ไม่ได้โม้!! น้ำตาลเปลี่ยนโลก

ภาพของน้ำตาลในความรู้สึกของผู้คนทั่วไปคือความหวานสดชื่นแต่หากย้อนดูไปในประวัติศาสตร์โลก หลังจากที่โลกค้นพบความหวานจากน้ำตาลแทนน้ำผึ้ง น้ำตาลก็กลายเป็นความหวานที่มีอานุภาพรุนแรงมากกว่าที่เคยรู้มา

ดังเช่นเรื่องราวในหนังสือเรื่อง น้ำตาลเปลี่ยนโลก Sugar Changed The World จากสำนักพิมพ์มติชน มาร์ค แอรอนสัน และ มาริน่า บูโดส เขียน แปลโดย วิลาสินี เดอเบส ที่เผยเรื่องราวเส้นทางของน้ำตาลในประวัติศาสตร์โลก ให้คนรุ่นหลังได้มองลึกลงไปว่า ภายใต้ความหวานนั้นได้ซ่อนเรื่องราวอันขมขื่น การสูญเสีย การแย่งชิง ทาส พิธีกรรม ฯลฯ โดยมีน้ำตาลเป็นตัวแปรสำคัญ

หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องราว

4 ภาค ได้แก่ ภาคที่ 1 : จากมนต์วิเศษสู่เครื่องเทศ เรื่องราวของการค้นพบความหวานจากอ้อย และถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมที่อินเดีย เป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาการด้านการแพทย์ ไปจนถึงเครื่องเทศ

ภาคที่ 2 : นรก การหลงใหลในความหวานเป็นที่มาของการเกณฑ์ผู้คนมาปลูกอ้อย ซึ่งที่แท้จริงแล้วคือแรงงานทาสที่ต้องทำงานหนักในไร่อ้อย พื้นที่แห่งความหวานที่ไม่ต่างจากนรก

ภาคที่ 3 : อิสรภาพ แรงกดดันจากการใช้งาน เช่น ทาส ทำให้น้ำตาลกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองจนเกิดการปฏิวัติและเลิกทาส

และ ภาคที่ 4 : กลับมาสู่เรื่องของเรา คนงานใหม่ น้ำตาลชนิดใหม่ น้ำตาลทำให้เกิดการแสวงหาแรงงานเพื่อทำงานในโรงงานน้ำตาลและไร่อ้อยที่เต็มไปด้วยเล่ห์กล

น้ำตาลในประวัติศาสตร์โลกฉบับย่อมเล่มนี้ อาจเปลี่ยนรสชาติของน้ำตาลให้ขมขึ้นมาทันทีที่อ่านจบ และไม่แน่ว่าประวัติศาสตร์หน้าใหม่เกี่ยวกับน้ำตาลก็กำลังถูกบันทึกขึ้นนับจากนี้ เนื่องจากโลกยังต้องเผชิญกับการแย่งชิงทรัพยากรความหวานที่ได้จากอ้อย เพราะไม่เพียงน้ำตาลจะเป็นส่วนประกอบของอาหารในจานของคนทั่วโลก ยังเป็นพืชกลุ่มพลังงานที่ใช้ผลิตเอทานอล น้ำตาลจึงเป็นความหวานที่เปลี่ยนโลกได้ตลอดเวลา

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ คอลัมน์ Book Capital วันที่ 11 กันยายน 2555 โดย ชนิตสิรี ไกรฤกษ์ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1347359987&grpid=09&catid=no&subcatid=0000#

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post