทางเรากำลังอยู่ในขั้นสุดท้ายของการจัดทำรายงานค้ามนุษย์ประจำปี 2014 ที่จะออกเผยแพร่ในปลายเดือนนี้ และจะรวมไปถึงคดีค้ามนุษย์ในไทย และความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหานี้”

ทั้งนี้รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี (TiP) ถือเป็นมาตรฐานในการวัดความพยายามในการปราบปรามภัยการค้ามนุษย์ในระดับนานาชาติ โดยรายงานนี้จะจัดลำดับประเทศต่างๆออกเป็นกลุ่มๆใน 3ระดับที่วัดจากความตั้งใจและความพยายามของรัฐบาลประเทศนั้นในการแก้ปัญหาแรงงานทาสและการค้ามนุษย์

ในปี 2013 ซึ่งถือเป็นปีที่ 3ติดต่อกันที่รัฐบาลไทยพยายามหนีการถูกมาตรการลงโทษ และได้รับการแจ้งเตือนว่า ประเทศไทยจะถูกลดชั้นทันทีในปี 2014 หากยังไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนในการแก้ปัญหาภายในสิ้นปี “กฏหมายสหรัฐฯระบุอย่างชัดเจนว่า มีระยะเวลาจำกัดที่กำหนดว่าภายในกี่ปีที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถอยู่ในระดับ 2 หรือ “กลุ่มที่ถูกจับตามอง” ก่อนที่จะถูกลดระดับตกลงไปอยู่ระดับ 3 ทันที” เอกอัคราชทูตมาร์ค ลากอน ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์จทาว์นให้ความเห็น และกล่าวต่อว่า “หากรัฐบาลสหรัฐฯพิจารณาแล้วว่าไทยมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดก็จะเพิ่มระดับให้ แต่ถ้าไม่ก็จะทำการลดระดับลง และไม่มีความเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสได้รับข้อยกเว้นไม่ถูกลงโทษหรือการผ่อนผัน”

และลากอนยืนยันว่า ไทยกำลังตกอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ประกอบกับรายงานการค้ามนุษย์ประจำปีของสหรัฐฯจะถูกเผยแพร่ภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้ ทำให้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาด้านจริยศาสตร์กับสังคมโลกในการที่ถูกขึ้นบัญชีดำด้านค้ามนุษย์

นอกจากนี้ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์จทาว์นยังได้ชื่นชมความพยายามของสื่อ ดิการ์เดียนที่ได้ใช้เวลาถึง 6 เดือนในการทำรายงานเชิงสอบสวนชิ้นนี้ เพื่อตีแผ่เบื้องหลังอุตสหกรรมการประมงไทย ที่พบว่าการทำงานกะละ 20 ชั่วโมง โดนลงโทษโดยการโบยอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการทรมาน และสังหารในที่สุด

จากการสัมภาษณ์ของนักข่าวดิการ์เดียน แรงงานต่างด้าวจำนวน 15 คนจากพม่าและกัมพูชาได้เล่าประสบการณ์ถึงความโหดร้ายที่พวกเขาได้รับในระหว่างต้องทนทำงานให้กับนายจ้างคนไทยอย่างไร โดยพวกเขาทั้งหมดได้จ่ายเงินให้กับนายหน้าเพื่อหางานให้ทำที่โรงงาน หรือ เขตก่อสร้างในไทย แต่พวกเขากลับถูกขายไปให้กับไต้ก๋งเรือประมง ที่บางครั้งมีราคาถูกมากเพียงแค่ 420 ดอลลาร์

“เป็นงานที่สำคัญเท่าเทียมกับการทำงานของรัฐบาลและองค์การสหประชาชาติคือ การที่นักข่าวสามารถเปิดโปงเรื่องเลวร้ายนี้ได้” ลากอนชื่นชม และกล่าวต่อว่า “และการเปิดเผยนี้มีผลต่อรัฐบาลประเทศที่ถูกตีแผ่ในแง่ความเชื่อถือ การค้า โดยความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารทะเลที่ถูกส่งออกไปขายจากไทยล้วนแต่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น”

ถึงแม้ว่าแรงงานทาสจะผิดกฏหมายทุกแห่งในโลกนี้ รวมถึงไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแหล่งต้นทาง การขนส่ง และปลายทางแรงงานทาสเหล่านี้ โดยรายงานดัชนีแรงงานทาสของโลกชี้ว่า เชื่อว่ามีแรงงานทาสเกือบครึ่งล้านคนทำงานอยู่ในไทย

ทั้งนี้การที่ไทยจะตกอยู่ในกลุ่มที่ 3 หรือกลุ่มประเทศที่ล้มเหลวในการให้ความร่วมมือต่อข้อเรียกร้องของนานาชาติขั้นพื้นฐานเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์และปกป้องผู้บริสุทธิ ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุด และจะมีผลทำให้ไทยอยู่ในลำดับชั้นเดียวกับอิหร่าน เกาหลีเหนือ และซาอุดิอาระเบีย

และการถูกลดระดับนี้จะมีผลให้ไทยต้องถูกจำกัดในการขอรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และรวมไปถึง์เวิลด์แบงก์ และไอเอ็มเอฟ

และก่อนหน้านี้ดิการ์เดียนรายงานถึงผลตอบรับจากบรรดาลูกค้าบริษัทต่างชาติที่นำเข้ากุ้งจากไทย หลังจากการเปิดเผยรายงานค้ามนุษย์ของดิการ์เดียน โดยสื่ออังกฤษรายงานในวันอังคาร(10)ว่า บริษัทซีพีฟูดส์ ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจด้านอาหารของไทยได้เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ส่งกุ้งไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วอังกฤษ และสหรัฐฯ รวมถึงประเทศสมาชิกอียู

และดิการ์เดียนได้ติดตามสินค้ากุ้งของซีพีฟูดส์ไปตามบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่งของโลก รวมถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เช่น วอลมาร์ต คาร์ฟูร์ คอสโก เทสโก อัลดี คูป และมอร์ริสสันและไอซ์แลนด์ และได้ทำการสอบถามความเห็นของลูกค้าเหล่านั้นที่สั่งซื้อกุ้งจากซีพีฟู๊ดส์ หลังจากมีรายงานค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมกุ้งไทยเปิดเผยออกมา

โดยทั้งหมดต่างประนามการค้ามนุษย์และแรงงานทาส และต้องการให้มีมาตรการตรวจประเมินเรื่องความรับผิดชอบทางสังคมอย่างเข้มงวด (social audits) และบางส่วนกล่าวว่า ได้ตระหนักถึงปัญหาแรงงานทาสและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมการประมงไทยและได้เพิ่มมาตรการป้องกันเพื่อแก้ปัญหานี้

วอลมาร์ต – ยักษ์ใหญ่แห่งค้าปลีกจากสหรัฐฯกล่าวว่า “เรากระตือรือร้นต่อปัญหานี้ และได้เป็นส่วนสำคัญในการรวมตัวของทุกฝ่ายเพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาสให้หมดไปจากธุรกิจส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย”

คาร์ฟูร์ – ให้ความเห็นว่า ทางบริษัทได้มีการตรวจประเมินเรื่องความรับผิดชอบทางสังคมกับซัพพลายเออร์ทุกบริษัท รวมไปถึงบริษัทซีพีที่ได้จัดส่งสินค้ากุ้งให้กับคาร์ฟูร์ และได้เข้มงวดมากขึ้นหลังจากพบปัญหานี้ในปี 2012 โดยทางบริษัทยอมรับว่า ไม่ได้ตรวจเช็กทั่วทุกกระบวนการในเครือข่ายที่ซับซ้อนในธุกิจอาหารทะเลของไทย

คอสโก – เปิดเผยว่า ได้ขอให้ซัพพลายเออร์จากไทยแก้ไขโดยการควบคุมแหล่งต้นทางป้อนวัตถุดิบ

เทสโก – ให้สัมภาษณ์ว่า “เทสโกถือว่าแรงงานทาสและค้ามนุษย์เป็นสิ่งที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง และทางเราได้ทำงานร่วมกับซีพีฟูดส์เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้ากุ้งของเทสโกที่ออกมาจากซีพีฟูดส์ต้องปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และทางเทสโกได้ร่วมมือในฐานะพันธมิตรกับหน่วยงานด้านแรงงานสากลและความรับผิดชอบทางการค้า( International Labour Organisation and Ethical Trading Initiative) เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมโดยรอบด้านในอุตสหากรรมการประมงไทย

นอกจากนี้ในส่วนธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ต ได้มีการรวมตัวเพื่อจัดโครงการนำร่องชื่อ “โปรเจ็คต์อิสระ” เพื่อต้องการแสดงถึงข้อห่วงใยต่อปัญหาค้ามนุษย์จากภาคธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตกับซัพพลายเออร์ของไทย โดยพบว่ามีบางส่วนได้พบปะกับผู้ผลิตอาหารทะเลที่กรุงเทพฯในเดือนพฤษภาคมล่าสุด

ที่มา www.manager.co.th/around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000065636

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

www.theguardian.com/global-development/2014/jun/11/us-blacklist-thailand-prawn-trade-slavery-revelations

www.theguardian.com/global-development/2014/jun/10/supermarket-prawns-thailand-produced-slave-labour?CMP=fb_gu

#########

กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆจากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ไม่ได้ทำเพื่อการค้า

Relate Post