‘ปิดคลองจับปลา-กินปู’

ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เมืองตราด

สำหรับผู้ที่นิยมชมชอบบริโภคปู ไม่ว่าจะเป็น ปูม้า ปูแสม หรือปูทะเล ท่านทราบหรือไม่ว่าแหล่งผลิตปูทะเลแหล่งสำคัญที่ส่งปูทะเลที่มีคุณภาพไปยัง ตลาดผู้บริโภคต่าง ๆ ทั่วประเทศในบ้านเรา แม้แต่ภัตตาคารดัง ๆ ในย่านถนนสีลม รวมทั้งปูเกรดเอ ที่ส่งไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน จีน หรือฮ่องกง สถานที่แห่งนั้นอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง ขับรถไม่เกิน 3 ชั่วโมง เท่านั้นเอง

ตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดตราด เป็นทั้งพื้นที่ราบเชิงเนิน บางส่วนที่เป็นที่ราบลุ่ม ป่าชายเลน บางส่วนติดทะเล จากสภาพพื้นที่หลากหลายเช่นนี้ ทำให้ประชากรในพื้นที่ประกอบอาชีพหลากหลายเช่นกัน มีทั้งทำนา ทำไร่ ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง แต่อาชีพที่สามารถสร้างรายได้ทำให้ครอบครัวมีความสุขก็คือ อาชีพดักปูขาย หรือที่เรียกว่า การทำประมงปู

ชาวประมงหาปู จะใช้ลอบดักปูเป็น กล่องสี่เหลี่ยมทำจากเหล็กดัด มีประตูปิด-เปิดทำทางเข้าออกเพียงทางเดียว ขึงด้วยตาข่ายอวนตาถี่ประมาณ 2 ซม. แล้วใช้ปลาปูตัวเล็ก ๆ มัดเป็นก้อนใส่ไว้ในลอบดัก จากนั้นนำลอบดักปูไปวางไว้ในป่าชายเลนที่ชุกชุมไปด้วยปูในตอนเย็น แล้วกลับมาเก็บตอนเช้า ซึ่งจากสภาพที่ชุกชุมมากของปู ทุกเช้าชาวประมงจะได้ปูกลับมาทุกวันโดยขนาดจะแตกต่างกันไป จากนั้นจะจับปูมามัดด้วยเชือกฟาง หรือเชือกกก แล้วนำมาขายที่ตลาดสดเทศบาล แต่ชาวประมงส่วนใหญ่จะนำปูมาขายที่ ธาราแพปู ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อปูประจำท้องถิ่น เปิดรับซื้อปูจากชาวประมงมาเกือบ 20 ปีแล้ว

แพปูแห่งนี้จะแยกขนาดปู แล้วส่งไปขายยังตลาดต่าง ๆ ในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นตลาดปูที่มหาชัย หรือตามภัตตาคาร ร้านอาหารทะเลชื่อดังต่าง ๆ ในขณะที่ปูขนาดใหญ่จะถูกส่งไปขายยังตลาดต่างประเทศ ทั้งไต้หวัน จีน และฮ่องกง ชาวบ้านที่หาปูเป็นอาชีพ บอกว่า ปูมีให้จับได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูฝนจะมีชุกชุมมาก แต่ในหน้าแล้งปูจะหายากหน่อย แต่ราคาก็ดีกว่าเช่นกัน

จากความชุกชุมของปู ชาวบ้านที่หนองโสนสามารถยึดเป็นอาชีพได้อย่างสบาย เฉลี่ยมีรายได้ประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อครอบครัว โดยปูแต่ละขนาดจะขายได้ราคาแตกต่างกันไป ตั้งแต่กิโลกรัมละ 80-100-120-160-180 บาท แต่ถ้าได้ขนาดตัวละ 7 ขีด จะได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 300 บาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรจากทะเลเหล่านี้ หากใช้กันอย่างไม่ทะนุถนอมย่อมหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว ทำอย่างไรจึงจะเก็บรักษาสภาพนี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด ชาวบ้านจะต้องร่วมมือกันทุกคน   และเป็นเรื่องที่ผู้นำท้องถิ่นจะต้องคิด และชาวบ้านทุกคนจะต้องช่วยกันปฏิบัติให้ได้อย่างเคร่งครัด กฎกติกามารยาทของชุมชน จึงเกิดขึ้น กล่าวคือ

ป่าชายเลนอันเป็นต้นกำเนิดของสัตว์น้ำทั้งหลายโดยเฉพาะปูนั้น ใครจะเข้าไปตัด หรือทำลายต้นโกงกาง หรือใช้พื้นที่ทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะบ่อเลี้ยงกุ้งไม่ได้โดยเด็ดขาด เนื่องจากชาวบ้านเคยมีบทเรียนจากการใช้พื้นที่ทำบ่อเลี้ยงกุ้งมาแล้ว คนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่คนส่วนใหญ่กลับต้องยากจนลงจนแทบจะอดตาย ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มอนุรักษ์ ภายใต้การดูแลของ อบต.หนองโสน เช่น

การคราดจับหอยลาย อนุญาตให้จับได้เพียง 3 วัน และต้องพัก 4 วัน และทาง อบต.ได้ขอร้องให้งดจับปูขนาดเล็ก ลอบดักปูจะใช้ตาข่ายตาถี่เล็กไม่ได้ ให้จับได้เฉพาะปูตัวที่ได้ขนาดเท่านั้น เพื่อรอให้ปูได้เติบโตจนได้ขนาดเสียก่อน อบต.จะให้ชาวบ้านเข้าไปตัดแต่งกิ่งก้านต้นโกงกางได้ตามที่กำหนด และให้นำกิ่งก้านโกงกางที่ตัดแต่งไปเผาทำถ่านคุณภาพดีได้ รวมทั้ง อบต.ได้ชักนำกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาร่วมปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพพื้นที่กว่า 580 ไร่ของตำบลหนองโสน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าโกงกางและสิ่งที่ตามมาก็คือ สัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะปูและปลา

นายศักดา อรรถศิริ นายก อบต.หนองโสน กล่าวว่า เนื่องจากตำบลหนองโสนมีทรัพยากรที่หลากหลายเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของอาหารการกิน ทิวทัศน์ที่มีพื้นที่ติดกับทะเล ติดป่าเขา มีนาข้าว และมีสวนผลไม้ จึงสามารถที่จะนำมาทำเป็นการเที่ยวเชิงนิเวศได้ทุกฤดูกาล โดยในพื้นที่บ้านปากคลอง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองโสน มีชาวบ้านกว่า 40 ครอบครัว ที่ประกอบอาชีพทำประมง อบต.หนองโสน สามารถส่งเสริมในเรื่องการตลาด และพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยว โดย อบต.ได้ดำเนินงานและเก็บข้อมูลไว้เพื่อพัฒนาให้ประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในตำบลหนองโสนต่อไป

นายศักดา กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ทางเทศบาลได้จัดกิจกรรม “ปิดคลองจับปลา” เนื่องจากในพื้นที่ป่าโกงกางมีคลองซอยย่อย ๆ มากมาย และในช่วงหน้าแล้งนี้ เวลาน้ำลงน้ำทะเลจะลดระดับลงจนคลองแห้ง เราก็ปิดหัวปิดท้ายคลองไว้ พอน้ำแห้งก็ลงไปไล่จับปลากันอย่างสนุกสนาน ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กนักเรียนปิดเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานมาเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่หนองโสนได้หลาย กิจกรรม ทาง อบต.จึงคิดจัดกิจกรรมปิดคลองจับปลาขึ้น ในช่วงที่น้ำทะเลลดลงจนแห้ง เด็ก ๆ จะตื่นเต้นมากกับปลาน้อยใหญ่นานาชนิดที่ตกค้างอยู่ในคลอง บุตรหลานของท่านสามารถลงไปช่วยกันจับปลาได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน ส่วนปลาที่ได้ จะนำมาปรุงเป็นอาหารก็จะเกิดความภาคภูมิใจว่าเป็นปลาที่เขาจับมาได้ หรือหากเห็นว่าตัวเล็กเกินไป จะนำไปปล่อยคืนสู่ทะเลก็จะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นต่อไป

นายก อบต. กล่าวต่อว่า ในตอนค่ำเรายังสามารถ พายเรือออกไปเที่ยวดูหิ่งห้อยตามคลองเล็กคลองน้อย ได้อย่างเพลิดเพลินอีกกิจกรรมหนึ่ง เนื่องจากในพื้นที่มีต้นลำพูขึ้นปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก ตกค่ำจึงมีหิ่งห้อยบินมาอวดโฉมมากมาย ไม่แพ้ที่คลองอัมพวา บุตรหลานของท่านสามารถเพลิดเพลินกับธรรมชาติได้อย่างดื่มด่ำ ส่วนสถานที่พักเราก็ได้จัดที่พักแบบโฮมสเตย์ที่บ้านของชาวบ้านหนองโสนทุก ครัวเรือน พร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความเต็มใจ ซึ่งเรื่องอาหารการกินคงไม่ต้องพูดถึงว่า เมนูแต่ละอย่างล้วนแล้วแต่เป็นอาหารทะเล โดยเฉพาะผู้ที่นิยมชมชอบปูทะเล รับรองว่าถ้าได้มาเที่ยวที่หนองโสนสักครั้งจะติดใจจนลืมไม่ลง ท่านที่สนใจจะไปเที่ยว สามารถติดต่อมาได้ที่ทำการ อบต.หนองโสน หรือติดต่อที่ นายศักดา อรรถศิริ นายก อบต.หนองโสน โดยตรงได้เลย.

รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว

การเดินทางไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ บ้านปากคลอง ต.หนองโสน อ.เมือง จ.ตราด ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ จากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.ตราด ระยะทาง 350 กม. เมื่อถึง จ.ตราด ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทาง สายตราด-แหลมงอบ ระยะทาง 7 กม. จะเห็นป้ายทางซ้ายมือ “ป่าชายเลนบ้านปากคลอง” เลี้ยวซ้ายไปตามทางอีก  2 กม. จะถึงโรงเรียนบ้านปากคลอง จะเห็นป้าย “ธารารับซื้อปู” เลี้ยวไปทางขวามือประมาณ 200 เมตร จะถึงจุดหมายปลายทาง

ที่นี่สามารถติดต่อหาเรือเพื่อออกไปเที่ยวชมธรรมชาติป่าชายเลน หากจะพักค้างคืนก็มีโฮมสเตย์ 5-6 หลังให้ใช้บริการในราคาไม่แพง ที่นี่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 2 คันรถตู้ แต่หากมากันเป็นจำนวนมาก คงต้องพักที่โซนด้านบน เป็นสวนผลไม้ สามารถพักได้มากกว่า แต่เพื่อประกันความผิดหวัง กรุณาติดต่อล่วงหน้าที่ อบต.หนองโสน โทร.0-3952-3056 หรือที่ นายก อบต.หนองโสน โดยตรงที่ โทร. 08-1653-8126

ที่มา: เดลินิวส์ วันที่ 9 เมษายน 2554 http://www.dailynews.co.th/

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post