TESCOPOLY: การทัดทานกับการขยายตัวของห้างค้าปลีกใหญ่

ก่อนหน้าปี 2540 หากเราพูดถึงห้างค้าปลีก เราจะนึกถึงแต่ห้างสรรพสินค้าหรือดีพาร์ทเมนท์สโตร์ที่ตกแต่งอย่างหรูหรา ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจและขายสินค้าที่หาไม่ได้ในร้านค้าใกล้บ้าน ปัจจุบัน เมื่อพูดถึงห้างค้าปลีก เราจะนึกถึงห้างใหญ่ 3-4 ราย อย่าง บิ๊กซี คาร์ฟูร์ เทสโก้-โลตัส ที่แตกตัวกระจายไปทั่ว ทั้งในย่านการค้าในเขตเมืองและเขตที่พักอาศัย แถมแตกหน่อกลายพันธุ์ออกไปแทบทุกหัวมุมถนน รวมทั้งขายสินค้าที่จำเป็นทุกประเภทในชีวิตประจำวัน นี่ยังไม่นับร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ที่หาง่ายกว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะ!

ในปี 2554 พวกเราส่วนใหญ่จึงมีชีวิตประจำวันวนเวียนและผูกพันอยู่กับห้างค้าปลีกรูปแบบต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนส่วนใหญ่อาจเป็นเพียงผู้บริโภคที่รู้สึกว่ายังได้รับประโยชน์จาก “การแข่งขัน” ของห้างเหล่านี้อยู่ ขณะที่บางคนอาจได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของห้างค้าปลีกเหล่านี้ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือกระทั่งซัพพลายเออร์และผู้ผลิตสินค้า ใน ภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคหรือผู้ผลิต ครัวเรือนหรือธุรกิจ พนักงานหรือเจ้าของกิจการ ความสัมพันธ์กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มักตั้งอยู่บนพื้นฐานของอำนาจต่อรองที่แตกต่างกันมาก กลุ่มคนเกือบทั้งหมดจึงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับห้างขนาดใหญ่ในกรอบของทางเลือกที่จำกัด

โดยหลักการ หน่วยงานของรัฐควรเข้ามากำหนดกรอบของการดำเนินกิจการของห้างเหล่านี้ รวมทั้งสร้างสมดุลระหว่างอำนาจการลงทุนและความสามารถในการทำกำไรมหาศาลของห้างใหญ่กับวิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงรักษาประโยชน์ของผู้ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเศร้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงพาณิชย์กลับขาดทั้งผู้บริหารที่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองและวิสัยทัศน์ในการจัดการปัญหาเรื่องนี้ ที่ซ้ำเติมให้เลวร้ายมากขึ้นก็คือ ในสังคมไทยก็ไม่มีบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มทุนและ พยายามชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามจากอำนาจเหนือตลาดของห้างเหล่านี้ด้วย

ข้อมูลการดำเนินคดีต่อนักวิพากษ์-วิจารณ์กลุ่มทุน

มีนาคม 2551: หัวหน้าข่าวธุรกิจการตลาดหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ถูกฟ้องร้องจากบริษัทเอก-ชัย ดิสทริบิวชัน ผู้ประกอบกิจการห้างเทสโก้-โลตัส เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากกรณีเขียนคอลัมน์สังคมธุรกิจในทำนองผู้บริหารค่ายเทสโก้โลตัส เตรียมทุ่มงบประมาณขยายสาขา เฉลี่ยเปิดสาขาใหม่ทุกๆ 3 วัน ถือเป็นการกระทำที่ไม่รักคนไทย

เมษายน 2551: นายกมล กมลตระกูล คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ “ภูมิคุ้มกันคอรัปชั่น” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ถูกบริษัทเดียวกัน ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากข้อความในบทความเรื่อง “พ.ร.บ. ค้าปลีก: กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” ฉบับวันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2551

อีกกรณีคือ คดีความของกรรมการหอการค้าไทย ที่ถูกฟ้องร้องจากบริษัทเดียวกันเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท (อ่านประกอบ: http://www.consumerthai.org/old/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=1049&Itemid=87)

เท่าที่ค้นข้อมูลพบ คดีของหัวหน้าข่าวธุรกิจการตลาดกรุงเทพธุรกิจนั้น ได้ยุติลงเมื่อมีการเขียนบทความชี้แจงในหนังสือพิมพ์จนบริษัทดังกล่าวเป็น ที่พอใจและได้ถอนฟ้อง ส่วนอีก 2 คดีความนั้นไม่ทราบความคืบหน้าในปัจจุบัน

ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศแม่ของห้างใหญ่อย่างเทสโก้ มีตัวอย่างการรวมตัวของกลุ่มองค์กรที่มองเห็นภัยคุกคามจากอำนาจเหนือตลาดของ ห้างดังกล่าว ที่ใช้ชื่อว่า TESCOPOLY (เทสโก้โพลี หรืออาจออกเสียงเป็น ‘เทสก็อปโปลี’) มาจากชื่อของห้าง TESCO ผสมกับคำว่า (MONO) POLY ซึ่งแปลว่า การผูกขาด

บนเว็บไซต์ของเครือข่ายระบุว่า TESCOPOLY ตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 2548 “เพื่อทำให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบแง่ลบอันเกิดจากพฤติกรรมและห่วงโซ่อุปทานของ ห้างเทสโก้ต่อธุรกิจขนาดเล็ก ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศอังกฤษและในนานาชาติ การรณรงค์ของเครือข่ายนี้ก็ต้องการผลักดันกฎหมายที่จำเป็นในระดับชาติและ ระหว่างประเทศเพื่อควบคุมอำนาจตลาดของซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ของอังกฤษทั้งหมด”

TESCOPOLY ได้ศึกษาและรวบรวมผลกระทบจากการดำเนินกิจการของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ต่อกลุ่มอาชีพและประเด็นต่างๆ ไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร คนงานในโรงงานที่ผลิตสินค้าให้กับห้าง โดยเฉพาะคนงานสิ่งทอ หรือผลกระทบต่อภาคการเกษตร สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและโภชนาการในอาหารที่ห้างจำหน่าย รวมถึงวิธีการเลี้ยงและปฏิบัติต่อสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อจำหน่ายในห้างอีกด้วย ที่น่าสนใจก็คือ เครือข่ายได้สนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ในระดับท้องถิ่น โดยจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการรณรงค์ให้กับชุมชนที่ไม่ต้องการห้างใหญ่ ได้ศึกษาแนวทางและวิธีการสกัดกั้นการขยายสาขาของห้างค้าปลีกตั้งแต่ต้นทาง คือ ตั้งแต่กระบวนการขออนุญาตเพื่อเข้ามาก่อตั้งสาขากับคณะกรรมการที่เรียกว่า Planning Committee ในระดับท้องถิ่น

ตัวอย่างของข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการรณรงค์เพื่อคัดค้านก็คือ แนะนำให้สมาชิกของชุมชนทำความรู้จักชื่อและเบอร์ติดต่อที่สำนักงานของคณะกรรมการแต่ละคน หลังจากนั้นก็ติดต่อกับกรรมการทีละคน เพื่อชี้แจงเหตุผลที่ต้องการคัดค้านการก่อสร้างห้างดังกล่าว พร้อมทั้งหาโอกาสเหมาะสมที่จะแสดงความเห็นคัดค้านการขยายสาขาต่อสาธารณะ

ถึงแม้ชุมชนไทยอาจไม่สามารถนำแนวทางเหล่านี้มาใช้ได้โดยตรง เพราะร่างกฎหมายค้าปลีกของเราก็ยังไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมายซะที ทำให้ไม่มีแนวทางในการจำกัดควบคุมการขยายตัวของห้างใหญ่จนกระทั่งดูเหมือนว่าจำนวนสาขาของห้างค้าปลีกในประเทศไทยจะถึงจุดอิ่มตัวแล้วด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายองค์กรที่ทำงานประเด็นเดียวกันในประเทศไทย ก็น่าจะได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของพฤติกรรมของห้างใหญ่ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อเปิดโปงให้เห็นถึงวิธีการที่ธุรกิจเหล่านี้ใช้ในการลดต้นทุนการผลิตสินค้า หรือถ้าเป็นไปได้จริง ก็อยากเห็นการถอดบทเรียนจากการรณรงค์ต่อต้านการขยายสาขาในชุมชนต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นแนวทางที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายในประเทศไทย อย่างที่ TESCOPOLY ได้ทำเป็นแนวทางเพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้จริง

บทส่งท้าย : เศรษฐศาสตร์ห้องแถว

ข้อโต้แย้งที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก, นักการเมืองที่มีผลประโยชน์ผูกกับธุรกิจและนักธุรกิจเองมักนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการลงทุนและอนุญาตให้ห้างค้าปลีกจากต่างชาติขยายสาขาโดยไม่ถูกจำกัดควบคุม คือ การกล่าวว่าแข่งขันเสรีจะทำให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด ในความเป็นจริง การปล่อยให้ธุรกิจที่มีเงินทุนมหาศาลเหล่านี้เข้ามาแข่งขันกับร้านค้าปลีก ดั้งเดิมขนาดเล็กโดยไม่มีกฎหมายรองรับ มักทำให้เกิดการทำลายธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมและเกิดการกระจุกตัวของความเป็นเจ้าของทุน ซึ่งตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับข้อสนับสนุนเรื่องการแข่งขันเสรีที่นำมาใช้

bigccarrefour

ในรายงานเรื่อง “Right to Retail: Can Localism Save Britain’s Small Retailers?” (สิทธิที่จะค้าปลีก: ท้องถิ่นนิยมจะสามารถรักษาผู้ค้าปลีกรายย่อยของอังกฤษได้หรือไม่?) ที่เพิ่งเผยแพร่ในเดือนเมษายน 2554 ระบุว่าห้างยักษ์ใหญ่สี่รายของอังกฤษ คือ Tesco, ASDA, Sainbury’s และ Morrisons นั้น เป็นเจ้าของมูลค่าตลาดถึงเกือบ 80% ของตลาดค้าปลีกที่มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านปอนด์ มีการกระจุกตัวเพิ่มมากขึ้นของทรัพย์สินและความเป็นเจ้าของ ถึงขนาดที่ยอดขาย 97% ของการค้าปลีกมาจากร้านค้าเพียง 8,151 แห่งและ 76% ของการค้าปลีกมาจากสี่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ดังกล่าว

การแข่งขันเสรีของนักธุรกิจจึงหมายถึง “การแข่งขันที่ปราศจากคู่แข่ง” และตรงข้ามกับการแข่งขันที่เต็มไปด้วยผู้ประกอบการรายย่อย

บิ๊กซีเพิ่งควบรวมกิจการกับคาร์ฟูร์ และทยอยเปลี่ยนป้ายเป็น “บิ๊กซีเอ็กตร้า” หลังจากบิ๊กซีรวมกับคาร์ฟูร์แล้ว  จะทำให้เครือบิ๊กซีมีสาขาถึง 103 สาขา โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่มีสาขาเพิ่มขึ้นเท่าตัว การควบกิจการครั้งนี้มีมูลค่า 35,500 ล้านบาท ที่มา: http://www.siamintelligence.com/carrefour-bigc-extra/

ที่มา: ท้องถิ่นสนทนา วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร http://localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=1&code=c1_12052011_01

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post