‘ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก’ไขข้องใจ สิทธิบัตรของ’แกงเขียวหวานไก่’

ข่าวลือกรณีเชฟอเมริกันชื่อดังเตรียมจดสิทธิบัตรแกงเขียวหวานไก่ สร้างความไม่พอใจแก่คนไทยหลายคนที่ทราบข่าว นักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญายืนยัน แค่แกงเขียวหวานไก่เฉยๆ จดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีขั้นการผลิตที่สูงขึ้น

เมื่อราวสัปดาห์สองสัปดาห์ก่อนเกิดข่าวคราวที่มีจุดตั้งต้นในโลกไซเบอร์ว่า John Stephen Mayor เชฟชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้ได้รับสิทธิบัตรสูตรอาหารมากมายจากทั่วโลก ได้จดสิทธิบัตรแกงเขียวหวานไก่เป็นที่เรียบร้อย พร้อมอ้างคำพูดของเชฟคนนี้

“ผมจดสิทธิบัตรอาหารมาแล้วทั่วโลก คราวนี้ถึงตาอาหารไทยละ ผมชื่นชอบรสชาติของแกงเขียวหวานไก่มานานแล้ว มันมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมาก แต่จากนี้…มันจะเป็นของคนอเมริกัน”

ประเด็นดังกล่าวจุดกระแสความไม่พอใจกระจายตัวออกไปในหมู่คนที่รับรู้ข่าว ขณะที่ผู้คนในโลกออนไลน์บางส่วนพยายามไปเสาะหาข้อมูลว่า กรณีนี้มีมูลมากน้อยเพียงใด ก่อนที่เรื่องจะค่อยๆ จางหายไปกับเวลา

กล่าวได้ว่า แกงเขียวหวานเป็นอาหารไทยที่อยู่คู่สังคมไทยมาเนิ่นนาน ไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของแกงเขียวหวานไก่ได้ ไม่แปลกหากกระแสข่าวนี้จะสร้างความไม่พอใจ เพราะก็เป็นเรื่องชวนไม่พอใจจริงๆ หากวันหนึ่งอยู่ดีๆ แกงเขียวหวานไก่ในตู้กับข้าวเกิดมีเจ้าข้าวเจ้าของ จะตักกิน จะแกงกิน ก็ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ กลัวจะถูกเจ้าของสิทธิบัตรฟ้อง

แต่คำถามเบื้องต้นก็คือแกงเขียวหวานไก่สามารถจดสิทธิบัตรได้หรือไม่

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ตอบกลับด้วยคำถามว่า

“พื้นฐานที่สุดต้องดูที่ตัวแกงเขียวหวานว่าเป็นแกงเขียวหวานแบบทั่วไปหรือเปล่า”

การที่ใครสักคนจะจดสิทธิบัตรอะไรก็ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 มาตรา 5 ได้วางหลักการไว้ 3 ข้อ คือ

1.เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่

2.เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ

3.เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

เมื่อพิจารณากรณีแกงเขียวหวานไก่ หลักเกณฑ์ข้อ 3 นั้น ผ่านอยู่แล้ว แต่ 2 ข้อแรก ไม่ผ่าน ถ้าตอบตามนี้ แกงเขียวหวานไก่จึงไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้

-2

“ถ้าเป็นแกงเขียวหวานแบบทั่วไปที่ต้องโขลกพริกแกง กระทั่งออกมาเป็นแกงเขียวหวาน ซึ่งมักจะมีสูตรที่ค่อนข้างตายตัวอยู่ ถ้าแบบนี้จดไม่ได้ เพราะเงื่อนไขการจดสิทธิบัตรคือต้องเป็นสิ่งที่ใหม่และมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”

ดร.เจษฎ์กล่าวว่า แต่หากแกงเขียวหวานไก่ที่จะนำไปจดสิทธิบัตรมีส่วนผสมหรือลักษณะพิเศษ เช่น สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี ๆ รูปแบบพิเศษเหล่านี้สามารถจดสิทธิบัตรได้

ถามต่อด้วยความสงสัยว่า แล้วถ้าผู้จดมีสูตรการทำแกงเขียวหวานไก่ที่อ้างว่า ‘อร่อย’ กว่าเจ้าอื่นๆ และขอจดสิทธิบัตรแกงเขียวหวานไก่สูตรนี้จะสามารถทำได้หรือไม่

“ถ้าบอกว่าอร่อยกว่า ไม่ได้หรอกครับ แต่ถ้าเขากำหนดว่า แกงเขียวหวานของเขามีสูตรอย่างนี้ ๆ เช่น พริก 1 กรัม กระเทียมเท่านี้ คือมีส่วนผสมอยู่สี่ห้าอย่างและเขากำหนดปริมาณเฉพาะ มันก็ได้แค่นี้ เราปรับปริมาณซะก็จบแล้ว ไม่ละเมิด เพราะมันทำเป็นการทั่วไป ยกเว้นอยู่ดีๆ เขาสังเคราะห์สารบางอย่างขึ้นมาได้กลิ่น เหมือนแกงเขียวหวาน อย่างนี้จดได้ แต่เขาก็ไปห้ามเราใช้แกงเขียวหวานเดิมไม่ได้

ถ้าเรามองในระดับหนึ่ง กรณีนี้ก็ไม่ต่างจากที่แม่ค้าทำแกงเขียวหวานขาย เพราะต่างคนต่างก็อาศัยสิ่งที่บรรพบุรุษทำกันมาอยู่แล้ว ถ้ามีบริษัทหนึ่งไปผูกขาดในลักษณะว่า เอาแกงเขียวหวานไก่ไปใส่กระป๋อง แล้วห้ามใครทำแบบเดียวกัน เพราะเป็นสูตรของบริษัท แต่ไม่ใช่สูตรอะไรใหม่เลย เป็นสูตรที่ทำมาแต่ดั้งเดิม อย่างนี้จะมีปัญหาได้ แต่ถ้าบริษัทนี้ก็ทำไปตามปกติ ส่วนใครอยากจะทำก็ทำไป พ่อค้า แม่ค้าจะไปทำขาย ก็ไม่ได้ว่าอะไร อย่างนี้ก็ว่ากันไม่ได้ จะแบ่งปันผลประโยชน์ก็ไม่ใช่ เพราะมันถูกใช้เป็นการทั่วไป” รศ.ดร.เจษฎ์ อธิบาย

รศ.ดร.เจษฎ์อธิบายเพิ่มเติมโดยยกตัวอย่างว่า สมมติมีขนมทองหยอดอยู่เดิม โดยที่ไม่เคยมีขนมทองหยิบมาก่อน แล้วมีคนนำสูตรขนมทองหยอดมาทำขนมแต่เปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นขนมทองหยิบ กรณีแบบนี้ถือว่าใหม่ แต่ก็ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ เนื่องจากไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นแต่อย่างใด

และแม้ว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะจดสิทธิบัตรในสูตรแกงเขียวหวานไก่ แต่ลักษณะการบังคับก็ไม่ทำให้แกงเขียวหวานไก่ของคนไทยมีปัญหาใดๆ ทุกคนยังสามารถทำแกงเขียวหวานไก่เพื่อขายหรือรับประทานเองได้ ตามคำอธิบายข้างต้น เพราะสูตรแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“ถามว่าถ้าเขาได้สิทธิบัตรจริง เขาจะบังคับได้หรือไม่ มันก็ยาก คนอื่นสามารถไปทำแบบใหม่ได้ กรณีแบบนี้เรียกว่า Thin Protection คือเป็นความคุ้มครองที่บาง คือเกราะที่คุ้มครองมันบาง หรือเขาไปจดเมืองนอกก็ไม่กระทบกับเราเช่นกัน เรายังคงสามารถส่งแกงเขียวหวานไปขายได้เหมือนเดิม แต่ถ้าเป็นสูตรเคมีใหม่ที่คุณคิดได้แบบนี้เกราะคุ้มครองมันหนา แต่ถ้าแค่โขลกพริก โขลกเกลือใส่ลงไปนิดหน่อย ซึ่งเดี๋ยวนี้ถ้าไปตรวจสอบอนุสิทธิบัตรจะพบว่า มีคนจดอนุสิทธิบัตรน้ำผลไม้เยอะมาก วันนี้คุณใส่เกลือ 3 ช้อน  ผมใส่เกลือ 5 ช้อน ของผมก็ใหม่แล้ว คุณใส่น้ำสตรอเบอร์รี่ 3 ช้อน ผมใส่ 5 ช้อน บวกน้ำมะม่วง 1 ช้อน ของผมก็เป็นสูตรใหม่อีกเหมือนกัน มันมีเยอะแยะ มันมีไว้เพื่อไม่ให้ทำซ้ำกันเป๊ะๆ แค่นั้น”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เจษฎ์ เตือนว่า แม้การบังคับจะไม่กระทบต่อคนไทย แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าของสิทธิอาจกลั่นแกล้งได้

“สมมติว่าเจ้าของสิทธิบัตรรู้ว่าแกงเขียวหวานไกที่ที่เราส่งไปขายไม่ละเมิดสิทธิบัตรของเขา แต่เขาฟ้องไว้ก่อน ก็ต้องเดือดร้อนไปพิสูจน์กันบนศาล ถามว่าจะแพ้หรือไม่ ไม่หรอกครับ แต่จะเสียเวลาและเสียเงิน ทีนี้ ถ้าเราขี้กลัวหน่อย พอถูกยื่นหนังสือว่า นี่คือสูตรของฉัน เรากลัว เราก็เลิก จบ

“ความกลัวของคนมันเป็นไปได้ทั้งนั้น พออาศัยความกลัวของคน สิ่งที่ไม่มีเหตุให้ต้องกลัวเลย มันก็สร้างได้ สร้างเหตุไปเรื่อย จนกลายเป็นผลความกลัวด้วย”

โดยสรุป-หากข่าว John Stephen Mayor จะจดสิทธิบัตรแกงเขียวหวานไก่เป็นเรื่องจริง คำตอบจากนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาก็อธิบายชัดแล้วว่าไม่สามารถจดได้ เนื่องจากไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

แต่ถ้าชาวต่างประเทศผู้นี้จดสิทธิบัตรในสูตรแกงเขียวหวานไก่ที่คิดค้นขึ้น แล้วบังเอิญว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ บ้าจี้ให้จดขึ้นมา ผลของการคุ้มครองสิทธิบัตรก็ไม่สร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนไทยที่ขายหรือบริโภคแกงเขียวหวานไก่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ทำแกงเขียวหวานไก่ทุกคนจะมีส่วนผสมหรือเครื่องปรุงเหมือนกับที่ผู้จดสิทธิบัตรขอไว้ เว้นเสียแต่จะใช้ช่องทางทางกฎหมายนี้กลั่นแกล้งเพื่อสร้างความกลัว ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น

ที่มา: ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง วันที่ 13 กันยายน 2555 โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ http://www.tcijthai.com/TCIJ/view.php?ids=1112

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”