ชาวบ้านทะเลน้อย อ.แกลง จ.ระยอง ทำนาแค่ปีละครั้งในช่วงฤดูฝน เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวก็จะได้เวลาเก็บเกี่ยวข้าว
หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวนี้เอง ชาวบ้านจะไม่ทิ้งที่นาให้เสียประโยชน์ จะปลูกพืชล้มลุกชนิดหนึ่งซึ่งดูๆ ไปคล้ายวัชพืช แต่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจกับชุมชนมาก ชาวบ้านแถบ อ.แกลง เรียกพืชชนิดนี้ว่า ผักกระชับ
ต้นกระชับเป็นไม้ล้มลุกทรงพุ่ม เมื่อต้นแก่จะออกผล ลักษณะของผลจะมีขนแข็งๆ อยู่โดยรอบ ผลของต้นกระชับซึ่งมีเมล็ดอยู่ภายใน เมื่อร่วงหล่นลงสู่พื้นดินจะหมกตัวอยู่ในดินที่กลบด้วยตอซังและฟางข้าว เมื่อครบ 3 เดือน เมล็ดกระชับที่แช่น้ำปะปนอยู่กับดินเลนจะงอกโผล่จากผิวดินและเจริญเติบโตต่อไป
ต้นกระชับที่งอกเป็นต้นอ่อนนั้น จะมีลักษณะคล้ายกับถั่วงอก ลำต้นเป็นสีขาว ใบสีเขียว นำมารับประทานได้ รสชาติอร่อยถูกปาก ที่สำคัญมีความหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้คนที่นี่จึงนำมารับประทานจนกลายเป็นผักพื้นบ้านที่มีคนนิยมบริโภคมาก โดยเฉพาะในจ.ระยอง
หากใครมาเที่ยวแถว อ.แกลง จ.ระยอง บ่อยๆ เชื่อว่าชื่อของผักกระชับคงจะพอคุ้นหูอยู่บ้าง เพราะถึงแม้จะเป็นวัชพืชในนาข้าว แต่ด้วยรสชาติที่อร่อยถูกปาก จึงกลายเป็นผักพื้นบ้านที่คนที่นี่ภูมิใจนำเสนอ เรียกได้ว่ามาเที่ยวแถวนี้แล้ว ถ้าไม่ได้รับประทานผักกระชับถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองแกลงกันเลยทีเดียว
เนื่องจากมีรสชาติอร่อยแต่หารับประทานได้ยาก ชาวบ้านในบริเวณลุ่มน้ำประแสร์ ในเขตชุมชนบ้านทะเลน้อย หรือชุมชนในเขต ต.ทางเกวียน ต.พังราด ต.คลองปูน และต.ทุ่งควายกิน ในอ.แกลง จึงเริ่มคิดหาวิธีปลูกผักกระชับเพื่อให้เป็นอาชีพของชุมชนด้วย โดยเฝ้าศึกษาและหาวิธีการเพาะพันธุ์ เพื่อให้มีผักกระชับไว้จำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้ตลอดทั้งปี ในที่สุดการปลูกผักกระชับของชาวบ้านทะเลน้อยก็ได้กลายเป็นธุรกิจชุมชนที่สร้างรายได้ต่อปีให้กับชาวบ้าน
ลุงวิสูตร ช่างเหล็ก หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผักกระชับบ้านทะเลน้อยบอกว่า “ปัจจุบันบ้านที่ทำผักกระชับอยู่เหลือแค่ 14-15 หลัง คือมันเป็นผักที่คนปลูกต้องดูแลเอาใจใส่ ใช่ว่าจะปลูกกันได้ง่ายๆ มีข้อจำกัดหลายอย่างเกี่ยวกับผักกระชับที่คนปลูกต้องศึกษาให้ดี อย่างเช่นว่ากว่าจะนำมาเพาะกินได้นั้น ต้องใช้เวลาแช่เมล็ดในน้ำสะอาด 70-80 วัน พอได้เมล็ดที่พร้อมจะเพาะแล้ว ใช้เวลาเพาะอีกถึง 8 วัน จึงนำมากินได้”
นอกจากการดูแลในช่วงก่อนและระหว่างเพาะแล้ว ระยะเวลาหลังการเพาะก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ที่คนปลูกควรเอาใจใส่เพิ่มเติม เช่น การให้น้ำ ไม่ควรให้มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเน่า หากมีน้ำเกาะอยู่ตามใบต้องเปิดพัดลมเพื่อพัดให้ใบแห้ง ไม่เช่นนั้นถ้าทิ้งไว้ใบก็จะเน่าเช่นกัน บ้านที่ยังเพาะผักกระชับเพื่อจำหน่ายอยู่ สามารถสังเกตได้ถึงว่าลักษณะการเน่าของผักกระชับ ไม่ว่าจะเป็นใบ หรือโคนที่เน่า มีสาเหตุมาจากอะไร
น้องคิน ด.ช.ภาคิน ช่างเหล็ก ลูกชายคนเล็กของคุณลุงวิสูตร ที่คอยช่วยพ่อดูแลแปลงเพาะผักกระชับอยู่เป็นประจำ เล่าว่า “อาการเน่าของผักกระชับมีทั้งใบเน่า โคนเน่า หากใบเน่าแสดงว่าเน่าน้ำ คือเราให้น้ำมากเกินไป หากโคนเน่านั่นคือเน่าเชื้อรา การสังเกตใบผักกระชับ หากใบช้ำแสดงว่าให้น้ำมากไป หากใบหงิกงอแสดงว่าขาดน้ำมาก หากใบชูสลอนเกินไปก็หมายความว่าให้น้ำมากเกินไปเช่นกัน”
การที่น้องคินอธิบายถึงลักษณะอาการต่างๆ ของผักกระชับได้เป็นอย่างดีนั้น ก็เพราะว่าคลุกคลีอยู่กับการทดลองปลูกเพาะผักกระชับตามพ่อมาตลอด แถมยังชวนเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่าง น้องเนส ด.ช.กิตติ ช่างเหล็ก มาทดลองปลูกด้วยกันอีก คุณลุงวิสูตรถ่ายทอดทุกกระบวนการให้กับลูกชายได้เรียนรู้ น้องคินต้องทำความเข้าใจกับพืชชนิดนี้อยู่นานกว่าจะปลูกให้ได้ต้นสวย
ปัจจุบัน ผักกระชับมีผู้นิยมบริโภคเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นผักที่ชาวบ้านปลูกเองกับมือ ปลอดภัย ไร้สารพิษ อีกทั้งยังส่งเสริมให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้อยู่อย่างพอเพียงและยั่งยืน
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผักกระชับ ยังมีอีกมาก ติดตามในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน หรรษาผักกระชับ เสาร์ที่ 30 ก.ค.นี้ ช่อง 3 เวลา 06.25 น. www.payai.com
ที่มา: ข่าวสด คอลัมน์ สดจากเยาวชน โดย ยศศยามล กรมติ 29 กรกฎาคม 2554 http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEk1TURjMU5BPT0=
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”