ตะลึง ! ฟอร์มาลินในปลาทับทิม จากคนเลี้ยงถึงคนกิน

“ผู้เลี้ยงปลา” ยอมรับว่าใช้ “สารฟอร์มาลิน “แช่ปลาก่อนจับขาย” แม่ทองบ่อ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล บ้านท่องบ่อ อ.โกสุม จ. มหาสารคาม ชาวนาผู้ผันตัวเองมาเลี้ยงปลากระชังในลำน้ำแม่ชี เมื่อปี 2549 บอกว่า เธอจะใช้ฟอร์มาลินน็อคปลาใกล้ตายก่อนนำออกขาย

อนที่ 1 ” สารฟอร์มาลิน-เชื้อดื้อยา” ปลาที่ผู้บริโภคเลือกไม่ได้

“ผู้เลี้ยงปลา”ยอมรับว่าใช้ “สารฟอร์มาลิน “แช่ปลาก่อนจับขาย”

แม่ทองบ่อ  เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล บ้านท่องบ่อ อ.โกสุม  จ. มหาสารคาม ชาวนาผู้ผันตัวเองมาเลี้ยงปลากระชังในลำน้ำแม่ชี เมื่อปี 2549  บอกว่า เธอจะใช้ฟอร์มาลินน็อคปลาใกล้ตายก่อนนำออกขาย

การใช้ฟอร์มาลินน็อคปลาก่อนจับขาย เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้เลี้ยงปลากระชังทั้งหมู่บ้านใช้ เมื่อเห็นว่าปลามีอาการป่วย โดยจะนำพลาสติกมาห่อกระชังปลาและนำฟอร์มาลีนมาคลุกเคล้าปลาในกระชัง เพื่อฆ่าเชื้อไม่ให้ปลาตายก่อนจับ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยยืดอายุปลาไม่ให้ตายได้นานขึ้น และทำให้ขายได้ราคาดีกว่าปลาที่ตายแล้ว

“ฉันใช้ฟอร์มาลินอุ้มปลาเพื่อฆ่าเชื้อโรค” เบญจา จันทร์ติ้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทับทิมในแม่น้ำ

เบญจา จันทร์ติ้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทับทิม ในแม่น้ำท่าจีน อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี บอกเช่นกันว่า เกษตรกรเกือบทุกรายที่เลี้ยงปลาทับทิมลุ่มแม่น้ำท่าจีน ใช้สารฟอร์มาลินในการอุ้มปลาเพื่อไม่ให้ปลาตาย โดยเซลล์บริษัทขายอาหารปลาได้แนะนำให้พวกเขาอุ้มปลาด้วยฟอร์มาลินเพื่อไม่ให้ปลาตาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายกระชังละ 500 บาท

“ผมเห็นชาวบ้านแช่ปลาด้วยฟอร์มมาลินแล้วจับขึ้นมาขายเลย รู้สึกไม่สบายใจ” อุบล  อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกยืนยันว่าการใช้ฟอร์มาลินกลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้เลี้ยงทำก่อนจับปลาขาย

ขณะที่ ปองพล สารสมัคร  ผู้บริโภคที่มักจะเลือกทำอาหารด้วยเมนูปลาบอกว่า รู้สึกกลัวเมื่อทราบว่าผู้เลี้ยงปลาใช้สารฟอร์มาลินในการเลี้ยงปลา เขาบอกว่าหลังจากนี้หากต้องเลือกซื้อปลา คงต้องเลือกปลาที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยไม่มีสารตกค้าง เพราะที่ผ่านมาเขาคิดว่า ปลาคืออาหารจานสุขภาพ

เช่นเดียวกับ นิตยา สดวัฒนา แม่บ้านรายหนึ่งบอกว่าเธอไม่เคยรู้ว่ากระบวนการเลี้ยงปลา ต้องใช้สารฟอร์มาลิน และเป็นสารชนิดเดียวกับการดองศพ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เธอกลัวปัญหาสารตกค้างมาก จนไม่แน่ใจว่าเธอควรบริโภคปลาต่อไปหรือไม่

1.9

ใช้ฟอร์มาลินไม่ผิดกฎหมาย

แม้จะเป็นข้อมูลที่น่าตกใจสำหรับผู้บริโภค แต่ในทางสัตว์บาลแล้วการใช้สารฟอร์มาลินในการเลี้ยงปลาสามารถทำได้ และเป็นสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมาย โดย อดิศร์ กฤษณวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บอกว่า สารฟอร์มาลินเป็นสารที่กรมประมงอนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมาย และเกษตรกรมักจะนำมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรค ทำความสะอาดกระชังปลา ไม่ได้มีอันตรายเพราะเป็นสารที่ระเหยเร็ว

ขณะที่หน่วยงานอนุญาตการขึ้นทะเบียนยาอย่าง วินิต  อัศวกิจวิรี  ผู้อำนวยการกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ยืนยันเช่นกันว่า การใช้ฟอร์มาลินในการฆ่าเชื้อโรคของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาไม่ได้น่าห่วง เพราะสารฟอร์มาลินระเหยง่ายไม่มีปัญหาการตกค้างมากนัก ยกเว้นเพียงการแช่ปลาหมึกในระยะเวลานาน

“การที่เกษตรกรแช่ปลาทับทิมด้วยฟอร์มาลิน คงแช่ได้ไม่นานเพราะถ้านานไป สารฟอร์มาลินจะเข้าไปฆ่าเนื้อปลาและทำให้เนื้อปลาตาย ขายไม่ได้” วินิตบอกว่า การแช่ปลาก่อนขายของเกษตรกรน่าจะเป็นเรื่องการฆ่าเชื้อที่ทำในระยะเวลาสั้น จึงไม่น่าจะมีปัญหาสารตกค้างจนสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภค

แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือการใช้ยาปฏิชีวนะอื่นอีกหลายตัว ประกอบด้วย

  • คลอแรมเฟนิคอล
  • ไนโทรฟิวราโซน
  • ไนโทรฟิวแรนโทอิน
  • ฟิวราโซลิโดน
  • ฟิวแรลทาโดน
  • มาลาไคต์ กรีน รวมทั้งวิตามินหลายชนิด  ทั้งวิตามินซี วิตามินรวม

แม้จะอนุญาตให้ใช้ได้ แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไปก็สร้างปัญหาตกค้างในเนื้อปลาและทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาในคนได้ด้วย

วินิต บอกว่า มียาปฏิชีวนะยาที่ใช้กับปลาน้ำจืดทั้งหมด 282 ตำรับ มีทั้งยาเดี่ยว 253 ตำรับ และยาผสมอีก 29 ตำรับ ส่วนฟอร์มาลิน ก็อนุญาตให้ใช้ในปลาได้เช่นกัน เพราะเป็นยาช่วยฆ่าเชื้อและเป็นสารระเหยง่ายไม่ตกค้าง ไม่มีปัญหามากนัก

แต่ปัญหาที่น่าห่วงคือ เชื้อดื้อจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไป เพราะเมื่อสัตว์เริ่มมีอาการป่วยเกษตรกรมักคิดจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อให้อยู่รอด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจจะมีสารเคมีตกค้างในเนื้อปลาได้และส่งต่อมาถึงผู้ บริโภคได้

แม้จะมีการควบคุมระยะเวลาการใช้ยาโดยยาทุกชนิดต้องหยุดใช้ ก่อนจะจับปลาไปขาย14 วัน แต่ก็มักจะพบว่า เกษตรกรฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว เพราะห่วงว่า สุดท้ายแล้วปลาตาย พวกเขาก็จะขายปลาไม่ได้ราคา

“เรามักจะพบเกษตรกรไม่ทำตามคำแนะนำในการใช้สารเคมี บางครั้งซื้อยามาใช้เอง หรือบางครั้งมักจะใช้ตามเซลล์ขายยาที่แนะให้นำสูตรใหม่มาเข้า ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยมากกว่าฟาร์มขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐาน ” วินิตบอก

map-plaathabthim_0

หวั่นเชื้อดื้อยาในคน

ปัญหาการดื้อยาจากการใช้ยาไม่เหมาะสมของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ จึงน่าเป็นห่วงไม่น้อย และมักจะกลายเป็นหัวข้อถกเถียงในวงวิชาการที่เกรงว่าเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นจากสัตว์  มีความเป็นไปได้ที่จะแพร่กระจายมายังมนุษย์

“ที่เราเป็นห่วงคือเชื้อดื้อยาที่ทำปฏิกิริยาในตัวสัตว์แล้วกลายพันธุ์ แพร่เชื้อดื้อยาลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้คนและสัตว์อื่นๆที่บริโภคน้ำเข้าไปแล้วเกิดเชื้อดื้อยา เป็นสายพันธุ์ดื้อยาแบบใหม่ขึ้นมา  ทำให้การรักษาโรคในคนทำได้ยากขึ้น”

วินิต บอกว่าในอนาคต อย.จะทำฉลากยาในสัตว์น้ำให้มีความละเอียดมากขึ้น เพื่อควบคุมการใช้ยาผิดประเภท หรือมีการใช้ยามากเกินไป เพราะที่ผ่านมาเราจะเข้มงวดเฉพาะอาหารที่ส่งออก แต่สำหรับในประเทศ  คงต้องมีการควบคุมการใช้ยามากขึ้น เพื่อให้อาหารปลอดภัย

“สิ่งที่เราพยายามทำคือทำฉลากให้ชัดเจน มีข้อความที่ละเอียด ต้องใช่ยาจำนวนเท่าไหร่ และหยุดใช้เมื่อไหร่ พร้อมกับประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมประมง กรมปศุสัตว์ เพื่อเข้าไปให้ความรู้กับเกษตรกร เพราะอำนาจของอย.ไม่สามารถเข้าไปสุ่มตรวจในฟาร์มเลี้ยงได้”

ไม่เพียงการใช้สารฟอร์มาลินและยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงปลาเท่านั้น แม่ทองบ่อบอกว่าเธอฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคเห็บระฆังให้กับปลาถึง 2 รอบ เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ปลาตายจากโรคระบาดปลา

วัคซีนฉีดปลาปัญหาใหม่

การฉีดวัคซีนป้องกันเห็บระฆัง 2 ครั้ง เมื่อปลามีขนาด 10 ตัวต่อกิโลกรัม โดยวัคซีน1ขวดฉีดปลาได้ 800-1000 ตัว ส่วนการฉีดวัคซีนครั้งที่สอง ห่างกันประมาณ 14-20 วัน โดยในช่วงที่ฉีดวัคซีนต้องใช้ยาสลบที่ชื่อ “ไทสัน” ก่อน

“ปลาที่ฉีดวัคซีนทำให้มีอัตรารอดมากขึ้น” แม่ทองบ่อ บอกเช่นเดียวกับ เบญจา ซึ่งก็มั่นใจที่จะใช้วัคซีนฉีดปลา เพื่อป้องกันโรคแม้ว่าต้องจ่ายค่าลูกปลาเพิ่ม จากตัวละบาทเป็น 8 -10บาทก็ตาม

“การฉีดวัคซีนปลาผิดกฎหมาย” อดิศร์ บอกในฐานะที่ซีพีเป็นผู้ขายอาหารและลูกปลา เขายืนยันว่า บริษัทของเขาไม่ได้ใช้วัคซีนเพราะผิดกฎหมายและยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.

การฉีดวัคซีนลูกปลาเพื่อป้องเห็บระฆังจึงเป็นคำถามถึงความปลอดภัย แม้วินิตเองก็รู้สึกตกใจถึงข้อมูลการใช้วัคซีนในปลาของเกษตรกร โดยเขาระบุว่า อย. ไม่เคยขึ้นทะเบียนการใช้วัคซีนในปลาและยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้  อีกทั้งไม่มีข้อมูลการการใช้วัคซีนดังกล่าวเลย  ซึ่งในเรื่องนี้เขาพร้อมจะส่งทีมลงไปตรวจสอบ

“การใช้วัคซีนปลาไม่ได้อนุญาตให้ใช้ แต่คิดว่าหากมีการใช้วัคซีนอาจจะดีกว่า ถ้าทำให้การใช้ยาปฏิชีวนะลดลง ปัญหาใหม่คือทำให้เชื้อดื้อยา ถ้าวัคซีนไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันแล้วป้องกันโรคได้จริงปัญหาเชื้อดื้อยาก็จะตามมา “

ปริมาณสารเคมี สารฟอร์มาลิน และยาปฏิชีวนะรวมไปถึงการใช้วัคซีนในปลาทับทิมและปลานิล แม้จะได้รับการยืนยันจากเกษตรกร ว่าเขาใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ แต่สำหรับผู้บริโภคอย่าง ปองพล เขารู้สึกไม่สบายใจจนกว่าจะได้รับการรับรองจากหน่วยงานอย่างอย.ว่า ปลาที่ขายในตลาดไม่มีสารเคมีตกค้าง สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

ขณะที่การตรวจสอบข้อมูลของกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กลับไปไม่ถึง โดยไม่เคยมีการสุ่มตรวจปลาทับทิมและปลานิลในตลาด

ที่ผ่านมา สิ่งที่ อย.เก็บตัวอย่างอาหารสุ่มตรวจการปนเปื้อน มีเพียงเนื้อหมู เครื่องใน และกุ้ง จำนวน 1,175 ตัวอย่าง ซึ่งพบตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 139 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 11.83   ส่วนปลาสดและเนื้อปลา โดยเฉพาะในส่วนของปลาทับทิมนั้น อย. ยังไม่เคยมีการเก็บตัวอย่างสุ่มตรวจ

“จะเน้นไปที่กุ้ง เนื่องจากเคยเป็นสินค้าที่เป็นปัญหาและถูกสั่งห้ามนำเข้าจากสหภาพยุโรป เนื่องจากตรวจพบการใช้สารเคมีจำพวกยาปฏิชีวนะเกินมาตรฐาน ดังนั้นจึงค่อนข้างเข้มงวดในการสุ่มตรวจ”

เจ้าหน้าที่กองควบคุมอาหาร รายหนึ่งบอกว่า ปลาทับทิมส่วนใหญ่เป็นปลาที่รับประทานภายในประเทศและเพิ่งได้รับความนิยม บริโภคในช่วงหลัง จึงยังไม่ได้มีการเฝ้าระวัง ซึ่งหลังจากนี้คงต้องจะมีการเก็บตัวอย่างสุ่มตรวจเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 268 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีบางชนิด โดยกำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐานที่ต้องไม่ตรวจพบการปนเปื้อนสารเคมี (จากเดิมที่กำหนดไว้เฉพาะกุ้งเท่านั้น) ดังนี้ 1.คลอแรมเฟนิคอล 2.ไนโทรฟิวราโซน 3.ไนโทรฟิวแรนโทอิน 4.ฟิวราโซลิโดน 5.ฟิวแรลทาโดน และ 6.มาลาไคต์ กรีน  ซึ่งหากตรวจพบจะถูกดำเนินการข้อหาอาหารไม่ปลอดภัยและผิดมาตรฐาน

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่กองควบคุมอาหารรายนี้ระบุด้วยว่า การควบคุมมาตรฐานอาหารสดนั้นทำได้ยาก เพราะเรื่องนี้ต้องดูแลตั้งแต่ต้นทางคือผู้ผลิต เกษตรกร ซึ่งหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ การมาควบคุมที่หลังทำได้ยาก เพราะเป็นจุดที่อยู่ปลายเหตุแล้ว

กระบวนการเลี้ยงที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก ขณะที่หน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยอาหารอย่าง อย .ยังไม่ดำเนินการ   คงทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่มีทางเลือก และอาจรวมไปถึงร้านอาหารและผู้ค้าคนกลางด้วย  ในยุคที่กระแสความห่วงใยสิ่งแวดล้อม และจำนวนผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมีมากขึ้นทุกที แต่การณ์กลับเป็นว่า ร้านอาหารและตลาดจำหน่ายปลา เหลือแต่เพียงปลาเลี้ยงกระชังไม่กี่ชนิดให้บังคับเลือก ความหลากหลายของปลาธรรมชาติสารพัดชนิดที่หายสูญไปกับกลไกการตลาดและวงจรการผลิตที่ไม่ได้ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คงเป็นคำถามใหญ่ยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสังคมจะต้องหาคำตอบ…

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง 24 พฤษภาคม 2554

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post