ผักอีเลิด เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวอีสาน จัดเป็นผักริมรั้วที่มีแทบทุกบ้าน ปลูกง่าย เพียงใช้ไหลปักชำในพื้นที่ชื้นแฉะก็แตกยอดอย่างงาม นิยมนำมาประกอบอาหารพวกแกงคั่วหอย แกงเนื้อ หรือแกงอ่อม สำหรับเมนูยอดฮิตต้องยกให้เมี่ยงคำ ผักอีเลิดเป็นหนึ่งในตัวยาไทยในพิกัดยาที่สำคัญอันเป็นตำรับต้านมะเร็ง
ผักอีเลิดมีอยู่ 2 แบบ คือ ชนิดที่เรียกว่าผักอีเลิด เป็นแบบเถา อีกชนิดจะเรียกว่าผักอีไร เป็นแบบเลื้อย แต่โดยส่วนใหญ่มักเรียกอีเลิด หรืออีเลิดอีไรไปเลย ในภาคกลางจะเรียกว่าช้าพลู หรือชะพลู ทางเหนือเรียกปูลิง หรือพลูนก ทางใต้เรียกนมวา เป็นพืชในวงศ์ Piperaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ Piper samentosum Roxb. ชื่อสามัญ Variegatum
ผักสมุนไพรตัวนี้อยู่ในพิกัดยาตรีสาร ซึ่งเป็นยาพิกัดประจำฤดูหนาว ประกอบด้วยรากเจตมูลเพลิง เถาสะค้าน และรากช้าพลู และตำรับที่สำคัญอีกตำรับคือ เบญจกูล ซึ่งประกอบด้วย ดอกดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง ขิง เป็นยารสร้อน สรรพคุณ กระจายกองลมและโลหิต แก้คูถเสมหะ แก้ลมพานไส้ บำรุงกองธาตุทั้ง 4 ยาตำรับเบญจกูลได้ถูกกล่าวถึงในแง่การนำมารักษาโรคมะเร็ง โดยแพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และเมื่อแยกสมุนไพรแต่ละตัวนำไปวิจัยแล้ว พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูง
ตำรับยาเบญจกูล ได้มีการศึกษาวิจัยด้านฤทธิ์ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ อินทัช ศักดิ์ภักดีเจริญ และอรุณพร อิฐรัฐ พบว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอด
จากงานวิจัยนี้ ทำให้เห็นว่าฤทธิ์ของรากช้าพลูที่ประจำอาโปธาตุ ประจำฤดูหนาว แก้เสมหะ น่าจะทำหน้าที่โดดเด่นเมื่ออยู่ในตำรับยาเบญจกูล
สำหรับตัวผักอีเลิดมีข้อมูลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดลงได้ จึงส่งเสริมให้นำไปใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างกว้างขวาง
เมื่อกล่าวถึงสถานะในผักแล้ว ผักอีเลิดก็ไม่เป็นรองใคร โดยเฉพาะเมนูเมี่ยงคำ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาหารและยาปรับธาตุที่ดีตามหลักการแพทย์แผนไทย นิยมใช้ใบอีเลิดและใบทองหลาง ซึ่งเลือกได้ตามความชอบของผู้บริโภค
สรรพคุณของส่วนต่างๆ ตามบันทึก กล่าวว่า ดอก ทำให้เสมหะแห้ง ช่วยขับลมในลำไส้ ราก ขับเสมหะให้ออกมาทางระบบขับถ่าย ขับลมในลำไส้ ทำให้เสมหะแห้ง ต้น ขับเสมหะในทรวงอก ใบ มีรสเผ็ดร้อน ทำให้เจริญอาหาร ขับเสมหะ
ทางโภชนาการพบว่า ผักอีเลิดมีเบต้าแคโรทีนสูงมาก และแคลเซียมในอันดับต้นๆ ซึ่งช่วยในการมองเห็นหรือป้องกันโรคตาบอดกลางคืน หรือตาฝ้าฟาง และบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงได้ไม่แพ้ปลาเล็กปลาน้อย อย่างไรก็ตาม สิ่งใดมีคุณก็ย่อมมีโทษเช่นกัน แคลเซียมที่มีในใบอีเลิดจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งถ้าสะสมมากๆ อาจกลายเป็นนิ่วในไตได้ ฉะนั้นจะบริโภคเป็นประจำทุกวันไม่ได้ แทนที่จะได้กระดูกแข็งแรงสายตาดี ยังได้นิ่วในไตเป็นของแถมอีก ดังนั้นต้องบริโภคอย่างระมัดระวัง โดยส่วนใหญ่ถ้าบริโภคเยอะจะเน้นบริโภคคู่กับเนื้อสัตว์ ซึ่งจะช่วยในการย่อยได้ดี เราจึงมีเมนูอร่อยๆ อย่างแกงใส่หอยขม หรือแกงใส่เนื้อ
รับประทานเป็นผักสดก็อร่อยได้รสชาติ บ้างก็รับประทานกับลาบ น้ำตก เสริมรสเพิ่มกลิ่นหอมอย่างเอร็ดอร่อย หรือกับส้มตำมะละกอตามแบบฉบับอีสานรับรองอร่อยเหาะจริงๆ
ที่มา: ไทยโพสต์ วันที่ 16 กันยายน 2555 http://www.thaipost.net/tabloid/160912/62430
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”