จากอาหารพื้นเมือง-เมนูจานเด็ด สู่ “ผำอัดเม็ด” สะดวกบริโภค ต้านอนุมูลอิสระ แก้ท้องผูก
รู้จัก “ผำ” พร้อมแนะนำเมนูเด็ด “คั่วผำ”
“ผำ” มีชื่อสามัญคือ Wolffia, Water meal เป็นพืชน้ำ และพืชดอกขนาดเล็กที่สุดในโลก รูปร่างทรงรี มีขนาดตั้งแต่ 1-2 มิลลิเมตร อาจเกิดเดี่ยว หรือ ติดเป็นคู่ เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเป็นเม็ดเล็ก ๆ ลอยเป็นแพอยู่บริเวณผิวน้ำ ไม่มีราก โดยใบ และลำต้นรวมกันลักษณะคล้ายเฟิร์น พบได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใส นิ่ง ปัจจุบันมีการเลี้ยงในบ่อที่มีน้ำใส สะอาด โดยสปีชีส์ที่ศึกษานี้คือ Wolffia arrhiza (L.) วงศ์ Lemnaceae วงศ์ Lemnaceae จากแหล่งเพาะเลี้ยงในอำเภอสันทราย จ.เชียงใหม่
“ผำ” เป็นอาหารพื้นถิ่นในแถบประเทศพม่า ลาว ภาคเหนือ และภาคอีสานของไทย ชื่อเรียกจะต่างกันบ้างในภาษาท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือ จะเรียก ผำ, ไข่ผำ หรือ ไข่แหน
ภาคกลาง เรียก ไข่น้ำ ส่วนเมนูอาหารนิยมทำ “คั่วผำ” โดยนำผำสดล้างสะอาดมาปรุงด้วยตะไคร้ พริก กระเทียม หอม ใบมะกรูด ได้รสอร่อย
เพื่อความสะดวก ล่าสุด มีการพัฒนา “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากผำ” เป็นผลงานศึกษาของ นายพิพัฒน์พงษ์ วงศ์ใหญ่ นางสาวศศิธร ชาววัลจันทึก และ ผศ.ดร.สุนีย์ จันทร์สกาว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่ง นางสาวศศิธร กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทโปรตีน ได้รับความสนใจในฐานะผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จึงมีความสนใจแสวงหาแหล่งโปรตีนจากพืชพื้นบ้านไทย พบว่า มีพืชน้ำที่ชาวบ้านนำมารับประทานเป็นอาหารอยู่แล้วคือ “ผำ” ซึ่งมีสารอาหารประเภทโปรตีน และกรดอะมิโนจำเป็นปริมาณสูง จึงนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบ “ยาเม็ดเคี้ยว” เพื่อให้สะดวก รับประทานง่าย เหมาะสำหรับผู้ใช้ชีวิตเร่งรีบ โดยเฉพาะนักศึกษา และวัยทำงาน ที่มีเวลาน้อย อีกทั้ง เป็นการเพิ่มทางเลือกดูแลสุขภาพ ด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในราคาเหมาะสม
เมื่อนำผำมาวิเคราะห์ปริมาณสารอาหาร พบว่า มีโปรตีน 20% นอกจากนี้ ยังมีคลอโรฟิลล์ โครงสร้างมีลักษณะเป็น Cyclic Tetrapyrolle คล้ายคลึงกับฮีม (Heme) ที่อยู่ในฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเลือด มีรายงานการวิจัยถึงฤทธิ์ เช่น ต้านอนุมูลอิสระ รักษาอาการท้องผูก ต้านการติดเชื้อ ปรับสภาพร่างกายให้เป็นด่างในคนที่มีสภาวะเครียด หรือ ร่างกายมีความเป็นกรดจากอาหาร และรักษาภาวะซีดในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง
โดยการศึกษาเพื่อพัฒนาตำรับผำ ได้ประเมินคุณภาพเชิงปริมาณโปรตีนรวมของผำ ทั้งก่อน-หลังการตั้งตำรับ และทำการตรวจวิเคราะห์โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งการตั้งตำรับเป็นรูปแบบยาเม็ดเคี้ยว ขนาด 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด มีสีเขียว กลิ่นคล้ายสาหร่าย ความเป็นกรด-ด่าง (pH) เป็นกลาง ผลการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนเท่ากับ 231.4 มิลลิกรัมต่อหนึ่งเม็ด ผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการประเมินคุณภาพยาเม็ดเคี้ยว.
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 6 ธันวาคม 2554 http://www.dailynews.co.th/citizen/1784
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”