สต็อกโฮล์ม – การศึกษาล่าสุดของ WWF และมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ระบุว่าแผนการสร้างเขื่อนพลังน้ำบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อาจทำลายประชากรปลา ซึ่งเป็นแหล่ง โปรตีนหลักสำหรับประชากร 60 ล้านคน นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนยังส่งผลให้ประชาชนต้อง หันไปทำเกษตรกรรมเพื่อทดแทนพลังงานแคลอรี่ โปรตีน และสารอาหารรองที่สูญเสียไป
ขณะนี้มีการวางแผนสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำโขง 11 โครงการ และยังมีแผนก่อสร้างอีก 77 เขื่อนบริเวณลุ่มน้ำโขงภายในปี 2573 ในการศึกษา “เขื่อนในลุ่มน้ำโขง : การสูญเสียโปรตีนจากปลาและนัยยะต่อผืนดินและแหล่งน้ำ” ได้ศึกษา สภาวะการณ์ใน 2 ลักษณะ นั่นคือ การสูญเสียโปรตีนจากปลาอันเนื่องมาจากโครงการก่อสร้างเขื่อน 11 แห่งที่จะเกิดขึ้น และการทดแทนการสูญเสียโปรตีนจากปลาในขั้นสุดท้าย อันเนื่องมาจากผลกระทบของการสร้างเขื่อนทั้งหมด 88 แห่งที่จะเกิดขึ้น
จากการศึกษาพบว่าหากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 11 แห่งเกิดขึ้นจริงตามแผนที่วางไว้ จำนวนปลาที่มีอยู่จะลดลงไปร้อยละ 16 และมีการประเมินว่าจะสร้างความสูญเสียด้านเศรษฐกิจปีละกว่า 14,000 ล้านบาท (476 ล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 88 แห่งจริง จำนวนปลาจะลดลงไปถึงร้อยละ 37.8
สจวร์ต ออร์ ผู้จัดการน้ำจืด WWF International ผู้ร่วมศึกษากล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบาย มักจะไม่ให้ความสำคัญกับบทบาท ของการประมงน้ำจืดที่มีต่อความมั่นคงทางอาหาร “ประเทศลุ่มน้ำโขงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรุดหน้า และพวกเขามองว่าเขื่อนพลังน้ำเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อันดับแรกแล้ว พวกเขาควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และควรนำประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่แท้จริง ในการปล่อยให้แม่น้ำโขงไหลอย่างเสรีมาพิจารณาด้วย”
แม่น้ำโขงตอนล่าง ที่ไหลผ่านกัมพูชา ลาวไทย และเวียดนาม นั้น ขึ้นชื่อในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ในแม่น้ำมี ปลาน้ำจืดมากกว่า 850 สายพันธุ์ ปลาเหล่านี้เป็นอาหารพื้นฐานและรากฐานทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ประชากรราวร้อยละ 80 ของประชากร 60 ล้านคนที่อาศัยในแถบนั้น พึ่งพาน้ำโขงโดยตรงในการหาอาหารและดำรงชีวิต
รายงานยังศึกษาถึงผลกระทบต่อผืนดินและน้ำ ในกรณีที่คนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเลี้ยงวัว หมู สัตว์ปีกและแหล่งอาหารอื่นๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการโปรตีน ซึ่งนอกจากพื้นที่ 1,350 ตารางกิโลเมตร ที่ต้องสูญเสียไปเพื่อใช้เป็นเขื่อนกั้นน้ำแล้ว ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนี้ยังต้องหาพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์แห่งใหม่อย่างน้อย 4,863 ตารางกิโลเมตร เพื่อใช้โปรตีนจากปศุสัตว์ทดแทนปลา และการประเมินขั้นสูงสุดหากมีการสร้างเขื่อนขึ้นจริง พบว่าต้องหาพื้นที่ถึง 24,188 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับต้องหาพื้นที่ทำปศุสัตว์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63
ความต้องการใช้น้ำก็จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยระหว่างร้อยละ 6 ถึง 17 แต่สำหรับกัมพูชาและลาวแล้ว ภายใต้สภาวะการณ์ที่หนึ่ง ที่มีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง 11 แห่ง ตัวเลขประมาณการณ์ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและปศุสัตว์ในกัมพูชา จะเพิ่ม ขึ้นถึงร้อยละ 29-64 ขณะที่รอยเท้าทางนิเวศน์ในการใช้น้ำของลาวจะเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 12-24 และหากเป็นไปตาม สภาวะ การณ์ที่สอง ซึ่งมีการสร้างเขื่อน 88แห่ง ตัวเลขเหล่านี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้น นั่นคือ กัมพูชาจะต้องการน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 42-150 ส่วนลาวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18-56
“ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาค จะต้องถามตัวเองว่าพวกเขาจะไปหาที่ดินและแหล่งน้ำเพิ่มจากไหน” ออร์กล่าว “แม่น้ำโขงแสดง ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ อาหารและพลังงาน หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับพลังงาน ก็จะเกิดผลกระทบอย่าง รุนแรงต่ออาหารและน้ำ และที่สำคัญคือประชาชน”
รายงานฉบับนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Global Environmental Change และได้นำเสนอระหว่างสัปดาห์น้ำโลกที่กรุงสต็อกโฮล์ม รายงานยังเผยแพร่ในช่วงเวลาสำคัญที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนพลังน้ำในภูมิภาค และเริ่มมีการเดินหน้าก่อสร้าง เขื่อนไซยะบุรีในลาว ที่เป็นที่พิพาทแล้ว แม้ว่าจะมีการตัดสินใจจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยแม่น้ำโขง ให้ชะลอโครงการก่อสร้างเพื่อรอการศึกษาเพิ่ม ซึ่งเขื่อนแห่งนี้จะเป็นเขื่อนแรกในแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่าง
“เราหวังว่าการศึกษานี้จะช่วยเติมเต็มช่องว่างของความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนที่จะสร้างขึ้น” ด็อกเตอร์เจมี พิตท็อก ผู้ร่วมศึกษาจากสำนักศึกษาด้านนโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด (Crawford School of Public Policy) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าว
WWF เรียกร้องให้ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างยืดเวลาในการตัดสินใจก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงออกไปอีก 10 ปี เพื่อให้มั่นใจ ว่าได้มีการรวบรวมข้อมูลสำคัญๆ และตัดสินใจบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ WWF ขอแนะนำเพิ่มเติมให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างพิจารณาโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำโขงก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากจะสามารถประเมินผลได้ง่ายกว่าและคาดว่าจะมีผลกระทบและความเสี่ยงน้อยกว่าอีกด้วย
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 27 สิงหาคม 2555 โดย ณัฐญา เนตรหิน http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=138642&catid=176&Itemid=524
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”