นักวิจัยยุโรประบุ โรคอ้วนอาจเกิดจากพฤติกรรม “เสพติดอาหาร” หากเป็นโรคจริงเชื่อจะหาวิธีรักษาได้
นักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มประเทศยุโรปกำลังร่วมมือวิจัยว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่การบริโภคมากเกินไปจะเกิดจากสาเหตุของการเสพติดทางพฤติกรรม ซึ่งหากได้รับการยืนยันว่าเป็นจริง กลุ่มนักจิตวิทยาจะสามารถวินิจฉัยให้เป็นโรคและหาวิธีการรักษาได้
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายกล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่าประชากรโลกราว 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 200 คน ที่มีพฤติกรรมบริโภคมากเกินไป มีอาการที่ตรงกับเกณฑ์ของอาการเสพติดดังกล่าว
กลุ่มนักวิจัยจาก 7 ประเทศในยุโรปได้ก่อตั้งโครงการ “นิวโรฟาสต์” มูลค่า 5 ล้านยูโร เพื่อทำการทดสอบพฤติกรรมเสพติดอาหาร ศาสตราจารย์จูเลียน เมอร์เซอร์ จากมหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีน กล่าวว่า “หากเราสามารถมีความเห็นตรงกันได้ว่า จะจัดพฤติกรรมการบริโภคเกินขนาดให้เป็นโรคได้หรือไม่ มันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในกระบวนการรักษา รวมถึงนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับโรคอ้วน”
เมอร์เซอร์ยังเสริมอีกว่า ในอันดับแรก การวิจัยจะช่วยชี้ให้เห็นว่า การเสพติดอาหารคือสาเหตุของการบริโภคเกินขนาดหรือโรคอ้วนหรือไม่ นอกจากนี้ การจำแนกสาเหตุที่แตกต่างกันของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน จะช่วยนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย รวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเจาะจงและตรงกับสถานการณ์
ในอนาคต กลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมบริโภคเกินขนาดบางส่วนอาจได้รับการยอมรับว่า เป็นผลพวงมาจากการเสพติดอาหาร และการรักษาที่เสนอให้กับพวกเขาอาจเป็นไปในแนวทางเดียวกับผู้ที่ติดยาเสพติดหรือติดแอลกอฮอล์
สัญญาณของอาการเสพติดประกอบไปด้วยการอดกลั้น อาการถอน อาการอยากเรื้อรัง การไม่สามารถหยุดพฤติกรรมได้ถึงแม้จะมีผลต่อร่างกายและจิตใจ มีพฤติกรรมเสี่ยง และใช้เวลาส่วนมากไปกับการระงับความอยาก ซึ่งอาการส่วนมากปรากฏในกลุ่มคนบางส่วนที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการบริโภคได้
ที่มา: ไทยโพสต์ วันที่ 8 กันยายน 2555 http://www.thaipost.net/news/080912/62094
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”