นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก เตรียมผลักดันร่างกฎหมาย ห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม ที่มีปริมาณเกินขนาดปกติ โดยกฎหมายดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับมือกับโรคอ้วนในหมู่ชาวอเมริกัน
นายไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก เตรียมนำเสนอกฎหมายห้ามจำหน่ายน้ำอัดลมที่มีขนาดเกิน 16 ออนซ์ในร้านอาหาร รถเข็นขายอาหาร สนามกีฬา รวมถึงโรงภาพยนตร์ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า กลุ่มผู้ใหญ่กว่าร้อยละ 58 ในนครนิวยอร์ก รวมถึงเด็กนักเรียนกว่าร้อยละ 40 มีปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่ง มาจากการดื่มน้ำอัดลม ที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดีกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำ ร้านขายยา ซึ่งมักจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าวในรูปแบบขวดและกระป๋อง และไม่รวมถึงเครื่องดื่มประเภทน้ำตาลน้อย เครื่องดื่มกาแฟผสมนม ซึ่งจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสาธารณสุขนิวยอร์กต่อไป
ด้านโคคา-โคล่าและแม็คโดนัลด์ส กล่าวตำหนิมาตรการดังกล่าว โดยโค้กกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ชาวนิวยอร์กคาดหวังและควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้ และควรที่จะเป็นผู้ตัดสินได้เองว่าพวกเขาควรหรือไม่ควรบริโภคสิ่งใด ทั้งนี้ ปริมาณดังกล่าว เป็นปริมาณที่เทียบเท่ากับ”แก้วเล็ก”ที่เสิร์ฟในแมคโดนัลด์ส ขณะที่แก้วกลางมีขนาด 21 ออนซ์ และแก้วใหญ่มีปริมาณ 32 ออนซ์ ส่วนสำหรับเด็กมีปริมาณ 12 ออนซ์
ซึ่งความพยายามนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวของนายบลูมเบิร์กนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหยุดยั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการด้านสุขภาพของนครนิวยอร์ก ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ เพื่อรอรับการอนุมัติต่อไป
โฆษกของแมคโดนัลด์สกล่าวว่า การต่อสู้กับโรคอ้วน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่าย รวมถึงความเข้าใจในปัญหาอย่างถ่องแท้ และว่าคำเตือนดังกล่าว เป็นการมองจากมุมแคบๆและชี้นำไปในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่ได้ระบุว่า รายได้ของแมคโดนัลด์สจากการจำหน่ายน้ำอัดลมมีจำนวนเท่าใด
ทั้งนี้ เมื่อปี 2003 สภานครนิวยอร์กได้ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในบาร์และร้านอาหารต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ควันบุหรี่ไปทำลายสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งในช่วงแรกที่มีการออกกฎหมายนี้ มีประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้านอย่างหนัก โดยอ้างว่า กฎหมายดังกล่าว ริดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่หลังจากที่มีการบังคับใช้ไปได้สักระยะ ก็เริ่มมีคนยอมรับกับกฎหมายนี้มากขึ้น และเชื่อว่าท้ายที่สุดทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
ที่มา: มติชนออนไลน์ วันที่ 01 มิถุนายน 2555 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1338539210&grpid&catid=06&subcatid=0600
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า