จี้สภา ออก กม.ตั้งองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ตาม รธน.มาตรา61

6 ก.พ. 2556 “เครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งแต่งกายด้วยเสื้อสีเขียว ประมาณ 200 คน ร่วมกิจกรรม “ปั่นจักรยานทวงคืนสิทธิด้วยมาตรา 61” จากลานพระบรมรูปทรงม้าไปหน้ารัฐสภา โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็น “องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ” ตามมาตรา 61 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เราเห็นผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ถูกโกง ถูกหลอก ทุกวัน และเราก็มีหน่วยงานของรัฐมา 30 กว่าปี อย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีตั้งแต่ปี 2522 ปัญหาผู้บริโภคก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคก็อยากมีองค์กรที่เป็นของตัวเองที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค

สารี อธิบายว่า มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ ทำให้เราสามารถจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมาจากพวกเรากันเอง แต่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ จึงได้มีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ ให้เป็นองค์การของผู้บริโภค ที่ประกอบด้วยตัวแทนของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ อิสระจากทุน และบัญญัติเรื่องการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐไว้ในกฎหมายที่ชัดเจน คืออย่างน้อยจะมีเงินขั้นต่ำให้องค์กรนี้สามารถที่จะทำงานได้

8449061949_0413d507d4_z

สารี กล่าวว่า ถ้ามีองค์การขึ้นมา ต่อไปคุณจะออกกติกาอะไรก็ตาม แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรง คุณก็ต้องมาถามว่าองค์การนี้คิดอย่างไร ขั้นตอนมันก็จะดีกว่าการที่คุณจะคิดค่าธรรมเนียม คุณก็เชิญแค่สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยมาอย่างเดียว ซึ่งอาจได้พวกเจ้าของธนาคารไปคิดค่าธรรมเนียมให้ผู้บริโภค ผู้บริโภคก็รับภาระไป ไม่ได้รับค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม และก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างมากก็ไปฟ้องคดี

สารี กล่าวต่อว่า เราคิดว่าหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเรากระจัดกระจาย เพราะฉะนั้นยากที่จะทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเวลาเกิดปัญหาขึ้นจะไปร้องเรียนที่ไหนได้บ้าง เราอยากเห็นองค์การเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคได้ คล้ายๆ เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะที่เรียกว่าเป็น One Stop Service สำหรับผู้บริโภค เป็นหน่วยงานที่เป็นเพื่อนกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง และจะเป็นหน่วยงานที่จะมาช่วยทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทันมากขึ้น ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากขึ้น อย่างในอดีตเราก็ไม่ค่อยรู้หรอกว่า อะไรที่เขามีกติกาแล้วบ้าง เช่น ระบบการใช้โทรศัพท์ที่เป็นระบบชำระเงินล่วงหน้า ซึ่งกฎหมายบอกว่า ห้ามเร่งรัดการใช้งาน ห้ามกำหนดวันหมดอายุ ถ้าจะกำหนดวันหมดอายุต้องขออนุญาตก่อน กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว แต่คนไม่ค่อยรู้ เงินที่ผู้บริโภคถูกยึดไปทั้งหมด เท่าที่รู้ก็เกือบ 2 แสนล้าน

เมื่อถามว่าองค์การนี้จะแตกต่างกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อย่างไร สารี กล่าวว่า สคบ. ก็ยังเรียกปรับบริษัทที่โฆษณาเป็นเท็จหรือเกินจริงอยู่เหมือนเดิม แต่องค์การนี้ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ แต่เป็นหน่วยงานนี้ที่อาจจะให้คำแนะนำกับ สคบ. ว่า ควรเรียกปรับเท่าไหร่ เหมาะสมหรือไม่ อย่างคุณโฆษณาขายของในทีวี คุณปรับ 5 พันมันไม่ได้รู้สึกอะไร ทั้งที่คนเห็นเป็นล้านคน และก็ต้องบอกเลยว่า คนขายของ คนทำโฆษณา ก็ต้องมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ ถ้าคุณรู้อยู่แล้วว่าสินค้านี้ไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา หรืออาจเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง หรือเป็นเท็จ รายการคุณก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าเตือนแล้วคุณยังไม่ทำอะไร คุณก็ต้องสั่งปิดรายการ หรือพอรายการนั้นหายไป แต่โฆษณาอาจจะใหญ่กว่า ก็ไปอยู่รายการอื่นเรื่อยๆ คุณก็ต้องปิดสถานี อะไรทำนองนี้ เราคิดว่าแบบนี้มันจะทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งถือเป็นองค์การที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกชั้นหนึ่ง

ที่มา:  ประชาไท วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 http://www.prachatai3.info/journal/2013/02/45158

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post