เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ มีการเสวนาหัวข้อ “เรื่องอยู่เรื่องกินในภาพยนตร์” ในนิทรรศการ “กินแหนงแคลงใจ” โดย มีนายสุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป นางสาวชลิดา เอื้อบํารุงจิต ตัวแทนมูลนิธิหนังไทย และนายไกรวุฒิ จุลพงศธร นักเขียนและนักวิจารณ์หนังชื่อดัง ร่วมเสวนา และนายภาสกร อินทุมาร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา คณะสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายไกรวุฒิ กล่าวว่า อาหารก็เหมือนภาพยนตร์ ที่สามารถกินคนเดียวหรือดูคนเดียว จนกระทั่งกินเป็นกลุ่มหรือดูภาพยนตร์กันหลายคน เรียกว่าเป็นประตูสู่ความเป็นชุมชน เรียกว่าเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม จะมีความเป็นตัวแทนของคนหรือชาติ เช่น ในภาพยนตร์ไทยจะมีอาหารไทยด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าที่คนทำหนังเลือกหยิบเรื่องอาหารมาเล่าภาพยนตร์ เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถเชื่อมโยงกับคนดูได้สูงมาก
“พอยุคโลกาภิวัฒน์ ความเป็นอาหารพื้นถิ่นเริ่มถูกทำลายไป เพราะโลกาภิวัฒน์ทำให้อาหารทุกที่คล้ายคลึงกัน ก็จะมีหนังที่ถูกออกแบบให้สู่กับยุคโลกาภิวัฒน์ หนังที่พยายามเน้นถึงความอนุรักษ์ชาติ เน้นว่าการกินอาหารแบบเก่าๆ กินอาหารแบบโบราณ กินในครอบครัว หรือกินรสมือแม่”
ด้านนางสาวชลิดา กล่าวว่า ในภาพยนตร์ไทยไม่ค่อยมีเรื่องอาหาร อาจเพราะว่าอาหารเป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิต ซึ่งภาพยนตร์ส่วนมากเลือกนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ที่ผิดจากธรรมดา การกินอาหารแลดูธรรมดาเกินที่ตัวละครจะเดินไปสั่งก๋วยเตี๋ยว และถ่ายคนขายลวกเส้น ลวกลูกชิ้น เพราะเราทุกคนรู้ว่ากระบวนการนี้ทำอย่างไร หรือถ้ามีฉากทำอาหารปรากฎในภาพยนตร์ จะทำให้ผิดธรรมดาไปอย่างมาก เชื่อว่าคนทำภาพยนตร์คิดว่าคนดูจะคาดหวังอะไรแปลกมากกว่าเรื่องราวธรรมดา
“อาจจะมีคนเริ่มทำถึงมัน(อาหาร) แต่จะไม่ใช่ลักษณะที่เราคุ้นเคย ถ้าทำอาหารก็อาจเริ่มจากส้มตำที่วิจิตรบรรจง ต้องวิจิตรพิสดาร อาจมีโหมโรงภาคอาหาร วิธีสาดพริกต้องกระจายเลย คิดว่าต้องถูกทำให้ exotic ไม่ธรรมดา น้อยคนที่จะนำเสนออาหาร หรือวิถีของอาหารในแบบธรรมดา”
นางสาวชลิดา กล่าวว่า คนทำหนังเองก็ถูกวางให้เป็นบล็อค สมมติเด็กอายุ 20 กว่าปี ทำภาพยนตร์ขึ้นมาแล้วมีแต่ฟาสต์ฟู้ด ก็ไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะเขาโตมาแบบนี้ แบบที่พ่อแม่พาไปกินข้าวศูนย์อาหารในห้าง แล้วจะทำให้เขาตระหนักกับสิ่งที่เขาไม่เคยรู้ได้อย่างไร
“วิวัฒนาการรสชาติของอาหารและรสชาติของหนังคล้ายกัน ในช่วงเกิดโลกาภิวัฒน์มีโอกาสได้กินอาหารหลากหลายมากมายขึ้น โอกาสที่เราจะเข้าถึงรสดั้งเดิมกลับน้อยลง ก็เหมือนกับหนัง บางทีเทศกาลหนังเหมือนมีหนังเยอะ แต่ทุกคนกลับเริ่มปรับตัวว่าต้องหนังประมาณนี้ ถึงได้ฉาย หนังที่บ้านเกินไป จริงใจมาก ก็อาจไม่เข้าทาง เวลาฝรั่งมาเจอกบย่างคงไม่เข้าใจ รู้จักแต่ต้มยำกุ้ง เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงอาหารไทย จึงมีแต่ต้มยำกุ้ง” นางสาวชลิดา กล่าว
นายสุภาพ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีแต่ภาพยนตร์รสชาติส่วนกลางเท่านั้น ไม่มีภาพยนตร์รสชาติเชียงใหม่ สงขลา หรืออุบลราชธานี เพราะทุกจังหวัดสร้างภาพยนตร์รสชาติส่วนกลางทั้งหมดเลย ซึ่งก็คล้ายกับรสชาติอาหาร ก่อนหน้านี้มียุคหนึ่งที่ท้องถิ่นทำภาพยนตร์รสชาติของตัวเอง สอดคล้องกับพื้นที่ของตัวเอง
ที่มา: มติชนออนไลน์ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 08:00:00 น.