น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันงา น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกคำฝอยและอีกหลายชนิด เลือกใช้ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดโรค
การเลือกซื้อน้ำมันประกอบอาหารเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจอย่างยิ่ง เพราะการเลือกบริโภคอาหารที่มีไขมันที่ดีหรือไม่ดีระยะยาว มีผลทำให้ร่างกายมีโรคหรือปราศจากโรคได้เช่นกัน
โดยทั่วไปแล้ว การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงอาหารทุกชนิด ซึ่งรวมถึงน้ำมัน ควรเลือกที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท บริเวณฝามีพลาสติกปิดผนึกไว้อย่างดี ทั้งยังควรสังเกตเครื่องหมาย อย. รวมถึงวันเดือนปีที่ผลิต ดูปริมาณพลังงานที่ผู้บริโภคจะได้รับ ส่วนผสม เช่น น้ำตาล ไขมัน โซเดียมหรือเกลือ เป็นต้น เพื่อให้รู้ว่าการบริโภคน้ำมันหรืออาหารนั้นๆ ร่างกายรับอะไรไปบ้าง
“น้ำมันที่ควรหลีกเลี่ยงคือ น้ำมันบรรจุถุงแบบชั่งกิโลขาย หรือที่บรรจุขวดแต่ไม่มีฉลาก เพราะเราไม่รู้ว่าในถุงหรือนขวดนั้น คือน้ำมันอะไร น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหมู โดยเฉพาะส่วนประกอบสำคัญที่ใช้เป็นวัตถุดิบอะไร ผลิตมานานแค่ไหนแล้ว” ผศ.ทิพยเนตร อริยปิติพันธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรโภชนาการและกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
บางคนมีความเชื่อว่า น้ำมันสีเข้มดี บางคนก็เชื่อว่าสีเหลืองอ่อนถึงดี ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเลือกซื้อน้ำมันไม่สามารถนำเรื่องสีมาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจได้ว่าน้ำมันสีไหนดีหรือไม่ เพราะวัตถุดิบบางชนิดทำให้น้ำมันออกมามีสีเข้ม อย่างเช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น
การเลือกน้ำมันสำหรับประกอบอาหารมีความจำเป็นไม่แพ้เครื่องปรุง เพราะน้ำมันแต่ละชนิดมีคุณสมบัติการใช้งานที่ต่างกัน เช่น เมนูทอดต้องเลือกน้ำมันที่ทนความร้อนได้ดี ไม่เสื่อมสภาพง่ายอย่างน้ำมันปาล์มโอเลอิน และควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
ชนิดน้ำมันที่ไม่เหมาะกับการนำมาทำเมนูทอด ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวันและน้ำมันมะพร้าว เพราะทนความร้อนได้ไม่ดี เสื่อมสภาพเร็ว ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ถ้ากินต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด แต่สามารถนำไปประกอบอาหารอย่างอื่นได้ ทั้งทำน้ำสลัดหรือเมนูผัด
“ทุกคนต้องปรับความคิดใหม่ มองน้ำมันเป็นเพียงตัวนำความร้อนที่ช่วยให้อาหารสุก ใช้แล้วต้องทิ้ง อย่ามองว่าเป็นอาหาร เพราะการมองว่าน้ำมันเป็นอาหารจะทำให้เกิดความเสียดาย ใช้แล้วเก็บไว้นำมาใช้ใหม่ ซึ่งยิ่งทำให้ร่างกายได้รับสารอนุมูลอิสระจนเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว” ผศ.ทิพยเนตร กล่าวและว่า ไม่ควรทิ้งน้ำมันลงท่อระบายน้ำ เพราะจะยิ่งสะสมและทำให้ท่ออุดตันในระยะยาว
ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวอีกว่า ปกติร่างกายเราควรได้รับน้ำมันประมาณ 65 กรัมหรือประมาณ 4 ช้อนโต๊ะต่อวัน บางทีเราเองก็ไม่รู้ตัวว่ากินเข้าไปมากเท่าไหร่แล้ว เอาเป็นว่า ควบคุมปริมาณขนมกรุบกรอบ ขนมปังราดนมข้น ข้าวเกรียบ เค้ก คุกกี้ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากครีมเทียม เนย ฯลฯ ที่กินในแต่ละวันด้วยได้ยิ่งดี เพราะมีส่วนผสมของน้ำมันแทบทั้งสิ้น
น้ำมันหีบเย็น เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา สำหรับคนที่ชอบกินสด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวต่อว่า ไม่จำเป็นเสมอไปสำหรับทุกคน ควรปรึกษานักโภชนาการ เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำมันมากเกินความจำเป็นและเกิดโรคได้
***************
ความจริงที่ต้องรู้
– ไม่ว่าจะน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ ก็ให้พลังงานต่อหน่วยน้ำหนักเท่ากัน คือ 1 กรัมจะให้พลังงานเท่ากับ 9 แคลอรี ดังนั้น ความเชื่อที่ว่ากินน้ำมันพืชแล้วไม่อ้วน จึงไม่เป็นความจริง
– น้ำมันปาล์มโอเลอิน เป็นน้ำมันซึ่งสกัดมาจากเปลือกของเมล็ดปาล์ม ผ่านกระบวนการแยกเอากรดไขมันอิ่มตัวออกบางส่วน น้ำมันที่ได้จึงมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (ตำแหน่งเดียว) ที่มีประโยชน์สูง เรียกว่า กรดโอเลอิก ทั้งยังมีกรดไขมันจำเป็น “ไลโนเลอิก” อยู่พอประมาณ และมีวิตามินอี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเด็กในวัยเจริญเติบโต
– ควรเลือกซื้อน้ำมันพืชสลับยี่ห้อ สลับชนิดกันบ้าง ไม่ควรใช้น้ำมันพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำเพียงอย่างเดียว
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ Life Style : สุขภาพ วันที่ 24 ตุลาคม 2555 http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20121024/474456/น้ำมันเลือกใช้ให้ปลอดภัย.html
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”