พนักงานเคเอฟซี-พิซซ่าฮัทใน กรุงเทพและปริมณฑลร่วมกันลงชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้าง 10 ข้อ ต่อบริษัทฯ ด้านบริษัทยังไม่ยอมเจรจา ให้เหตุผลว่าข้อเรียกร้องของพนักงานไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ด้านคนงานยื่นตั้งสหภาพแรงงาน ขณะที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดทั้งสองฝ่ายเจรจาใหม่ 20 พ.ค. นี้
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 54 พนักงานบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ในเขต กรุงเทพฯ,สมุทรปราการ และปทุมธานี จำนวน 200 คน จากพนักงาน 900 กว่าคน ร่วมกันลงชื่อและลายมือชื่อ ยื่นข้อเรียกร้อง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 พร้อมแต่งตั้งผู้แทนเจรจา 7 คน แต่งตั้งที่ปรึกษาจาก สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย 2 คนประกอบด้วย นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์ฯ นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ เลขาธิการฯ
โดยข้อเรียกร้องเปลี่ยนสภาพการจ้างต่อบริษัทมีทั้งหมด 10 ข้อ โดยส่วนมากเป็นการขอปรับปรุงสวัสดิการ เช่น ขอให้บริษัทฯ ปรับเงินเดือนขึ้นประจำปี 2555 ให้กับพนักงานทุกคน ไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของฐานเงินเดือน, ให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การปรับเงินเดือน, ขอให้บริษัทจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2554 ให้กับพนักงานทุกคนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของฐานเงินเดือน, ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของพนักงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริง, ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเพดานเงินค่าพาหะนะในการเดินทางของทีมผู้จัดการร้านที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน, ขอให้บริษัทฯ จัดอาหารฟรีให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติงาน 1 มื้อ ในวงเงิน 119 บาทต่อคนต่อกะ ฯลฯ (รายละเอียดดูที่ล้อมกรอบ)
อย่างไรก็ตามจนครบกำหนด 3 วัน แล้ว ทางบริษัท ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้แทนเจรจา ดังนั้นผู้แทนฝ่ายลูกจ้างจึงยื่นหนังสือพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อ พิพาทแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 54
สำหรับบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ให้บริการ ผู้บริหาร และ ผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน KFC และ PIZZA HUT ในประเทศไทย มีทีมบริหาร และพนักงานชาวไทยกว่า 10,000 คน เพื่อให้บริการในร้านอาหารเคเอฟซีรวมกว่า 306 สาขา และร้านพิซซ่าฮัทกว่า 75 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และอีกกว่า 56 จังหวัดทั่วประเทศไทย
ต่อมาเมื่อ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ทำหนังสือเชิญทั้ง 2 ฝ่าย มาเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ที่สำนักแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 2 กระทรวงแรงงาน
โดยผู้แทนลูกจ้างไปตามกำหนดนัด แต่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มีหนังสือแจ้งไม่ส่งผู้แทนเข้าเจรจา จึงไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ทางเจ้าหน้าที่จึงขอเชิญ ทั้ง 2 ฝ่าย มาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง วันที่ 6 พ.ค. 54
แหล่งข่าวกล่าวว่า วันที่ 6 พ.ค.54 ผู้แทนพนักงานไปพบพนักงานประน้อมข้อพิพาทแรงงาน ตามกำหนดนัด พร้อมที่ปรึกษา 2 ท่าน มีคุณชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย ร่วมสังเกตการ แต่บริษัทมีหนังสือแจ้งไม่ส่งผู้แทนเข้าเจรจาข้อเรียกร้องอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าข้อเรียกร้องชองพนักงานไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จึงไม่สามารถทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานในวันดังกล่าวได้
ด้านฝ่ายลูกจ้างประสงค์จะเจรจาข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวต่อไป โดยให้เหตุผลว่า เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานตามระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้น พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน จึงเชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาพบ เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน อีกครั้งในวันที่ 20 พ.ค. 54 เวลา 10.00 น. กระทรวงแรงงาน พร้อมกันนี้ลูกจ้างได้ยื่นจดทะเบียนสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 54 คาดว่า ทะเบียนจะออกได้ก่อนวันที่ 20 พ.ค.54 นี้
ข้อเรียกร้องพนักงาน บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ( ประเทศไทย ) จำกัด
1. ขอให้บริษัทฯ ปรับเงินเดือนขึ้นประจำปี 2555 ให้กับพนักงานทุกคน ไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของฐานเงินเดือน (10 %)
1.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเพดานเงินเดือน และปรับปรุงหลักเกณฑ์การปรับเงินเดือนประจำปี ในแบบปัจจุบัน
2.ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินโบนัส หรือเงินพิเศษ ประจำปี 2554 ให้กับพนักงานทุกคนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของฐานเงินเดือน
2.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกหลักเกณฑ์ วิธีการจ่ายเงินโบนัสที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน และให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม
3. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงสวัสดิการ ค่าตอบแทนพนักงานที่ทำงานครบ 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี เป็นดังต่อไปนี้
อายุงานครบ 5 ปี จากเดิม ทองคำ 0.25 บาท .เปลี่ยนเป็นเงิน 10,000 บาท
อายุงานครบ 10 ปี จากเดิม ทองคำ 0.50 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 30,000 บาท
อายุงานครบ 15 ปี จากเดิม ทองคำ 0.75 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 50,000 บาท
อายุงานครบ 20 ปี จากเดิม ทองคำ 1.00 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 100,000 บาท
อายุงานครบ 25 ปี จ่ายเงินรางวัล 150,000 บาท
4. ขอให้บริษัทฯ จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในปี 2554 โดยพนักงานหักเงินสะสม ในอัตรา 5 % และบริษัทฯจ่ายเงินสมทบในอัตรา 5 %
5. ขอให้บริษัทฯ จัดให้พนักงานได้หยุดงานในวันหยุดตามประเพณี ที่บริษัทฯ ประกาศ 15 วัน ต่อปี และปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หากบริษัทฯ มีความจำเป็นไม่สามารถให้พนักงานหยุดงานในวันหยุดประเพณีดังกล่าวได้ให้ บริษัทฯจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติงาน
6. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของพนักงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงดังต่อไปนี้
6.1 กรณีพนักงานเจ็บป่วย ต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามคำวินิจฉัยของแพทย์ หรือตามแพทย์สั่ง รวมค่าห้อง และค่าอาหาร 100 %
6.2 กรณีพนักงานเจ็บป่วย ทั่วไป ขอให้บริษัทฯ เพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลของพนักงาน จากเดิม 40, 000 บาท / คน / ปี เป็น 150,000 บาท/คน/ปี
6.3 ขอให้บุคคลในครอบครัวของพนักงาน (บิดา, มารดา ,คู่สมรส และบุตร ) เบิกค่ารักษาพยาบาลครอบครัวพนักงานได้ ในวงเงิน 50, 000 บาท ต่อปี
6.4 กรณีพนักงานต้องรักษาโรคทันตะกรรม (ขูดหินปูน, อุดฟัน, ถอนฟัน, โรคเหงือก, ครอบฟัน, รักษารากฟัน และใส่ฟัน) ขอให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาล 100 %
7. ขอให้บริษัทแก้ไขปรับปรุง การเบิกเงินค่าพาหะนะ ในการเดินทางปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน เป็นดังต่อไปนี้
7.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเพดานเงินค่าพาหะนะในการเดินทางของทีมผู้จัดการร้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน
7.2 ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงิน ค่าพาหะนะเดินทาง ไปประชุม ทั้งขาไป และขากลับ
7.3 ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินค่าพาหะนะเดินทาง มาปฏิบัติงานของพนักงานในช่วงเวลา 21.00 น. ไปจนถึงเวลา 05.00 น. ของวันถัดไป 200 บาท / คน / วัน
8. ขอให้บริษัทฯ จัดอาหารฟรีให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติงาน 1 มื้อ ในวงเงิน 119 บาท / คน / กะ
9. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไข วันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงาน ที่ใช้ไม่หมดในปีปัจจุบัน ขอให้บริษัทฯจ่ายเป็นเงินสด ภายใน วันที่ 25 มกราคม ของปีถัดไป ในอัตราค่าจ้างของปีที่จ่าย เท่ากับจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่เหลือ 100 %
10. ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีประกาศวันหยุดราชการเพิ่มเติม ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานในวันดังกล่าว เป็น 2 เท่าของค่าจ้าง / ชั่วโมง หรือต่อวัน
ทั้งนี้สภาพการจ้างใดไม่อยู่ในข้อเรียกร้องฉบับนี้ ขอให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ที่มา: เผยแพร่ครั้งแรกใน Voice Labour
ที่มา: นักข่าวพลเมือง: ประชาไท 8 พฤศภาคม 2554 http://prachatai.com/journal/2011/05/34443
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”