หากจะพูดถึงงานบุญปีใหม่ของไทยที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทยนั้น ทุกๆ ปี วัดวาอารามมักจะเต็มไปด้วยชาวพุทธศาสนิกชนมาร่วมงานบุญใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยพุทธที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน เช่นเดียวกับงานบุญปีใหม่ของชาวมอญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทางวัฒนธรรมประเพณี อย่างชาวมอญชุมชนวัดม่วง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจุดที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศ จนมีการจัดตั้งให้เป็น ศูนย์มอญศึกษา และมีพิพิธภัณฑ์มอญวัดม่วง จัดแสดงเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมประเพณีมอญกับผู้ที่สนใจเข้าชม
งานบุญปีใหม่ของชาวมอญปีนี้ยังคงสืบสานประเพณี “ส่งข้าวแช่” ที่ถือปฏิบัติกันมายาวนาน ลุงจวน เจือวิชฌาจารย์ ปราชญ์ชาวมอญ เล่าว่า แม้ชาวมอญจะมีวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกับคนไทยทำให้เกิดการกลมกลืนกันไป อีกทั้งอาหารมอญก็คล้ายๆ อาหารไทย แต่จะแตกต่างกันที่วัตถุดิบที่ชาวมอญมักจะใช้พืชผักสมุนไพรมาปรุงเป็นอาหาร และยังมี “ข้าวแช่” ซึ่งเป็นอาหารมอญแท้ๆ เป็นอาหารที่ขาดไม่ได้
“ข้าวแช่” ประกอบไปด้วย ข้าวสวย น้ำอบดอกมะลิ และมีกับข้าวเป็นปลาหวาน มะม่วงยำ ผัดหมี่ ขนุนยำ และผัดไช้โป๊หวาน ซึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชาวมอญมักจะส่งข้าวแช่ไปยังวัดต่างๆ เพื่อร่วมงานบุญใหญ่ในวันขึ้นปีใหม่ไทยด้วย
“การส่งข่าวแช่ปฏิบัติต่อๆ กันมาจนเป็นประเพณี เพราะเกิดมาก็ได้เห็นข้าวแช่แล้ว พ่อแม่ก็ปฏิบัติกันมาต่อเนื่อง เมื่อมาถึงลูกหลานชาวมอญก็ยังคงทำต่อๆ กันมา เพราะไม่อยากให้วัฒนธรรมนี้หายไป เด็กรุ่นใหม่บางคนเข้ามาเรียนในเมืองก็ไม่พูดภาษามอญแล้ว ที่วัดม่วงจึงเป็นแหล่งศึกษาวัฒนธรรมมอญที่เน้นให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เป็นการปลุกความรักในความเป็นมอญ โดยจะมีผู้เฒ่าผู้แก่ชาวมอญค่อยอบรมสั่งสอน” ลุงจวนกล่าว
ส่วนความเป็นมาของวัดม่วง ป้าสอางค์ พรหมอินทร์ ผู้ดูแล ศูนย์มอญศึกษา และ พิพิธภัณฑ์มอญวัดม่วง เล่าว่า มีการบอกเล่าไว้เป็นภาษามอญ บันทึกในใบข่อยโบราณ ที่ระบุว่าวัดม่วงเป็นวัดเก่าแก่ของชาวมอญ มีอายุไม่น้อยกว่า 300 ปี สันนิษฐานว่าก่อตั้งมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในเวลานั้นบ้านม่วงและบริเวณริมแม่น้ำแม่กลองมีชาวมอญอาศัยอยู่มาก แต่ชาวมอญก็อยู่รวมกับชาวไทย จีน ลาว ญวน เขมร และกะเหรี่ยง จึงมีการผสมผสานแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน แต่ชาวมอญก็ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีความเชื่อในเรื่องผีสาง และมีข้อปฏิบัติที่แตกต่างจากเชื้อสายอื่น จึงมีวัฒนธรรมประเพณีที่โดนเด่นและน่าสนใจให้ศึกษา
“ผู้ที่สนใจเรื่องราวของชาวมอญ ในพิพิธภัณฑ์มอญวัดม่วงได้จัดแบ่งการเล่าเรื่องราวมอญให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ อย่างการเล่าเรื่องมอญในตำนาน ให้รู้ที่มาของชาวมอญ ประวัติศาสตร์ ภาษามอญ และจารึกภาษามอญ ประเพณีวัฒนธรรมมอญ มอญในประเทศไทย ในแต่ละโซนจะได้เห็นสิ่งของเครื่องใช้ของชาวมอญที่นำมาบอกเล่าเรื่องราว เช่น เครื่องทองเหลือง เครื่องถ้วยชาม และเครื่องแก้ว ที่เป็นของใช้เก่าแก่ของผู้เฒ่าผู้แก่นำมาบริจาคเพื่อจัดแสดงให้ความรู้ และยังมีคัมภีร์โบราณทำจากเงินและทองแท้ทั้งฉบับ รวมถึงภาพถ่ายประเพณีการบวชที่เป็นเอกลักษณ์ ภาพการละเล่นตามความเชื่อ และประเพณีเลี้ยงผีหรือแก้ผีเข้า เพราะทำผิดผี ให้ได้ศึกษาจากรูป เพราะเป็นพิธีเฉพาะที่ไม่สามารถทำการสาธิตได้” ป้าสอางค์กล่าว
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานบุญสงกรานต์ของชาวมอญ ป้าสอางค์บอกว่า สามารถมาเที่ยว มาร่วมงานบุญได้เลย ส่วนใครที่สนใจเรียนภาษามอญ ที่นี่ก็เปิดสอนให้กับบุคคลทั่วไปเฉพาะในวันพุธและวันพฤหัสบดี หากใครจะมาเยี่ยมพิพิธภัณฑ์มอญก็จะเปิดให้ชมทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ หรือใครสนใจมาเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อล่วงหน้า หรือสอบถามมาที่โทรศัพท์ 0-3237-2548 หรือ 08-9885-8817.
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม ไทยโพสต์ วันที่ 6 เมษายน 2554 http://www.thaipost.net/node/36706
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”