พอขึ้นหัวเรื่องอย่างนี้หลายคนคงจะสงสัยว่า 4 อย่างนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร โปรดติดตามอ่านจนจบจึงจะเข้าใจ
เริ่มเบา ๆ ก่อนคือ ปลายปีที่ผ่านมามีข่าวเล็ก ๆ ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจในญี่ปุ่นคือ ดิกชันนารีภาษาอังกฤษ Collins ของประเทศอังกฤษได้เพิ่มคำศัพท์ใหม่ที่มาจากภาษาญี่ปุ่นอีก 8 คำจากเดิมที่มีอยู่แล้วกว่า 100 คำ คำใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามาส่วนใหญ่เป็นคำเกี่ยวกับอาหาร คือ
Bento เบนโตะ (อาหารกล่อง) gaijin (ชาวต่างชาติ) pachinko (ตู้เกมส์ปาจิงโกะ ดีดลูกเหล็กที่มีอยู่ทั่วญี่ปุ่น ยังติดตาไม่หายที่ดึกเท่าไรก็มีคนเปิดประตูเข้าไปเล่น ไม่กลับบ้านกลับช่องกันเลย) reiki (การรักษาแบบ Spiritual คำนี้คนไทยไม่ค่อยคุ้นแต่บางสปาในเมืองไทยมีโฆษณาว่าใช้วิธีนี้) ramen (เส้นบะหมี่แบบจีน สีเหลือง ๆ) soba (เส้นโซบะ บะหมี่ญี่ปุ่นสีออกคล้ำ ๆ ) udon (เส้นอุด้ง เส้นอ้วนๆ สีเหลืองอ่อนๆ ทำจากแป้งข้าวสาลี ) wasabi (วาซาบิ ที่เวลากินปลาดิบขาดไม่ได้)
ซึ่งวิธีคัดเลือกคำจะคัดจากความบ่อยในการปรากฏตัวตามหน้าหนังสือ นิตยสาร วิทยุ หนังสือพิมพ์ และแหล่งอื่น ๆ รวมทั้งฐานข้อมูลของ Collins เองที่มีคำศัพท์อยู่กว่า 418 ล้านคำ
คำว่า Bento หรือ “เบนโตะ” ที่แปลว่า “อาหารกล่อง” ที่ Collins เติม เข้าไปในดิกชันนารีนั้น ถือเป็นวัฒนธรรมการกินประจำชาติของญี่ปุ่นที่ได้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ ขายกันเป็นล่ำเป็นสันโดยเฉพาะในคอนวีเนียนสโตร์และตามสถานีรถไฟใหญ่ ๆ แข่งกันสุด ๆ เพราะจำนวนขายเยอะ หมุนเร็วและที่สำคัญคือกำไรดี (ถ้าของไทย Collins คงต้องใส่คำว่า “อาหารถุงพลาสติก”)
คิดดูก็แล้วกันว่าขนาดตลาดใหญ่แค่ไหนไม่ว่าจะเป็น 7-Eleven หรือ Lawson หรือ Family Mart ใคร ออกสินค้าใหม่ประเภทเบนโตะมาเมื่อไรก็ต้องยิงสปอตในทีวีทั้งนั้น ลูกค้าหลักคือพนักงานบริษัท เนื่องจากมีราคาถูกกว่าไปนั่งทานในร้าน ราคากล่องหนึ่งต้องอยู่ในราว ๆ เหรียญเดียวคือ 500 เยน
กลุ่มเป้าหมายของเบนโตะมักเป็นพนักงานบริษัทโดยเฉพาะสาว ๆ และหนุ่มโสด ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่มีห้องอาหารภายในบริษัท ส่วนหนุ่มที่แต่งงานแล้วบางคนก็จะมีเบนโตะโฮมเมดมาจากบ้าน ถือเป็นการโชว์ฝีมือปลายจวักของภรรยาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้อื่น เวลานั่งล้อมวงกินกับชาวบ้านเปิดกล่องออกมาคนรอบข้างร้อง “โอ้โห” ละก็ แปลว่าใช้ได้
สไตล์ญี่ปุ่นอร่อยอย่างเดียวไม่ได้ แต่พื้นที่เล็ก ๆ ในกล่องเบนโตต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สักแต่วาง ๆ แต่ต้องเรียงให้สวยงามแบบคิขุอะโนเนะ จะเรียงเป็นรูปหัวใจ รูปอะไร ๆ ก็ได้แล้วแต่จินตนาการ หนังสือแม่บ้านส่วนใหญ่ก็จะมีคอลัมน์แนะนำการเรียงเบนโตะให้สวยงามและเมนูอา หารเบนโตะอร่อย ๆ ให้แม่บ้านทำให้สามีและลูก ๆ
ลูกค้าหลักอีกกลุ่มที่สำคัญของเบนโตะคือ บรรดานักเดินทางทั้งหลายที่เดินทางโดยรถไฟ แต่ละที่ก็มีหนึ่งสถานีหนึ่งผลิตภัณฑ์หากินได้เฉพาะในท้องถิ่นนั้น ๆ เบนโตะ เหล่านี้มีชื่อเรียกกันว่า Ekiben โดยคำว่า Eki มาจากคำว่าสถานีรถไฟ Ben มาจากคำว่า Bento ส่วนเบนโตะแบบที่ขายดีที่สุดและมีทุกที่ที่ไป ชื่อ Makunouchi เป็นเบนโตะรวมมิตรแบบมาตรฐาน มีทุกที่เหมือนข้าวผัดใบกระเพราบ้านเราไปไหนก็ต้องมี
มีครั้งหนึ่งผู้เขียนไปดูซูโม่กีฬาประจำชาติยอดนิยม ในสนามซูโม่กลางกรุงโตเกียว ตั๋วที่ซื้อจะเป็น Package คือมีเบนโตะมาให้หนึ่งชุดก็เป็น Makunouchi นี่แหละพร้อมน้ำชาหนึ่งขวด จะนั่งดูไปกินไปก็ไม่ผิดกติกา ใครจะนำเอาเบนโตะของตัวเองมาเองก็ไม่มีใครว่า มีความสุขจริง ๆ
ต่อมากลางปีที่แล้วมีข่าวเกี่ยวกับเบนโตะข่าวหนึ่งที่ฮือฮา ประเภทที่คนไทยอ่านแล้วอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมเรื่องถึงได้ใหญ่โตนัก เพราะบ้านเราในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา
UN เคยวัดอัตราความสามารถในการหาอาหารเพื่อเลี้ยงประเทศด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งอื่น ๆ นอกประเทศ (Self Sufficient Food Supply Rate) ปรากฏว่าญี่ปุ่นมีอยู่แค่40% โดยในปี 1999 ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 129 จาก 178 ประเทศ ทั่วโลก ญี่ปุ่นจึงเป็นผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ของโลก
ข่าวฮือฮาที่ว่าก็คือ บริษัท East Japan Railway หรือ JR East บริษัทรถไฟในแถบคันโตเจ้าของรถไฟหัวกระสุนชินกังเซนอันโด่งดัง ได้นำเข้าเบนโตะแช่แข็งจากอเมริกามา 3 ชนิดคือข้าวหน้าเนื้อ ไก่ และปลาแซลมอน มี 2ขนาด คือ 330 เยน สำหรับขนาดเล็กและ 600 เยนสำหรับขนาดใหญ่ สังเกตว่าราคาสูงกว่าเบนโตะทั่วไปเล็กน้อย มีวางขายในสถานีรถไฟของตนเองและในรถไฟหัวกระสุน โดยโฆษณาว่าข้าวที่ใช้เป็นข้าวออร์กานิคปลูกในอเมริกา ส่วนเนื้อก็มาจากวัวที่เลี้ยงแบบปล่อยให้เดินเล่นตามทุ่งไม่ใช่แบบขังในคอก แบบญี่ปุ่น ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเบนโตะแถวนอก ๆ เมืองซานฟรานซิสโกแล้วแช่แข็งใส่คอนเทนเนอร์ส่งมาญี่ปุ่น เวลาจะกินก็ใส่ไมโครเวฟอุ่นเอา โดยคาดว่าจะขายได้ประมาณ หนึ่งหมื่นกล่องต่อวัน
แค่บอกว่านำเข้าข้าวจากอเมริกา ชาวนาญี่ปุ่นก็ประท้วงกันใหญ่ เหมือนตอนที่หลายปีก่อนญี่ปุ่นต้องนำเข้าข้าวไทยไป มีแต่ข่าวแปลกๆ ออกมาเยอะมากไม่ว่าจะเป็นว่าเจอฝาเครื่องดื่มชูกำลังในข้าวบ้าง สัตว์อันไม่พึงปรารถนาบ้าง บางทีก็มีข่าวว่ามีคนเอาข้าวสารที่นำเข้าจากไทยไปเททิ้ง
ประเด็นการนำเข้าเบนโตะมาจากสหรัฐกลายเป็นเรื่องโต้กันไปโต้กันมาระหว่างชาวนา ที่ต้องลดพื้นที่ที่ปลูกข้าวตามนโยบายของรัฐบาลกับ JR ที่เป็นผู้นำเข้าข้าว
JR อธิบายว่า ข้าวออร์กานิคปลูกได้ไม่พอใช้ในประเทศเลยต้องนำเข้า เนื่องจากปีหนึ่ง ๆ ใช้ข้าวถึง 4,000 ตัน แถมราคาข้าวออร์กานิคของญี่ปุ่นกิโลกรัมละ 550 เยน ในขณะที่ข้าวออร์กานิคของสหรัฐ กิโลกรัมละ 200 เยน และสาเหตุที่ต้องนำเข้าแบบสำเร็จรูปก็เพราะถ้านำเข้าเฉพาะข้าวก็จะโดนภาษีอาน แต่ถ้านำเข้าข้าวบวกเนื้อสัตว์ 20% ของน้ำหนักก็จะเสียภาษีนำเข้าต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง
ในแง่การตลาด เบนโตะออร์กานิคที่ว่านี้ได้กลายเป็นสินค้ากลยุทธ์ของ JR ที เดียวเพราะเมื่อหลายปีก่อนได้มีการขายเบนโตะที่มีจุดขายว่าใช้ข้าวที่ปลูก โดยใช้สารเคมีในระดับต่ำ และปรากฏว่าขายดีมากเลย จึงตัดสินใช้ข้าวออการ์นิคทั้งหมด ภายใต้แนวความคิดเดียวกัน
ทุกวันนี้แม้จะมีกระแสต่อต้านอยู่ แต่ JR ก็ยังนำเข้าเบนโตะจากสหรัฐไว้ต้อนรับลูกค้าบนรถไฟ
กระแสอาหารออร์กานิคมาแรงในญี่ปุ่น เนื่องมาจากข่าวการพบวัวบ้า และ GMO และด้วยกระแสอาหารออร์กานิคที่มาแรงมาก ๆ ทั่วโลก คอนวีเนียนสโตร์ในญี่ปุ่นเองก็ได้กลิ่นกระแสนี้ Lawson ตัดสินใจเปิดร้านภายใต้แนวความคิดกินอยู่อย่างมีสุขภาพและสะดวก โดยตั้งชื่อร้านว่า Natural Lawson ขายผักผลไม้ที่ปลูกแบบออร์กานิค
สำหรับคำจำกัดความของผลผลิตแบบออร์กานิค คือไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงหรือแม้แต่ปุ๋ยเคมีในที่ดินที่เพาะปลูกไม่ต่ำกว่า 3 ปีตามมาตรฐาน JAS (Japanese Agricultural Standard) นอกจากผักผลไม้แล้วข้าวในเบนโตะและข้าวปั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวซ้อมมือแทนที่จะเป็นข้าวขาว เก๋ไก๋ซะไม่มี (เมื่อก่อนไม่เคยเห็นใครกินข้าวซ้อมมือสักคนในญี่ปุ่นน่ะ)
อย่างไรก็ตาม อาหารนั้นถึงแม้จะออร์กานิคแต่ถ้าไม่อร่อยแล้วละก็ไม่มีใครซื้อแน่นอน ต้องสะอาดและอร่อยก็จะดี เจ๋งสุดคือ อร่อย สะอาดและถูก
แต่จริงๆแล้ว อาหารออร์กานิคที่มาแรงนี้ คิดให้ดี ๆ มันก็คือ Back to Basic นั่นเอง
การผลิตอาหารไม่ว่าจะในเสกลไหน ๆ ก็ตามเรื่องของ “จริยธรรม”สำคัญที่สุด อะไรที่มองไม่เห็นก็ถือว่าจับไม่ได้ไล่ไม่ทันกันไปนั้นไม่สมควรเป็นเรื่องที่นักการตลาดหรือผู้ผลิตหรือผู้ขายมีอยู่ในความคิด ใครอ่านข่าวเรื่องกุ้งไทยมียาปฏิชีวนะต้องห้ามใน EU สังเกตเห็นหรือเปล่าว่าในข่าวมีการกล่าวถึงเครื่องวัดสารตกค้างของ EU ว่า ละเอียดกว่าของไทย สังคมไทยมีปัญหาก็เพราะคิดไม่จบตามขบวนการที่ถูกต้อง คิดสั้น ๆ หวังกำไรระยะสั้น พังแน่สำหรับตลาดต่างประเทศลูกค้าหนีหมดเพราะประเด็นเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ การกีดกันทางการค้าอีกต่อไป อิจฉาประชาชนชาว EU ที่รัฐบาลเป็นห่วงคุณภาพของอาหารที่ประชาชนบริโภค ถึง แม้ไทยมุ่งหวังจะเป็นครัวของโลกแต่ระวังจะตกขบวน แถมยังมีคนอมโรคอีกทั้งประเทศให้รัฐบาลดูแลเพราะไม่สนใจกำหนดมาตรฐานอาหารใน บ้านเราเอง ผืนดินผืนน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่เต็มไปด้วยสารพิษเป็นวงจรอุบาทว์ที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของไทยแน่ ดูคำจำกัดความของอาหารออร์กานิคของญี่ปุ่นที่ต้องเพาะปลูกในพื้นดินที่ไม่ ได้ใช้ยาฆ่าแมลง และสารเคมีเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้วละก็ ไง ๆ ก็ตกขบวน 3 ปี นะเด็ก ๆ ใคร ๆ ก็รู้ว่ายาฆ่าแมลงบางตัวกว่าจะสลายตัวใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปี ไม่ต้องพูดถึงมาตรฐานอาหารออร์กานิคในประเทศอื่นๆ อีก ทั้งหมดต้องมีการรับรองหรือ Certification กันทั้งนั้น กติกาคือห้ามเบี้ยวทุกกรณี
สงสัยวิชาต่อไปที่ต้องให้ครูลิลลี่สอนน่าจะเป็นวิชาจริยธรรมทางธุรกิจ หรือเป็นเพราะวิชานี้สอนกันได้น่าเบื่อไม่แพ้วิชาภาษาไทยเลยชอบเรียนลัดกัน ทั้งบ้านทั้งเมือง
ที่มา: Marketeer ฉบับที่ 26 เมษายน 2545 http://www.marketeer.co.th/inside_detail.php?inside_id=1066
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”