การดูแลสุขภาพของคนเมือง ไม่ใช่แค่การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น
แต่การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงจากภายใน
ผู้บริโภคในปัจจุบันจึงต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาของอาหารและความใส่ใจของผู้ ผลิตด้วย เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่าพืชผักอาหารต่างๆ ที่นำมาขายในตลาดทั่วไปนั้นปลอดภัยเพียงใด
จากความห่วงใยและใส่ใจเรื่องอาหารของคนในครอบครัว ปัจจุบันจึงมักเกิดตลาดนัดสีเขียว หรือตลาดนัดที่ขายพืชผักปลอดสารพิษและอาหารที่ปลอดภัยให้กับผู้ซื้อในหลายๆ ที่ โดยอาจเกิดจากการรวมตัวกันของผู้ขายเองที่ต้องการนำสิ่งดีๆ ที่ตนเองผลิตมาถึงมือผู้บริโภคโดยตรง หรือผู้บริโภคเองอาจรวมตัวกันหาผู้ผลิตดีๆ นำสินค้ามาขายตามที่ตัวเองต้องการ
เมื่อคนทั้งสองกลุ่มที่มีจุดยืนร่วมกันคือต้องการส่งและรับอาหารปลอดภัยมาเจอกัน จึงเกิดตลาดดีๆ ขึ้นหลายแห่ง
ทุกๆ วันอังคารสัปดาห์เว้นสัปดาห์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดตลาดนัดสีเขียวขึ้นที่อาคารวิชาการ 3 พืชผักอินทรีย์หลากหลายจากกลุ่มผู้ผลิตดีๆ ที่เจ้าหน้าที่ช่วยกันเลือกสรรและชวนให้มาเปิดร้านจะนำสินค้าตามฤดูกาลมาวาง จำหน่าย
นอกจากจะมาซื้อหาไปทำกับข้าวได้เองแล้ว สำหรับผู้ที่คิดไม่ออกว่าจะทำอาหาร จากผักเหล่านี้อย่างไร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จากอ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ได้คิดรูปแบบการจัดการที่เหมาะสมกับผู้บริโภคชาวเมืองที่นิยมความเร่งด่วน ขึ้น นั่นก็คือ “ผักกล่อง”
คำว่า ผักกล่อง มีที่มาอย่างไร อ.ชัยวัฒน์ คงสม ผู้ริเริ่มโครงการตลาดนัดสีเขียวในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บอกเล่าให้ฟัง
“โครงการผักกล่องนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์ มสธ. กับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เริ่มแรกคือ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ เพื่อวิจัยหารูปแบบการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ระบบสมาชิก ที่จะต้องสอดคล้องกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ดีมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ก็เลยกลายมาเป็นโครงการผักกล่องขึ้น”
อ.ชัยวัฒน์ และสมาชิกผักกล่องคนอื่นๆ จะได้รับชุดผักสำหรับประกอบอาหารตามเมนูที่เลือกไว้ แต่ผักนั้นทางกลุ่มเกษตรกรจะเป็นคนจัดให้ตามฤดูกาลและความเหมาะสม จึงทำให้สมาชิกได้รับพืชผักพื้นบ้านตามฤดูกาล และเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับสมาชิกในครอบครัวได้รู้จักกับผักพื้นบ้านหลากหลายชนิด เป็นเหมือนห้องเรียนธรรม ชาติที่แถมมากับกล่องผักด้วย
ด.ช.ธนกร คงสม หรือน้องตั้ม ลูกชายตัวน้อยของอ.ชัยวัฒน์ เรียนอยู่ชั้นป.2 กินผักพื้นบ้านเป็นเกือบทุกชนิด น้องตั้มเล่าให้ฟังว่า “ผักพื้นบ้านตั้มลองกินเกือบครบแล้วครับ คุณพ่อกินอะไรตั้มก็กินตาม แต่ตอนนี้ชอบผักกูดมาก ผัดผักกูดอร่อยมากครับ”
พอได้บริโภคผักพื้นบ้านดีมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง คุณพ่อคุณแม่บอกว่าเด็กเมืองตัวน้อยคนนี้สุขภาพดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบขับถ่าย หรืออาการโรคภูมิแพ้ของน้องตั้มค่อยๆ ดีขึ้น
คนเมืองใหญ่ได้กินผักสดปลอดภัยไร้สารพิษ ต้องขอบคุณผู้ผลิตดีๆ อย่างกลุ่มเกษตรกรจากอ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา และอีกหลายๆ กลุ่ม ที่พวกเขาทั้งตั้งใจและใส่ใจในเรื่องคุณภาพของผักอินทรีย์ที่จะลงกล่องก่อนส่งถึงมือผู้บริโภคเสมอ
ด.ญ.เสาวลักษณ์ จันดา หรือ น้องอิ๋ว กับ ด.ญ.ชนัญญา โฉมเฉิด หรือ น้องจั่น ลูกหลานในกลุ่มแวะเวียนมาช่วยพี่ป้าน้าอา ทั้งเก็บผัก ล้างผัก และแพ็กผักลงกล่องอยู่เป็นประจำ ผักดีๆ ที่มาจากความตั้งใจดีของผู้ผลิตจึงถูกส่งต่อมายังคนในเมืองไม่เคยขาด
จั่นบอกว่า “คนที่ได้รับผักของเราไปกินแล้วจะมีสุขภาพดี เพราะได้กินผักปลอดสารพิษที่ชาวบ้านเก็บเองกับมือค่ะ”
อิ๋ว เสริมว่า “คนที่ได้กินผักเราแล้วเขาจะมีสุขภาพแข็งแรงค่ะ อยากเชิญชวนให้เด็กๆ กรุงเทพฯ มากินผักปลอดสารพิษกันเยอะๆ รับรองว่าจะติดใจแน่นอน”
อิ๋วกับจั่นและแม่ๆ ป้าๆ ในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต ได้แบ่งปันความสุขใจให้ผู้บริโภคผ่านไปกับกล่องผัก ในกล่องบรรจุผักพื้นบ้านหลากหลายชนิดที่ทรงคุณค่า เป็นทั้งอาหารและยา คุณภาพชีวิตดีๆ ของคนเมืองจึงเริ่มต้นง่ายๆ ที่กล่องผักหนึ่งกล่องนี้
การเดินทางของผักจากต้นทางสู่ปลายทาง จะผ่านขั้นตอนกระบวนการใดบ้าง ติดตามในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ส่งผักส่งใจ วันเสาร์ที่ 23 เม.ย. ช่อง 3 เวลา 06.25 น. www.payai.com
ที่มา: ข่าวสด วันที่ 22 เมษายน 2554 โดย ยศศยามล กรมติ สดจากเยาวชน http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEl5TURRMU5BPT0=
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”