เตือนใช้สารฆ่าแมลงในผักผลไม้ส่งไปนอร์เวย์ถูกตีกลับ

นางอภิรดี? ตันตราภรณ์? อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ว่า ปลายเดือนมกราคม 2552 หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนอร์เวย์ได้รายงานข่าวเรื่องหน่วยงานความปลอดภัยอาหารแห่งนอร์เวย์ (Norwegian Food Safety Authority – NFSA) ประกาศ เตือนผู้บริโภคภายในประเทศว่า ได้ตรวจพบสารฆ่าแมลงตกค้างปริมาณเข้มข้นในพืชผักจากไทย เช่น มะเขือม่วง ถั่วฝักยาว และกะหล่ำปลี เป็นต้น โดยในปี 2551 ตรวจพบ 28 รายการ จากการสุ่มตรวจสินค้า 49 รายการ ซึ่ง NFSA ได้แจ้งเตือนผู้นำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงแล้ว 7 ราย รวมทั้งสุ่มตรวจสินค้าที่นำเข้าโดยผู้นำเข้าดังกล่าวก่อนที่จะออกสู่ตลาด ครั้งต่อไป นอกจากนี้ หน่วยงานในกลุ่มประเทศแสกนดิเนเวีย อาทิ สวีเดนและฟินแลนด์ต่างแจ้งผลการตรวจสอบในลักษณะเดียวกันด้วย

หน่วยงาน NFSA ยัง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการตรวจพบสารฆ่าแมลงตกค้างในผักผลไม้จากไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมาว่า เกิดจากภาคการผลิตของไทยที่เกษตรกรยังใช้สารฆ่าแมลงราคาถูกและไม่ทันสมัย จึงสามารถเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสารฆ่าแมลงบางชนิดยังมีความคล้ายคลึงกับอาวุธสงครามในยุคก่อน (organophosphates) ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบประสาทของมนุษย์ สำหรับประเทศในกลุ่มตะวันตกจะใช้สารฆ่าแมลงทางเลือกอื่น โดยเฉพาะใช้สาร pyrethroids เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยกว่าสาร organophosphates

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า รายการสินค้าที่นอร์เวย์ตรวจพบข้างต้นแล้ว ยังมี ผลไม้จากไทยถูกแจ้งเตือนภายใต้ระบบเตือนภัยเร่งด่วนสำหรับอาหารมนุษย์และ อาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed: RASFF) ของสหภาพยุโรปอีก เช่น มะม่วง เป็นต้น ส่งผลให้ขณะนี้ หน่วยงาน NFSA ของนอร์เวย์กำลังติดตามสุ่มตรวจสอบสินค้าพืชผักจากไทยในร้านค้าต่าง ๆ บ่อยครั้งขึ้น และได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบในสื่อและเว็บไซต์ของ NFSA อย่าง ต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของสินค้าไทยในตลาดนอร์เวย์ อย่างมาก ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้สารฆ่าแมลงประเภทต่าง ๆ ที่นอร์เวย์ตรวจเข้มงวดให้มากขึ้น เช่น Carbendazim, Chlorpyrifos, Cypermethrin และ Ethion, เป็นต้น

ที่มา : มติชน 19 ก.พ. 52

Relate Post