ในเวลานี้สิ่งที่น่ากลัวกว่ากัมมันตรังสี คือ “สารปนเปื้อนในอาหารทั่วไป” ที่เราบริโภคอยู่ในชีวิตประจำวันอันเป็นที่มาของสารพัดโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
ปัญหาการรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ ในประเทศญี่ปุ่น หลังประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ได้ทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการป้องกันกัมมันตรังสีในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
ไล่มาตั้งแต่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐที่เดินหน้าตรวจการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ไปจนถึงผู้คนทั่วไปจำนวนไม่น้อยที่พากันหยุดซื้อหาสินค้าอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว
แต่เมื่อพิจารณากันตามข้อเท็จจริงแล้ว ณ ขณะนี้ผู้เชี่ยวนักวิชาการฟันธงตรงกันแล้วว่า อยู่ไกลและโอกาสที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยมาก
หากแต่สิ่งที่คนไทยควรจะให้ความสำคัญมากกว่ากัมมันตรังสีคือ “สารปนเปื้อนในอาหารทั่วไป” ที่เราบริโภคอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ขนมต่างๆ
นพ.พิพัฒน์ ฉายภาพสถานการณ์สารปนเปื้อนพื้นฐานว่า ยังมีอยู่แต่ผู้บริโภครู้เท่าทันมากขึ้น โดยสารปนเปื้อนต่างๆ ร่างกายสามารถขับออกมาได้เอง
แต่หากได้รับติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะก่อให้เกิดการสะสม และแสดงสัญญาณอันตรายผ่านอาการเหนื่อยหอบ ใจเต็มเร็ว วิงเวียนศีรษะ
สารปนเปื้อนที่พบมากในปัจจุบัน อาทิ ยาฆ่าแมลงในผักและผลไม้ สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์ สารกันบูดหรือสารถนอมอาหารต่างๆ ในเส้นก๋วยเตี๋ยว สีผสมอาหาร และโลหะหนักบางชนิดในอาหารแห้ง เช่น หน่อไม้แห้ง เห็ดหูหนูแห้ง
“การป้องกันเบื้องต้นคือพิจารณาด้วยสายตา ดูสีของอาหารตามความเป็นจริง ส่วนสารปนเปื้อนที่ไม่แสดงออกผ่านทางการสังเกตได้ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงที่จะซื้อในสถานที่เสี่ยง สกปรก และไม่ควรเห็นแก่ราคาถูก”เลขาธิการอย. กล่าว
เลขาธิการอย. บอกอีกว่า ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดและสถานการณ์ยังรุนแรงคือ “อาหารปลอม” โดยเฉพาะอาหารที่มักวางขายตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีการนำเข้าอย่างถูกวิธี อาทิ กาแฟ ช็อกโกแลต ขนม ซึ่งเกือบ 100% เป็นของปลอมทั้งหมด
“ตรงนี้ผู้ประกอบการรู้และจงใจใส่สารปนเปื้อน เพราะต้องการจำหน่ายให้ได้ราคาดี โดยไม่คำนึงและไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ทางอย.ยอมรับว่าไม่มีกำลังพอที่จะดูแลอย่างทั่วถึง ดังนั้นประชาชนต้องช่วยกันระมัดระวังตัวเองด้วย” นพ.พิพัฒน์กล่าว
สำหรับสารปนเปื้อนที่พบมากในปัจจุบัน ได้แก่
1.ดินประสิว (โพแทกเซียมไนเตรต)มีสูตรเคมีKMO3 นิยมใส่ในอาหารประเภทเนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อวัว ทำเนื้อเปื่อย สีสวย รสดี และเก็บไว้ได้นาน ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดสารไนโตรซามีน(nitrosamine)ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง
2.ปรอท พิษของสารปรอทที่ไปสะสมในสมอง ทำให้ประสาทหลอน ความจำเสื่อม เป็นอัมพาต เด็กในครรภ์ประสาทจะถูกทำลาย นิ้วมือหงิกงอ ปัญญาอ่อน และอาจตายได้ อาการเช่นนี้เรียกว่าโรคมินามาตะ
3.ตะกั่ว พิษตะกั่วเกิดจากสีและไอเสียรถยนต์จะทำลายเซลล์สมอง ทำลายเม็ดเลือดแดง ปวดศีรษะและอาจตายได้
4.โครเมียม สารประกอบของโครเมียมใช้ทำสีย้อม พิษของโคเมียมเป็นอันตรายต่อผิวหนังและปอด
5.แคดเมียม มีพิษต่อปอดและไต ทำให้เกิดโรคอิไต-อิไต
6.สารหนู ทำให้เกิดโรคไข้ดำ มีอาการอาเจียน ปวดท้องรุนแรง เป็นตะคริว
7.สารกันบูด สารที่นิยมใช้เป็นสารกันบูด ได้แก่ กรดซาลิวาลิก กรอดบอริก และดวเดียมเบนโซเอต
8.น้ำประสานทองหรือบอแร็กซ์ มีชื่อทางเคมีว่าโซเดียมบอเรต (sodium borate) ชาวบ้านเรียกว่า “ผงกรอบ” มักใส่ลูกชิ้น แป้งกรอบ ทำให้ไตอักเสบได้
9.ผงเนื้อนุ่ม คือบอแรกซ์ผสมโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต สารนี้ซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ ทำให้เกิดอาการคล้ายเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีพิษต่อไตและเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย
10.น้ำตาลเทียม คือสารให้ความหวานแต่ไม่ใช่น้ำตาล เช่น ซอร์บิทอล หวานกว่าน้ำตาลทราย 2 ใน 3 เท่า ไซคลาเมต หวานกว่าน้ำตาลทราย 30 เท่า แอสพาร์เทม หวานกว่าน้ำตาลทราย 180 เท่า ใช้แทนน้ำตาลในเครื่องดื่ม ลูกกวาด หมากฝรั่ง
ขัณฑสกรหรือแช็กคาริน หวานกว่าน้ำตาลทราย 550 เท่า เป็นน้ำตาลเทียม ถ้ารับประทานมากจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ชัก ใช้แทนน้ำตาลทรายสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานและผู้ที่อ้วนมาก
ทั้งหมดคือศัตรูตัวร้ายที่พร้อมจะจู่โจมเราได้ทุกขณะหากประมาท เป็นภัยที่อยู่ใกล้ตัวและน่ากังวลมากกว่ากัมมันตรังสีที่มาจากญี่ปุ่นเสียอีก
ที่มา: โพสต์ทูเดย์ 25 มีนาคม 2554