ในภาวะที่หลายจังหวัดในประเทศไทยจมอยู่ใต้บาดาลมานานหลายเดือน แน่นอนว่าโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต ย่อมเกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยไม่มากก็น้อย ลองสังเกตว่าหากมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย เกิดผื่นที่เท้า ผิวหนังพุพอง เท้าเปื่อย เป็นหนอง มีอาการนิ้วเท้าหนาและแตกร่วมด้วย นั่นหมายถึงโรคน้ำกัดเท้าได้มาเยือนคุณแล้ว แต่จะให้เดินทางไปสถานีอนามัยหรือพบแพทย์เพื่อรักษาก็ไม่สะดวก
ดังนั้น มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำโดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร มีคำแนะนำมาเสนอ ด้วยการหยิบใช้ “สมุนไพรใกล้ตัว” ที่จะกลายเป็นยาวิเศษช่วยเหลือชาวบ้านได้ โดยใครที่เริ่มมีอาการเป็นโรคน้ำกัดเท้า ให้นำสมุนไพรที่มีรสฝาด เช่น เปลือกมังคุด เปลือกมะขามป้อม ใบฝรั่ง หมาก สีเสียด นำมาต้มเคี่ยวให้ได้น้ำรสฝาด จากนั้นรอให้อุ่นแล้วค่อยแช่ขาและเท้าลงไปประมาณ 5-10 นาที แล้วเช็ดให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก ซึ่งน้ำที่มีรสฝาดนี้จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์ฝาดสมานตกตะกอนโปรตีน ทำให้ผิวหนังกระชับ ส่งผลให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังได้ยากขึ้น
“การนำสมุนไพรใกล้ตัวมาใช้นี้ มาจากเคล็ดของคนโบราณ ซึ่งเมื่อก่อนชาวนาที่ต้องแช่เท้าดำนาอยู่ทั้งวัน ก่อนขึ้นเรือนหลังจากล้างเท้าให้สะอาดแล้ว เขาจะจุ่มเท้าลงในน้ำที่แช่เปลือกมะขามป้อมหรือเปลือกกระโดนแล้วค่อยขึ้น เรือน เท้าจึงปลอดภัยจากโรคภัย”
ภญ.ดร.สุภาภรณ์กล่าวต่อว่า แต่ขาและเท้าเริ่มเป็นโรคแล้ว ให้ใช้ใบพลู สมุนไพรอีกชนิดที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเลือกใช้ใบพลูแก่นำมาตำให้ละเอียด ใส่เกลือเล็กน้อยและน้ำหรือเหล้าพอชุ่ม นำมาทาบริเวณที่เป็นโรค เช้า-เย็นต่อเนื่องจนกว่าโรคจะหาย ซึ่งพลูมีสรรพคุณฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และลดการอักเสบ อย่างไรก็ตามการใช้ใบพลูมีข้อเสียบางประการคือ ผิวหนังบริเวณที่ถูกทาจะมีสีคล้ำขึ้นแต่จะจางหายไปเมื่อเลิกใช้ นอกจากนี้ยังมีชุมเห็ดเทศหรือหัวข่าที่มีสรรพคุณฆ่าเชื้อรา กลากเกลื้อน รักษาโรคน้ำกัดเท้าได้เช่นกัน วิธีการใช้ให้เลือกใบชุมเห็ดเทศแก่หรือหัวข่าแก่ นำมาโขลกให้ละเอียด แช่เหล้าพอท่วมไว้ประมาณ 7 วัน แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นโรค เท่านี้ก็สามารถบรรเทาอาการคันและรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้
“แต่ถ้าเราหมั่นล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากเดินไปสัมผัสน้ำ ท่วมขัง และเช็ดให้แห้ง ใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าที่สะอาดแห้งไม่เปียกชื้น ไม่ใส่ถุงเท้ารองเท้าคู่เดิมทุกวัน ก็จะสามารถป้องกันโรคน้ำกัดเท้าได้อีกวิธีหนึ่ง” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ระบุ
ที่มา: ไทยโพสต์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 http://www.thaipost.net/node/47505
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”