ภายในซอยเสือใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร ใจกลางกรุงเทพฯ หลังสนามกอล์ฟพาร์ 3 มีแปลงผักขนาดใหญ่ 200 ตารางวา ใช้ปลูกผักขายแบบเต็มระบบ ใครเห็นเป็นต้องถาม ใครเป็นเจ้าของ
บังเอิญ ศรีอินทรสุด ชายวัย 60 ปี ปัจจุบันทำงานอยู่องค์การโทรศัพท์ ยิ้มต้อนรับด้วยความใจดี เล่าถึงแปลงผักนี้ให้ฟังว่า ที่จริงมี 2 ไร่กว่าเกือบ 3 ไร่ ปลูกไม้ใหญ่ เช่น มะม่วง กล้วย ขนุน สะตอ ใต้ไม้ใหญ่จะเป็นเตยหอม จะกำไว้ขายคนทำขนม เพราะย่านนี้จะมีคนขายโรตีสายไหมจะมาสั่ง โลละ 10 บาท
ไม้หลักที่ปลูก เช่น มะนาว มะเขือพวง ใบย่านาง กะเพรา ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด บวบเหลี่ยม ฟักทอง กล้วย เตย ตำลึง แล้วแต่ฤดู ส่วนพื้นที่ในบ้าน ปลูกกะเพรา โหระพา ใบเตย ผักชีฝรั่ง พืชผักสวนครัวทุกชนิด
ผักที่ปลูกจะเก็บมาให้แม่ นางจีบ คล้ายรัศมี อายุ 83 ปี นั่งกำขายแม่ได้ออกกำลังมือ ใช้ความคิดจดลงสมุดบัญชี แม่บอกเงินที่ได้ก็เป็นค่าข้าวสาร น้ำปลา
บังเอิญบอก เงินไม่ใช่ปัญหา จริงๆไม่อยากให้แม่เหงา
บังเอิญและนายอนันต์ น้องชาย ผลัดกันช่วยเก็บผักมาให้แม่ทุกวัน อยากให้แม่พักผ่อน เปิดเพลงฟัง นั่งกำผักไป ทำให้เพลิน ยืดอายุแม่ สิ่งหนึ่งคือความสุขได้ผูกพันกับธรรมชาติ เวลาว่างที่มีเราไม่สมควรให้มันหายไป
เย็นๆแม่ค้าตลาดเสนาจะมารับผักทุกวัน เฉลี่ยประมาณ 400-500 บาท
แม่เป็นคนขยัน ปลูกฝังลูก อันนี้สำคัญ เรียกว่าตกทอด เราต้องส่งถึงลูก สร้างต้นแบบของสังคม เป็นตัวอย่างให้สังคม หรือเป็นต้นแบบให้คนอยากทำ มีที่แล้วคุณไม่รู้ทำไร ลองแบบนี้ซิ จริงๆเราอยากให้เกิดความสุข ตรงนี้มันซื้อด้วยเงินไม่ได้ ถ้าเราทำแล้ว ทำๆ ไปประสบการณ์มันมี มันจะสอนทุกอย่าง
ทำกันสองคนกับน้องชาย เราทำเป็นระบบน้ำ มีถังน้ำใส่ปุ๋ยชีวภาพไว้แล้วปล่อยไปตามสายยาง น้องจบทางเกษตร นั่นคือข้อได้เปรียบ เขาดูแลตลอด เราจะมาช่วยวันธรรมดาตอนเย็น แล้วก็เสาร์-อาทิตย์
ผักพวกนี้ไปซื้อตลาด รสชาติผิดกันเลย เพราะเราไม่ได้ใช้ปุ๋ย เราใช้จุลินทรีย์ชีวภาพ
นอกจากปลูกผักยังมีบ่อปลา ปลาแรดเลี้ยงไว้ขายเป็นตัว ขายสายพันธุ์ บ่อปลานิล ปลาตะเพียน ไม่กล้ากิน ไม่กล้าขาย และบ่อตะพาบ เราปลูกชมพู่ไว้ ใต้ต้นก็ขุดบ่อเลี้ยงปลา พอมันสุกหล่นลงมาให้ปลาได้กิน
เป้าหมายหลัก เราจะทำเป็นเกษตร เรามีที่ แต่ไม่มีคำจำกัดความ เอาแค่ว่าเราอยู่แบบ ปลูกที่กิน กินที่ปลูก ถามว่ามีขโมยไหม ไม่มี เพราะหนึ่ง เราใช้รอบบ้านเป็นรั้วหมด มีอะไรในสวนเราก็แบ่งเอาไปให้เขากิน และที่นี้ไม่มีงูเพราะปลูกไม้กันงูไว้
คิดแค่นี้ง่ายๆ ไม่ต้องวางหลักการให้ใหญ่โตหรือให้เป็นหลักฐานมั่นคงอะไร เราทำระบบง่ายๆ คือปลูกที่กิน กินที่ปลูก เหลือก็ขาย ครอบครัวมีความสุขได้มีส่วนร่วมด้วย ว่างก็เข้าไปเที่ยวเก็บโน่นนี่ เพื่อนมาก็เพลิน ผักที่ปลูกเอามาทำกินอร่อยกว่าเยอะ
พ่อเสียไป 6 ปี ก่อนหน้าพ่อขายที่ไป 19 ไร่ ให้บ้านสวนธนสร้างคอนโดฯ ขายไปแล้วเงินที่ได้มาทุกวันนี้ยังกองอยู่ ถามว่าทำอะไร เราไม่สนใจสมบัติ เราอยู่ง่ายกินง่าย สูบบุหรี่นิดหน่อย เหล้ากินนิดหน่อยเวลาออกงาน
บังเอิญบวชมา 6 ปี ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตลอด สิ่งนี้มันทำให้มีสติ ทำให้อยู่ในกรอบ สิ่งที่ตอบกลับมา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจจักรยาน คนหลงคือคนประมาท
ถามว่าจะทำเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือไม่…ไม่คิด ซื้อที่เก็บให้ลูก เรามีเงินเดือน มีโบนัส แฟนทำงานธนาคารกรุงศรี มีโบนัส มีแต่ซื้อเข้าไม่ได้ขายออก ลูกสาว 2 คน คนโตจบโทรามฯ คนเล็กอยู่ปี 2 นิเทศฯ ม.กรุงเทพ
พฤติกรรมพื้นฐานที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เราเคยจน เป็นลูกชาวนา เคยลำบาก เพราะฉะนั้นคำว่าเคยจน กินข้าวคลุกน้ำมันหมูกับกะปิ พ่อมีที่ 20 กว่าไร่ มีลูก 4 คน ไม่มีตังค์ แต่มีนา ขนมหลักคือน้ำตาลปี๊บ ตวงข้าวทีถึงจะได้กิน ขนมโก๋ หรือมีงานลงแขกก็จะได้กินข้าวเหนียวถั่วดำ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล แกงบวดฟักทอง
ทำให้เรารู้สึกว่า พอเรามีที่เราต้องดูแลที่และใช้พื้นที่ให้ได้เงินได้ทอง เพราะเมื่อก่อนเราไม่เคยได้เงิน มีที่คิดทำยังไงให้ได้เงิน เราก็หาทางทำ เราจะใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันมีอยู่นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตรงนี้คือสัญชาตญาณ บีบบังคับให้เราทำ พูดชัดๆเลยว่าเกิดจากตรงนี้ มีที่มา ฉะนั้นทำให้เราต้องดูแลและต้องบูรณาการที่เรามีอยู่นี้ให้ได้ประโยชน์ และสิ่งที่ได้ประโยชน์มันก็เป็นต้นแบบให้กับตัวเอง ให้กับลูก
เราไม่ได้มองถึงสังคมภายนอกนะ กรอบของเราในบ้าน เราทำข้างในบ้านให้เห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้ ช่วงว่าง มีงานจักรยานล้อโตแบบโบราณ ทุกคันประกอบมือหมด ถอดแบบจากหนังสือ ทำเป็นกระดาษแข็งส่งร้านเหล็กตัด คำนวณความเหมาะสม วัดเสร็จแล้วมาดูเหล็กว่าใช้ปริมาตรไซส์เท่าไหร่ ตัดเสร็จก็มานั่งแต่ง ประกอบเชื่อม เฉลี่ยเดือนละ 1 คัน อย่างต่ำสุดปีละ 10 คัน ส่วนน้อยที่ขายไปเพลินวาน หัวหิน 2 คัน และรีสอร์ตที่วังรี จ.นครนายก
ถ้าคุณอยากมีจักรยานล้อโต มาที่ร้าน คุยกันก่อน เพราะคนที่ซื้อ หนึ่งเพราะอยากได้ สองอยากสะสม สามเพราะยังไม่มีความรู้ จึงต้องมาคุยรายละเอียด ศึกษากันก่อน เช่น ประวัติของรุ่น ยี่ห้อ
จักรยานล้อโตจะไม่ขาย คนที่อยากได้จ่ายคันละ 2.5 หมื่น ราคาทุน ค่าแรงผมไม่เอา ผมเอาเฉพาะวัสดุอุปกรณ์ เสร็จเรียบร้อย คุณเอาเงินจำนวนนี้กองเอาไว้ เป็นทุนหมุนเวียนให้ผมทำรถต่อไป
“เวลามีงานโชว์ผมจะแจ้งคุณ แต่ถ้าคุณมีกิจกรรมผมก็ไปร่วมงาน เพราะฉะนั้นรถของคุณอยู่ที่นี่ เพราะที่นี่คือเป็นที่เก็บ เวลามีงานติดต่อมา
เขาจะติดต่อมาทางผม ซึ่งเป็นประธานชมรม”
รายได้ที่มาจากกิจกรรมจักรยานล้อโตเหล่านี้ บังเอิญเอาไปใช้ทำกิจกรรมให้สังคม “โครงการพี่ให้น้อง” บังเอิญเป็นคนเริ่ม มีหัวหน้าฝ่ายข่าวช่อง 5 ช่างภาพช่อง 5 ที่เปิดร้านจักรยานร่วมด้วยกัน รายได้จากการขายจักรยาน เอามาทำกิจกรรมแจกของเด็กขาดแคลน
ทีแรกเราไปก่อน พอเราทำบ่อยๆ เราไปเป็นเอกเทศ มันดูแล้วไม่มีหลัก เพราะฉะนั้นจึงเอาฝ่ายข่าวเป็นหลัก เราก่อตั้งขึ้นมา 14-15 ปีที่แล้ว โครงการพี่ให้น้อง โดยฝ่ายข่าวช่อง 5 ส่วนพี่ก็เอาชมรมจักรยานล้อโตร่วมด้วย
พวกโรงเรียนได้ข่าวมา ครูก็จะส่งข้อมูลมาให้ เราดูว่าอันไหนหนักที่สุด ลำบากสุด
ครั้งต่อไปวันที่ 8-10 ธ.ค. ทั้งหมด 35 คัน ไปที่น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ให้โรงเรียน 3 โรง โรงเรียนหนึ่ง 15 คัน อีกโรงเรียน 10 คัน อีกโรงเรียน 10 คัน เราใช้หลัก เด็ก 10 คน จากบ้านไปโรงเรียนกิโลหนึ่ง ไปกลับสองโล เอาไป 1 คัน
ส่วนจักรยานเราซื้อจากบริษัทที่เคยติดต่อกัน ถ้าตลาดประมาณ 2 พันกว่า แต่เราไปซื้อที่โรงงานคิดคันละพัน เด็กได้จักรยาน ความรู้สึกมันจะได้รางวัลในชีวิตตอนเด็กๆ มันจะฝังจนกระทั่งเขามีอนาคต
ตรงนี้อย่าลืมว่าเราเป็นลูกชาวนาดั้งเดิมเคยจน มีนาแต่ไม่มีตังค์ เพราะฉะนั้นได้ในสิ่งที่มันมีอะไรขึ้นมามันก็จะฝังใจอยู่ตลอด คิดว่าจะทำไงที่จะคืนสังคมได้ มันกระตุ้นต่อมของเราอยู่ตลอดเวลา
การให้ที่คิดว่าให้คนหิว ให้เด็ก มันบริสุทธิ์ เป็นการคืนให้สังคมเป็นเรื่องที่ดี ทำมาประมาณ 13 ปี ปีนึงมี 2 ครั้ง หลักๆวันพ่อ หรือปีใหม่ คนที่ไปแจกจะเป็นคนที่อาสา เอาครอบครัวไป เราคอยดูแลที่พัก เรื่องอาหารเรามาแชร์กัน ที่พักจะเป็นอุทยานหรือบ้านพัก รีสอร์ต คนรู้จักหาที่พัก
พาลูกไปตั้งแต่เล็กๆ ไปรู้จักการให้ เพราะฉะนั้นการที่เราไปให้เขา มันเป็นเรื่องที่วิเศษสำหรับเขาดีที่สุด เรามามองว่าเราเป็นหนึ่งในครอบครัวเล็กๆ ที่อยู่ในชนบทห่างไกล อยู่ดีๆ มีผ้าห่ม มีอุปกรณ์ครบ เด็กมาได้จักรยานจูงกลับบ้าน มันเหมือนกับได้แจ็กพอตเราไปให้โอกาสเขา
พี่จะเขียนไปรษณียบัตร 1 ใบ พร้อมจักรยาน ชื่อที่อยู่ของเราติดจักรยาน เด็กจะตอบกลับมา“ขอบคุณที่ให้เกิบ (รองเท้า) หนู ให้ชุดเรียนหนู และให้จักรยานหนู หนูจะตั้งใจเรียน”
การให้เหล่านี้ เมื่อให้ไปแล้ว ก็กลับเอามาปลูกฝังลูก พฤติกรรม นิสัย การดำเนินชีวิตของลูก ไม่ได้สอนมากมาย ลูกๆจะสำเหนียกด้วยตัวเขาเอง ทางที่เขาเดินหรือหน้าที่ที่เขาทำทุกวัน เขาจะเดินไปเอง ไว้ใจได้ไม่ออกนอกกรอบ ความภูมิใจตรงนี้มันทำให้เรามีกำลังใจทำในเรื่องนี้ต่อไป ทำต่อไป.
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 29ตุลาคม2555
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/301856
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”