ตอนที่ 14 ไปป่าคู้ล่าง (1)

จากงามวงศ์วานถึงป่าคู้ใช้เวลา 3 ชั่วโมง จากเส้นกรุงเทพฯ ? สุพรรณฯ (340) เข้าทางเลี่ยงเมืองออกไปดอนเจดีย์ และมุ่งไปสู่ อ.ด่านช้าง โดยระหว่างนั้นพี่เก๋ ตุ๊กกี้ และฉันแวะพัก 2 คราวแบบสบายๆ โดยจุดแรกเรากินข้าวแกงโบราณร้านยายตุ่ม ร้านอาหารเจ้าประจำที่อยู่เลยบางบัวทองมาหน่อย ร้านนี้เป็นที่พึ่งเรายามเดินทางผ่านเส้นทางนี้ ที่แม้ราคาจะแพงว่าร้านข้าวแกงข้างทางทั่วไป แต่คนช่างกินและเลือกสรรอย่างพี่เก๋ว่ายอมจ่ายแบบไม่เสียดายสตางค์ เพราะถึงเครื่องแกงและแกงได้ถึงรสถูกใจ ส่วนจุดแวะพักอีกทีคือร้านขายเครื่องสานเล็กๆ ระหว่างท่าเสด็จไปด่านช้างที่สารถีของเราบอกอยากเอาไซสวยๆไปใส่ดวงไฟ

grow14_2

ฉันจำทางจากกรุงเทพฯไปด่านช้างได้ แต่หลังจากนั้นต้องอาศัยโผที่ตุ๊กกี้จดไว้ซึ่งก็ไม่ซับซ้อนยุ่งยากอะไร พ้นจากปากทางบ้านปรักประดู่ตุ๊กกี้เริ่มคว้ากล้องออกมาเก็บภาพก้อนขาวๆ บนฟ้าที่คนขับยังอุตส่าห์เหลือบมาดูแล้วพลางรำพึง … ปุยเมฆน่ากิน

เราเลี้ยวเข้าสู่ถนนลูกรังแล้วโทรหาพี่เจน แต่คนรับสายเป็นพี่พยงค์ ซึ่งมารอเราและรถคันอื่นๆเพื่อบอกทางเข้าบ้านป่าคู้ล่าง เราถึงหมู่บ้านซึ่งมีเรือนไม้ไผ่แบบชาวเผล่อ(โปว) สร้างไว้แบบง่ายๆแต่แข็งแรงเป็นที่นัดหมาย มีเพื่อนร่วมจุดหมายจากกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่งรอเราอยู่ก่อนแล้วพร้อมกับเจ้าบ้าน การแนะนำตัวแบบง่ายๆ สั้นเริ่มและจบลงเพื่อไปกินอาหารกลางวันที่แม่บ้านจัดรอไว้ ข้าวไร่ที่เพิ่งเกี่ยวใหม่ๆ ร้อนๆ นุ่มๆ

กินกับ ต้มปลาใส่มะกอกเปรี้ยวแปลกแต่อร่อยกลมกล่อมแบบชาวโปว กินแนมด้วยปลาตัวเล็กทอดกรอบ กับเครื่องปรุงและอุปกรณ์ตำส้มตำตามถนัดของแต่ละคน

หลังมื้อกลางวันพี่เจนพาพวกเราไปวัดเพื่อนั่งคุยกันเรื่องอาหารกับสุขภาพ โดยมีพี่นี เพียงพร ลาภคล้อย คุยเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับการปรุงอาหารธรรมชาติตามแบบของเจ้าบ้าน และการดูแลสุขภาพจากการกินของเราเอง

grow14_3

จากศาลาวัดเรากลับไปที่หมู่บ้านอีกครั้ง แต่ละคนเลือกพักผ่อนตามอัธยาศัยก่อนจะมารวมกันอีกครั้งเพื่อกินข้าวเย็นกัน ส่วนเจ้าบ้าน เตรียมลำไม้ไผ่ป่า (ไผ่หนาม) จากกอใกล้ๆ ที่นั่น มาตัดเป็นท่อนๆ บรรจุข้าวเหนียวขาวกับข้าวเหนียวดำ งา น้ำตาล เกลือ กะทิ แล้วปิดจุกด้วยกากมะพร้าว กลายเป็นข้าวหลามรอไว้ในค่ำคืนแห่งการต้อนรับ

หลังจากมื้อเย็นเสร็จเรียบร้อย เจ้าบ้านเริ่มขุดพื้นเป็นร่องเล็กๆ ตรงลานโล่งแล้วเอาข้าวหลามตั้งเรียงราย จนความมืดโรยตัวครอบคลุมแล้วจึงเริ่มมีการก่อไฟขนาบข้าง บ้องข้าวหลามลำเขียวๆ ถูกไอร้อนจากไฟแดงโชนลามเลียในระหว่างที่พี่พยงค์และชาวบ้านเล่าความเป็นมาของการมาก่อตั้งที่อยู่อาศัย ณ แห่งนี้

พวกเขา ชาวโปว หรือ เผล่อ เป็นชาวกะเหรี่ยงที่มีเพื่อนพ้องอยู่ในแถบป่าตะวันตกแนวเขตอุ้งผาง ตาก ราชบุรี สุพรรณบุรี ไปจนถึงประจวบคีรีขันธ์ มีลักษณะนิสัยและวิถีการทำมาหากินใกล้เคียงกับกะเหรี่ยงปกากะญอที่ทำไร่หมุนเวียนอยู่แถบเหนือของไทย ชาวกะเหรี่ยงโปวนี้เป็นพลเมืองไทยและคอยทำหน้าที่สอดแนมยามสงครามไทย-พม่าสมัยรัตนโกสินธ์ แต่ไม่มีบันทึกการตั้งถิ่นฐาน มีเพียงในนิราศสุพรรณของสุนทรภู่

ภาพเก่าเล่าเรื่องสมัยเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านที่ต้องเดินทางไปร่วมประชุมประจำอำเภอเดือนละ 2 ครั้งซึ่งต้องรอนแรมโดยการปั่นจักรยานเพื่อไปต่อรถโดยสารยังจำติดตา หากแต่เมื่อย้อนเวลาไปนานกว่านั้น พวกเขาเล่าว่าก่อนหน้านี้ชาวกะเหรี่ยงได้อยู่อาศัยในเมืองทวาย แต่ต่อมาได้หลบลี้ภัยลงมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาญจนบุรีก่อนจะแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่กันโดยตามสายแม่น้ำใหญ่ 4 สายน้ำ คือแควใหญ่ แควน้อย ลำตะเพิน(แม่น้ำสาขาของแควใหญ่ ต้นน้ำอยู่ที่สุพรรณบุรี) และพาชี(ราชบุรี)

ส่วนที่บ้านป่าคู้ ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มชาวบ้านเคยอยู่กินทำไร่หมุนเวียนโดยมักเลือกทำในพื้นที่ราบลุ่มระหว่างภูเขา และทำนาในที่ลุ่ม ก็แปรเปลี่ยนไปเช่นกัน

grow14_4
grow14_5
grow14_6

เมื่อมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 5 ? 6 แห่ง เพื่อนำน้ำไปใช้การพัฒนาการเกษตรแบบอุตสาหกรรม พื้นที่ตั้งบ้านเรือนและที่ทำกินของชาวบ้านกลุ่มนี้ถูกวงรอบให้อยู่ในเขตของการสร้างอ่างเก็บน้ำด้วยเช่นกัน ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งราว 40 คนย้ายออกไปตั้งบ้านเรือนและที่ทำกินใหม่ที่บ้านป่าคู้บน ส่วนพวกเขา 16 ครอบครัวยังคงปักหลักอยู่ที่แห่งนี้

ฟังคลิ๊ปเรื่องเล่าจากปากของพวกเขาได้ที่นี่

http://www.youtube.com/watch?v=-bJzihZLWF0 (6.44 นาที)

ฉันนึกย้อนไปถึงที่พี่เจนเล่าความเป็นมาของโครงการผักประสานใจให้ฟังเมื่อก่อนกินข้าวเที่ยงวันนี้ อุปสรรค์ที่ต้องแก้ไข นับตั้งแต่เริ่มปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมมาสู่การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นรายได้ไปพร้อมๆ กับการสร้างการยอมรับในคุณภาพผลผลิตสินค้าที่ดีต่อระบบนิเวศน์และสุขภาพด้วยการทดลองตลาดผ่านการฝากขายในห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ และสุพรรณและส่งออกผักอินทรีย์ไปสิงคโปร์ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคที่ต้องการผักอินทรีย์ของแท้ แต่พวกเขาก็ต้องล้มเลิกการบุกเบิกตลาดอินทรีย์ในห้าง แล้วตั้งหลักกันใหม่อีกครั้ง

grow14_7
grow14_8
grow14_9

ด้วยเงื่อนไข กลไกที่กลุ่มชาวบ้านไม่เอื้อให้ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ อยู่รอดได้ เช่น ค่าธรรมเนียมการฝากขาย การเคลียร์ค่าผักเป็นรอบ 15 ? 30 วันของห้างใหญ่ โดยที่ห้างไม่ยอมรับความเสี่ยงที่เกิดจากความเสียหายของการจัดส่งและเน่าเสียในระหว่างการวางจำหน่ายในห้าง และอื่นๆ …

ฉันทึ่งอึ้งเศร้าในความพยายามของพวกเขา รวมทั้งพี่เจนและพี่พยงค์ที่ร่วมกันกับชาวบ้านในการปรับเปลี่ยนวิธีการสู้จนมาลงตัวที่โครงการส่งตะกร้าผักให้กับสมาชิกที่ยอมจ่ายให้ล่วงหน้าเพื่อประกันความม่นใจให้กับพวกชาวบ้านว่าพวกเขามีรายได้ที่เพียงพอในการทำเกษตรอินทรีย์ การผลิตดีๆ ที่ช่างผลิตได้อย่างยากเข็ญนี้

กองไฟยังคงคุโชนอยู่เบื้องหน้าของเรา นำความอุ่นอ้าวมาสู่เบื้องหน้า ขณะที่แผ่นหลังยังสัมผัสได้ถึงความเย็นยะเยือกของป่าชื้น โจ้แนะนำพวกเราว่ายอดชายนำนาเดย* มาเพื่อจะเล่นเพลงตงให้พวกเรา แม้ว่าวันนี้นักดนตรีชนเผ่าของเราจะเจ็บคอจนเสียงแหบแห้งก็ตาม

ข้าวหลาม เผากันสดๆ
grow14_11
grow14_12

ก่อนที่ข้าวหลามซึ่งพี่กบบอกฉันว่าต้องใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงจึงจะสุก พวกเราก็ฟังบทเพลงที่บรรเลงบรรยายวิถีการทำกิน ความเป็นอยู่ของพวกเขาที่ผูกพันอยู่กับ นานาสารพัดพืชพันธุ์ที่มีอยู่ในไร่หมุนเวียนไปหลายเพลงทีเดียว

พอข้าวหลามสุก พวกเราที่ล้อมกองไฟอยู่ก็พากันชิมข้าวหลามร้อนๆ นุ่มๆ กันหนุบหนับ ก่อนแยกย้ายกันไปพักตามบ้านของเจ้าบ้าน

พรุ่งนี้ … แต่รุ่งเช้า … พวกเราจะไปตัดผักอินทรีย์สดๆ กันที่แปลง รวมทั้งมีการสาธิตวิธีการทำแชมพูมะกรูด การเลือกและเพาะถั่วงอกอินทรีย์ และแป้งถั่วเขียวอินทรีย์มหัศจรรย์กัน ก่อนที่จะมานั่งล้อมวงเปิดใจคนกินคนปลูกตบท้าย

(โปรดอ่านต่อตอนหน้า…..)

นาเดย ? เครื่องดนตรีของชาวกะเหรี่ยงโปว มีเอ็น 8 สาย มีลักษณะและวิธีการเล่นเช่นเดียวกันกับ เตหน่า เครื่องสายของชาวปกากะญอ

คลิ๊ปอื่นๆ

พี่นี่กับการกินเพื่อสุขภาพดี http://www.youtube.com/watch?v=4JOBI42rYcs (10 นาที)

การหลามข้าวของชาวป่าคู้ล่าง http://www.youtube.com/watch?v=9S3qWjjKT-o (1.31 นาที)

เพลงช้างจากบ้านป่าคู้ล่าง http://www.youtube.com/watch?v=Sp_6gGSeGCU (0.40 นาที)

เพลงตง 1 จากบ้านป่าคู้ล่าง http://www.youtube.com/watch?v=iAzvCPoK8xE (1.04 นาที)

เพลงตง 2 จากบ้านป่าคู้ล่าง http://www.youtube.com/watch?v=XpmaZ7bpS8Y (นาที)

Relate Post